การทำงานด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะช่วยชีวิตของคนไทยไม่ให้ตายกลางถนนของ พล.ต.ต.ชัยณรงค์ วงษ์สุนทร รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๖ ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพตำรวจจราจรเพื่อให้ตำรวจจราจรในสังกัดมีสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นในด้านการสืบสวนวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมทั้งนำข้อมูลไปใช้ในการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนนให้ตรงจุดตรง สาเหตุเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ
ถึงแม้ว่า "นาย" จะเหลืออายุราชการเพียง ๕ เดือนหรืออาจเรียกได้ว่าไม่มีอำนาจวาสนาจะให้พระเดชพระคุณกับใครได้อย่างเต็มที่ หากแต่เหล่าบรรดานายตำรวจที่เข้าร่วมสัมมนาในวันนั้นก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงวินัยที่เข้มแข็งของตำรวจภูธรภาค ๖ได้อย่างชัดเจน...นับแต่นี้ไปตำรวจจราจรจะไม่ทำหน้าที่เพียงโบกรถและจับ ...จับ...และจับเท่านั้น
นายตำรวจนั่งเต็มห้องประชุมขนาดใหญ่โดยมีหัวหน้าสถานีนั่งนำในแถวหน้าตั้งอกตั้งใจฟังทีมวิทยากรซึ่งนำโดย พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ในฐานะหัวหน้าทีมกำกับและติดตามการทำงานโครงการพัฒนาระบบสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนฯ ระยะที่ ๒ เริ่มต้นสร้างบรรยากาศชวนน้องทำบุญหวังช่วยชีวิตคนไทยไม่ให้ตายกลางถนนผ่าน ยุทธศาสตร์การทำงานตามแก่นพระพุทธศาสนาคืออริยสัจ ๔...ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
“อุบัติเหตุทางถนนคือทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าก่อนที่จะดับทุกข์ได้ต้องเข้าใจเหตุแห่งทุกข์ก่อน...” นายตำรวจใหญ่โน้มน้าวสร้างแรงบันดาลใจน้องๆ ตำรวจ หากแต่มิใช่เป็นการชวนให้ทุกคนร่วมทำบุญเท่านั้น แต่ปิดท้ายด้วยการขู่ดักทางตำรวจบางคนที่อาจจะยังไม่อยากทำบุญด้วยท่าทีและน้ำเสียงจริงจังว่า “มันเป็นการทำบุญโดยหน้าที่ เราเป็นตำรวจเรามีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข ถ้าเราไม่ทำมันก็เท่ากับเราทำบาป หากเรายังปล่อยให้คนไทยต้องตายกลางถนนปีละ ๑.๒ หมื่นศพ ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่ง เราทำได้เราทำเลย”
นอกเหนือจากภาพความตั้งใจของเหล่าบรรดาหัวหน้าสถานีตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๖ และตำรวจทุกนายที่เข้าร่วมประชุมทั้งภาคเช้าและภาคบ่ายจะสร้างความประทับใจอย่างมากแล้วนั้น มีแต่สิ่งที่น่าประทับใจมากกว่านั่นคือคำพูดของ พล.ต.ต.ชัยณรงค์ ที่ว่า
“ผมตัดสินใจแล้ว เมื่อผมเกษียณอายุราชการแล้วผมจะช่วยงานด้านอุบัติเหตุอย่างเต็มตัว จริงจัง มีอะไรให้ช่วยบอกได้เลย ผมว่ามันเป็นงานที่เรามาร่วมกันทำบุญ”
ภายหลังจากที่นั่งฟังการบรรยายของวิทยากรบริเวณด้านหน้าของห้องประชุมไม่แตกต่างจาก พล.ต.ต.ชัชวาลย์ สุคนธมาน รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๕ ที่ทุ่มเทชักชวนน้องๆ ผู้ใต้บังคับบัญชาร่วมใจกันทำบุญในหน้าที่จนมีผลงานประจักษ์ชัดเจนในการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่เริ่มต้นด้วยการสืบสวนวิเคราะห์สาเหตุพร้อมชวนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทำงานเมื่อคราวดำเนินโครงการการพัฒนาระบบงานสืบสวนอุบัติเหตุฯ ระยะที่ ๒
“ตำรวจไทยเก่งที่สุดในโลก และตำรวจไทยก็เก่งที่จะไม่แสดงความเก่งออกมา” ดิฉันในฐานะวิทยากรร่วมเริ่มเกริ่นนำความรู้สึกจากประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการทำการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมการทำงานในโลกของตำรวจ
การแสดงความเก่งออกมาให้ปรากฏต่อสาธารณชนและนายมิได้หมายความว่าจะทำให้ตำรวจผู้นั้นได้ดิบได้ดีเสมอไป อาจมีบ้างที่ได้ดีเพราะความเก่ง แต่ตำรวจเหล่านั้นจำเป็นต้องมีความเฮงและมีผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการหรือที่นิยมเรียกกันว่ามีตั๋วที่แข็งปั๋งและยั่งยืนพอสมควรรวมถึงต้องมีตังค์ด้วย หากมิเช่นนั้นแล้วการแสดงความเก่งออกมาอาจจะทำให้เกิดผลย้อนกลับเชิงลบได้มากกว่าการเกิดผลกระทบเชิงบวก ดังตัวอย่างคำบอกเล่าที่มาของเหตุผลการซุกความเก่งของตำรวจไทย
“นายเขาไม่ชอบให้อวดเก่งเหนือเขา ขืนไปทำอวดเก่งโดนนายหมั่นไส้ทีนี้งานเข้า อยู่เฉยๆ ดีแล้ว”
“เก่งมากก็ต้องทำมาก แต่ตำรวจทุกคนเขาก็รู้ว่างานและความก้าวหน้ามันคนละเรื่องกันในโลกของตำรวจ”
“องค์กรตำรวจมีแต่คนเก่ง และคนเก่งมักไม่อยากเห็นใครแสดงความเก่งเหนือตน องค์กรตำรวจจึงเต็มไปด้วยโครงการใหม่ๆ จำนวนมาก" เริ่มต้นจากผู้ที่อาจหาญสมัครเข้าชิงตำแหน่งนักเรียนนายร้อยหรือนักเรียนพลตำรวจเนื่องจากมีผลการเรียนระดับหัวกะทิ ผ่านการฝึกฝนอบรมจากเบ้าหลอมเพื่อสร้างผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ออกมารับใช้ดูแลความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อระบบคุณธรรมในการทำงานถูกแทรกแซงทำให้ตำรวจจำนวนมากกลับกลายเป็นผู้ที่หวั่นไหว รู้สึกไม่มั่นคง ท้อแท้ ท้อถอยในการทำงาน การตอบคำถามที่ว่าทำไมนายจึงไม่ใช่ผู้ที่สามารถให้พระเดชพระคุณความดีความชอบที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ได้? คือสาเหตุแห่งทุกข์ของตำรวจที่ต้องการการแก้ไขที่ตรงจุดตรงเป้าหมายเช่นกัน!
ที่มา : http://bit.ly/L6OV8L
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น