วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

รวมคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่น่าสนใจ : เฉพาะในส่วนที่ข้าราชการตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี (๒) (๑๕ กันยายน ๒๕๕๔)


วันนี้ผมรวบรวมคำพิพากษาและคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานตำรวจเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีมารายงานให้ทราบกันต่ออีกส่วนหนึ่ง โดยคำพิพากษาและคำสั่งที่รวบรวมนี้หากท่านใดคิดว่ามีประโยชน์และนำออกไปเผยแพร่ต่อก็จะเ้ป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ



* คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๒๘๒-๒๘๓/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีได้ซื้อรถยนต์มาจากผู้มีชื่อโดยได้จดแจ้งเปลี่ยนหมายเลขทะเบียนใหม่พลัน เมื่อผู้ฟ้องคดีได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือขอทราบผลการตรวจสอบและขอทราบสถานที่เก็บรักษารถยนต์แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็เพิกเฉยไม่ยอมแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๒ เจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถได้กล่าวหาผู้ฟ้องคดีต่อพนักงานสอบสวนว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พนักงานสอบสวนได้ส่งมอบรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีให้กับเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๓ ซึ่งมีหน้าที่ในการตีราคาประเมินอากรและเก็บรักษารถยนต์ของผู้ฟ้องคดีตามกฎหมาย ต่อมาพนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดี หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีและพนักงานสอบสวนได้ไปขอรับรถยนต์คืนจากเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๓ ผู้ฟ้องคดีและพนักงานสอบสวนได้ตรวจพบว่ามีอุปกรณ์สูญหายไป ๘ รายการ พนักงานสอบสวนจึงได้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๓ มีหน้าที่เก็บรักษารถยนต์ของผู้ฟ้องคดีตามกฎหมาย แต่กลับปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่จนเป็นเหตุให้อุปกรณ์รถยนต์ของผู้ฟ้องคดีสูญ หายอันเป็นการทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีรวมเป็นเงิน ๓๖๔,๐๙๕ บาท ผู้ฟ้องคดีได้ทวงถามแล้วแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๓ เพิกเฉยไม่ยอมชำระเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี นอกจากนี้รถยนต์ของผู้ฟ้องคดียังเกิดความเสียหายที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ เกียร์ ยางรถยนต์ และรอยขีดข่วนที่ตัวถังรถยนต์ จากสภาพความเสียหายเห็นได้ว่าเกิดจากการนำรถยนต์ไปใช้งานเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการดูแลรักษา ตามข้อเท็จจริงรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีได้อยู่ในความครอบครองดูแลของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเวลานานถึง ๖ เดือนก่อนที่จะส่งมอบให้พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดี

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๓๗/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจรแจ้งข้อหาว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดฐานดัดแปลงแผ่นป้ายทะเบียนของทางราชการและใช้ใบอนุญาตผิดประเภท โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ยึดใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ตลอดชีพของผู้ฟ้องคดีอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเนื่องจากมิได้แจ้งข้อกล่าวหาในขณะจับกุมจึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจรตามใบสั่งเลขที่ ๑๑ เล่มที่ ๒๘๕๐๓

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๔๓/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๑

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจไำด้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญโดยในวันดังกล่าวได้มีการชุมนุมของประชาชนทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านและฝ่ายต่อต้านถูกทำร้ายร่างกาย ต่อมาฝ่ายต่อต้านที่ถูกทำร้ายร่างกายได้ไปร้องทุกข์ต่้อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากคดีดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผู้ฟ้องคดีมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหน่วยงานต้นสังกัดที่ ผู้ฟ้องคดีสังกัดอยู่จึงมีคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๕๐/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๐

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อมูลโดยย่อ : นี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องว่าเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ฟ้องคดีที่ ๓ ถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจภูธรอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสาคร ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามถูกควบคุมตัวอยู่นั้นได้มีพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีมาทำการสอบสวนผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ซึ่งในชั้นสอบสวนผู้ฟ้องคดีทั้งสามก็ให้การรับสารภาพในความผิดดังกล่าว แต่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลแหลมฉบังไม่ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้พนักงานอัยการจังหวัดพัทยาเพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาล ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามถูกอายัดตัวไว้และถูกคุมขังที่เรือนจำกลางนครราชสีมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา ๕ ปี ๗ เดือน ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือสอบถามความคืบหน้าไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธตำบลแหลมฉบังและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลแหลมฉบังได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้พนักงานอัยการจังหวัดพัทยาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงได้มีหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานอัยการจังหวัดพัทยาเพื่อขอให้ดำเนินคดีไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่ก็ไม่ได้รับแจ้งว่าได้ส่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลยุติธรรมแล้วหรือไม่ ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่ได้รับสิทธิในการพระราชทานอภัยโทษและเสียสิทธิที่ควรได้รับจากทางเรือนจำ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๑๘/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๐

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ถูกฟ้อง (พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ) คดียื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งและคำขอให้ระงับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๘๓/๒๕๕๐ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน และให้พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ที่ปรึกษา (สบ ๑๐) เป็นผู้รักษาราชการแทน

