การตรวจเยี่ยมและดูแลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้เป็นหนึ่งใน “มาตรการป้องกันเหตุประทุษร้ายต่อทรัพย์ธนาคาร ร้านค้าทอง ร้านอัญมณี สถานีบริการน้ำมัน ร้านมินิมาร์ท” ของ สภ.พาน ซึ่งเป็นงานสำคัญอย่างหนึ่งในหน้าที่ของผมในฐานะที่ดำรงตำแหน่งสารวัตรป้องกันปราบปราม (สวป.) จะต้องปฏิบัติและทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อความผาสุกของพี่น้องประชาชน โดยการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้มีดังนี้ครับ
๑. แนวคิดในการปฏิบัติ
ยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่มีนโยบายที่จะเร่งรัดการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพื้นฐานที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน ทั้งอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินและชีวิตร่างกายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความหวาดระแวงภัยจากอาชญากรรมของพี่น้องให้เหลือน้อยที่สุด
๒. วัตถุประสงค์ในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้
๒.๑ เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมธนาคาร ร้านอัญมณี สถานีบริการน้ำมัน ร้านมินิมาร์ท
๒.๒ เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชนและพนักงานขายหรือผู้ประกอบการ
๓. เป้าหมาย : สถานประกอบการในเรื่องดังกล่าวทั้งหมดในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.พาน (๑๓ ตำบล ๑๙๕ หมู่บ้าน)
๔. แนวทางในการปฏิบัติ
๔.๑ สำรวจสถานที่และสถานประกอบการเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมดและเก็บและนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ เช่น สถานที่ตั้ง , จำนวนผู้ใช้บริการ , เวลาที่มีผู้มาใช้บริการทั้งจำนวนมากและน้อยที่สุดในแต่ละวัน เป็นต้น
๔.๒ เพิ่มความเข้มในการตรวจตราป้องกันโดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่สายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ออกตรวจตราและเพิ่มความเข้มรวมถึงความถี่ในการตรวจเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีผู้คนพลุกพล่านหรือเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อนออกปฏิบัติหน้าที่แต่ละผลัดนั้นได้มอบหมายภารกิจและแนวทางปฏิบัติไว้ด้วยทุกครั้ง
๔.๓ ขณะเจ้าหน้าที่ออกตรวจจะให้เพิ่มความสังเกตและตรวจค้นบุคคล/ยานพาหนะซึ่งมีลักษณะผิดปกติ เช่น ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน จอดนานผิดสังเกต พกพาอาวุธปืน หรือสวมใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ที่ผิดไปจากบุคคลทั่วไป
๔.๔ ติดตั้งจุดตรวจของสายตรวจหรือที่เรียกกันติดปากว่า “ตู้แดง” ไว้ตามสถานที่ที่น่าจะเสี่ยงต่อการถูกประทุษร้าย โดยในเขตเทศบาล สภ.พานได้ติดตั้งไว้จำนวนมากกว่า ๑๕ ตู้ครอบคลุมทุกจุดสำคัญ
๔.๕ ประชาสัมพันธ์และออกหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกอบการให้ทราบถึงวิธีการกระทำผิดของคนร้าย การป้องกันและการแจ้งเมื่อเกิดเหตุ สำหรับการปฏิบัติเรื่องนี้ได้เชิญเจ้าของ/ผู้ประกอบการเข้าประชุมเป็นระยะ รวมถึงจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องและสำคัญๆ ให้ทราบอยู่เสมอ ประการสำคัญก็คือใช้มาตรการประชาสัมพันธ์ทางวิทยุชุมชนในเขตพื้นที่ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง
๔.๖ ขอความร่วมมือให้มีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย เช่น สัญญาณเตือนภัย โทรทัศน์วงจรปิด
๔.๗ การวางระแบบการรับแจ้งเหตุให้สามารถแจ้งเหตุเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุได้ทันท่วงที โดย สภ.พานกับสถานประกอบการได้เชื่อมโยงการแจ้งเหตุทางโทรศัพท์อัตโนมัติและกริ่งสัญญาณรวมถึงการติดต่อสื่อสารสมัยใหม่ไว้แล้วและมีการทดสอบการปฏิบัติอย่างน้อย ๒ สัปดาห์ต่อครั้งอยู่เป็นประจำ
๔.๘ การตรวจสอบความพร้อมจุดรับแจ้งเหตุและเจ้าหน้าที่ สภ.พานโดยงานปกครองป้องกันได้กำหนดให้มีการซ้อมแผนเผชิญเหตุหรือสถานการณ์สมมุติกรณีมีเหตุร้ายเกิดขึ้นจากการประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือชีวิตและทรัพย์สินของสถานประกอบการเหล่านี้เป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้งเพื่อความพร้อมและคล่องตัวของเจ้าหน้าที่หากมีเหตุเกิดขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น