*
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๐๑/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ข้อมูลโดยย่อ : เป็นกรณีที่นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งการให้ข้าราชการตำรวจไปช่วยราชการและกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมรวมถึงให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสอง

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๗๘/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีได้ถอยรถยนต์ไปเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของผู้อื่นแต่ไม่เกิดความเสียหาย และเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวก็มิได้เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้ผ่านมายังที่เกิดเหตุและสอบถามผู้ฟ้องคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้แจ้งข้อหาว่าผู้ฟ้องคดีขับรถในขณะเมาสุราพร้อมทั้งควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีไปยังสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน เพื่อทำการเป่าลมหายใจเข้าเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์แต่ผู้ฟ้องคดีปฏิเสธ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังบังคับเพื่อนำผู้ฟ้องคดีไปตรวจวัดปริมาณ แอลกอฮอล์โดยวิธีตรวจวัดจากเลือดที่โรงพยาบาลวิภาวดี แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ยินยอมให้ทำการตรวจเลือด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับแขนและขาของผู้ฟ้องคดีแล้วให้เจ้าหน้าที่พยาบาลทำการเจาะเลือดผู้ฟ้องคดี เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บบริเวณต้นแขน ต่อมาวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลวิภาวดีซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีถูกทำร้ายร่างกายจนเป็นแผลฟกช้ำบริเวณแขนทั้งสองข้าง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งอยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้บังคับบัญชามีเจตนาจงใจทำร้ายร่างกายเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้รับ อันตรายแก่กายและจิตใจ อีกทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ใช้กำลังบังคับเพื่อเจาะเลือดของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่จะกระทำได้และถือว่าเป็นการจงใจหน่วงเหนี่ยว กักขัง ทำให้ผู้ฟ้องคดีปราศจากเสรีภาพในร่างกาย นอกจากนี้การกระทำละเมิดดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถปฏิบัติงานได้เป็นเวลา ๒ เดือนโดยผู้ฟ้องคดีประกอบอาชีพตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดมีรายได้เดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาทผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีได้เคยยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต่อศาลแขวงพระนครเหนือแต่ศาลแขวงพระนครเหนือได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือจึงให้ยื่นฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๕๐,๘๙๐ บาทและให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๐

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองสารวัตรป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เริ่มรับราชการเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๗ และได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๐ ก่อนออกจากราชการผู้ฟ้องคดีได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กรณีเกี่ยวกับค่าตอบแทนหลังจากลาออกจากราชการ ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่าถ้ารับราชการเกิน ๑๐ ปี จะได้รับบำเหน็จ สำหรับบำนาญจะได้รับเมื่อมีอายุราชการครบ ๒๕ ปี ผู้ฟ้องคดีได้ลาออกจากราชการโดยได้รับอนุญาตให้ลาออกตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๘ เป็นต้นไป ทั้งนี้ตามคำสั่งสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพิษณุโลก ที่ ๒/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๘ ต่อมาประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ผู้ฟ้องคดีทราบว่ามีข้าราชการตำรวจบางคนลาออกจากราชการโดยมีอายุราชการไล่เลี่ยกับผู้ฟ้องคดีได้รับบำเหน็จยังชีพหรือบำเหน็จส่วนแรกและบำนาญรายเดือน ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีกลับได้รับบำเหน็จเท่านั้น จึงไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีได้ตรวจคำสั่งที่อนุญาตให้ข้าราชการดังกล่าวลาออกแล้วพบว่ามีข้อแตกต่างตรงมาตราที่อนุญาตให้ลาออกโดยในส่วนของผู้ฟ้องคดีไม่มีการนำพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ มาพิจารณาประกอบเหตุแห่งการลาออก ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับจึงนำคดีมาฟ้องศาล

* คำสั่้งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๕๔/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๙

เรื่
อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : นี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเดิมผู้ฟ้องคดีรับราชการตำรวจตำแหน่งผู้บังคับหมู่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบุ่งคล้า จังหวัดหนองคาย ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อสอบสวนทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีความเห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการใด ๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๗๙(๕) และ (๖) จึงมีมติให้ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ามิได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากผู้ฟ้องคดียังมิใช่ข้าราชการตำรวจผู้กระทำผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ แต่ผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยเท่านั้น จึงต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ คือ เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำความผิดจะต้อง สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีความผิดและจะปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีเสมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสืออุทธรณ์คำสั่งต่อประธานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ โดยให้ทนายความยื่นแทนเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๘ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๘ ชี้แจงต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และประธานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ว่าผู้ฟ้องคดีถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบึงกาฬตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดบึง กาฬ ผู้ฟ้องคดีได้เปลี่ยนทนายความและลงชื่อในหนังสืออุทธรณ์คำสั่งลงโทษในวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ แต่ปรากฏว่าในระหว่างวันที่ ๒ ถึงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๘ ได้เกิดพายุฝนตกหนักในเขตพื้นที่อำเภอบึงกาฬและจังหวัดหนองคาย ทำให้น้ำท่วมถนนสายที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร ทนายความของผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์ล่าช้าไปหนึ่งวันจึงขอให้รับอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกจากราชการของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีมติไม่รับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาเนื่องจากยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้น กำหนดเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๐๕ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ประกอบกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการหรือระงับการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าคดีอาญาที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๔๒/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๙

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าในขณะที่ผู้ฟ้องคดียังรับราชการอยู่มีกรณีกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ต่อมาเมื่อผู้ฟ้องคดีพ้นจากราชการเพราะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ก่อนที่การดำเนินการทางวินัยจะถึงที่สุดผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเรื่องขอรับเงินบำนาญโดยทำหนังสือสัญญาการใช้เงินคืนและหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้กับทางราชการ โดยสัญญาใช้เงินคืนดังกล่าวมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่าถ้าปรากฏในภายหลังว่าผู้ฟ้องคดีได้รับเงินบำนาญไปโดยไม่มีสิทธิผู้ฟ้องคดียินยอมคืนเงินดังกล่าวให้แก่ทางราชการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากทางราชการ ต่อมาผลการดำเนินการทางวินัยถึงที่สุดปรากฏว่าได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๖ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อให้พิจารณางดจ่ายเงินบำนาญและเรียก เงินบำนาญที่ได้เบิกจ่ายไปแล้วคืนจากผู้ฟ้องคดีและกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตรเพื่อให้เรียกเงินบำบาญของผู้ฟ้องคดีที่รับเกินสิทธิส่งคืนคลัง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตรจึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีนำเงินบำนาญที่รับไปโดยไม่มีสิทธิจำนวน ๖๖๒,๕๖๘ บาทส่งคืนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของกรมบัญชีกลางในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ดำเนินการลัดขั้นตอนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงการคลังตามหนังสือ ด่วนมากที่ กค ๐๕๒๖.๕/ว ๔ ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๒ เรื่อง การรับบำเหน็จบำนาญของข้าราชการซึ่งมีกรณีหรือต้องหาว่ากระทำผิดวินัยแล้วลาออกจากราชการโดยกรณียังไม่ถึงที่สุดและเจ้าหน้าที่ดังกล่าวงดเว้นไม่รายงานข้อเท็จจริงให้อธิบดีกรมบัญชีกลางทราบว่ามีการฟ้องคดีในเรื่องดังกล่าวและอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองพิษณุโลก เป็นเหตุให้อธิบดีกรมบัญชีกลางเข้าใจว่าผู้ฟ้องคดีขัดขืนไม่ยอมคืนเงินบำนาญตามสัญญาจึงได้มีหนังสือทวงถามเงินดังกล่าวจากผู้ฟ้องคดีตลอดมา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย

* คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๑๓/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๙

เรื่อง : คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ข้อมูลโดยย่อ : นี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้สถานีตำรวจทางหลวง ๓ (หาดใหญ่) ตั้งด่านตรวจจับผู้กระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจทางหลวงดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของงานจราจรสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ และเมื่อเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ นาฬิกาของวันดังกล่าวผู้ฟ้องคดีได้ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่ได้สวมหมวกนิรภัยเนื่องจากบุตรสาวของผู้ฟ้องคดีซึ่งนั่งอยู่ด้านหน้าได้นำไปสวมมาถึงบริเวณดังกล่าวพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงจำนวน ๕ นาย ตั้งด่านตรวจจับผู้กระทำ ผิดกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกอยู่ที่บริเวณนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้เรียกให้ผู้ฟ้องคดีหยุดรถและแจ้งข้อกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัยอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้วเขียนใบสั่งให้ผู้ฟ้องคดีไปเสียค่าปรับโดยไม่รับฟังเหตุผลตามที่ผู้ฟ้อง คดีชี้แจงว่าผู้ฟ้องคดีมีหมวกนิรภัยเพียงหนึ่งใบ เมื่อบุตรสาวของผู้ฟ้องคดีนำไปสวมผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีหมวกนิรภัยสวม ผู้ฟ้องคดีได้กลับไปบ้านแล้วนำกล้องถ่ายรูปมาบันทึกภาพบริเวณดังกล่าวที่ตำรวจทางหลวง ประกอบด้วยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ กับพวกตั้งด่าน และได้บันทึกภาพขณะที่ตำรวจทางหลวงดังกล่าวกำลังจับผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกจึงถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ทำร้ายตามร่างกายมีบาดแผลฟกช้ำและขู่บังคับให้ผู้ฟ้องคดีลบภาพที่บันทึกไว้ ผู้ฟ้องคดีเกรงกลัวจะได้รับอันตรายจึงได้ยอมลบภาพถ่ายบางส่วน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงยอมปล่อยตัวผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีจึงชำระเงินค่าปรับ จำนวน ๒๐๐ บาท โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นพนักงานสอบสวนผู้เปรียบเทียบปรับ หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีจึงได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่และได้มายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจับและเปรียบเทียบปรับผู้ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจทางหลวง ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนเงินค่าปรับจำนวน ๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่ผู้ฟ้องคดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น