วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ตำรวจวอนขอ...อย่าผลักไสไปอยู่ฝ่ายโจร : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๘ มิถุนายน ๒๕๕๖)

ตำรวจวอนขอ...อย่าผลักไสไปอยู่ฝ่ายโจร


บอบช้ำมากเลยนะ...ผมอาย พรุ่งนี้ผมจะแต่งนอกเครื่องแบบไปทำงานผู้กำกับสถานีตำรวจบอกดิฉันเมื่อเราถกเถียงถึงปรากฏการณ์คลิปฉาวที่ทำลายภาพลักษณ์ของตำรวจไทย ทั้งๆ ที่ในห้วงเวลาที่ผ่านมาเพียงสองสัปดาห์ตำรวจไทยทั้งประเทศต้องทำงานอย่างหนักเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและป้องกันอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในขณะที่ประชาชนหยุดพักผ่อนเป็นระยะเวลาหลายวันติดต่อกัน

ความเสียสละ ความทุ่มเทและความตั้งใจในการทำงานของตำรวจจำนวนมากมิได้ถูกนำมาเผยแพร่เพื่อยกย่องสรรเสริญ อาจเนื่องมาจากมีความเห็นว่า การสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหน้าที่ของตำรวจ...

นอกเหนือจากการทำงานเพื่อให้บรรลุภารกิจที่เป็นเป้าหมายปกติแล้วนั้น ตำรวจผู้ปฏิบัติงานในสถานีตำรวจต่างๆ ยังต้องปฏิบัติภารกิจพิเศษต่างๆ มากมายในรูปของโครงการต่างๆ ที่ผู้บังคับบัญชาหน่วยเหนือระดับต่างๆ คิดขึ้นมาด้วย หวังว่าจะทำให้ตำรวจไทยเป็นที่รักของประชาชน...หวังให้ประชาชนพึงพอใจในการปฏิบัติงานของตำรวจ ตามกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติราชการที่ถูกกำหนดขึ้น

การปฏิบัติงานตามหน้าที่เพื่อให้ผู้ที่รับบริการรักมีความยากง่ายแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น หากเปรียบเทียบระหว่าง ครู หมอ และตำรวจ แล้วนั้น ความเป็นครูและหมอน่าจะสามารถทำให้ประชาชนผู้รับบริการเกิดความรู้สึกพึงพอใจได้ง่ายกว่าตำรวจเพราะวิถีแห่งการให้บริการเป็นเรื่องของการช่วยเหลือในรูปแบบของการให้คุณเป็นส่วนใหญ แต่กระนั้นก็ยังพบว่าครูและหมอก็ยังกระทำในสิ่งที่ละเมิดคุณธรรม จริยธรรมอยู่ไม่น้อย?

สำหรับงานตำรวจที่มุ่งเน้นในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายนั้นส่งผลให้วิถีของการทำงานมีลักษณะของการให้โทษแก่ผู้ที่กระทำผิดตามที่กฎหมายกำหนด...ถึงแม้รู้อยู่เต็มอกว่าทำผิดก็ไม่พึงพอใจที่ถูกจับ ดังตัวอย่างของคำพูดที่แสดงความไม่พอใจของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเมื่อถูกจับกรณีไม่สวมหมวกนิรภัยว่า หัวก็หัวกู ตายก็ตายกู ทำไมต้องมายุ่งกับกู มันจะเอาส่วนแบ่งค่าปรับน่ะสิดังนั้น จึงไม่เป็นการกล่าวอ้างเกินความจริงนัก หากจะกล่าวว่า การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี หรือการทำให้ประชาชนรักของตำรวจจึงมีความยากลำบากมากกว่า วิชาชีพอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ อุดมคติของตำรวจที่ว่า..."อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก ไม่มักมากในลาภผล...จึงเป็นสิ่งที่ตำรวจทุกนายจำเป็นต้องยึดถือเป็นสรณะในการทำงาน ทั้งนี้มิใช่เพื่อผู้อื่น หากแต่เพื่อให้ตำรวจเองมีขวัญและกำลังใจที่ดี มีความเข้มแข็งและมุ่งมั่นในการทำงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพที่ดี

การตำหนิเพ่งโทษพฤติกรรมที่น่าละอายของตำรวจที่ปรากฏอยู่ตามสื่อมวลชนในขณะนี้ในลักษณะของการโยนความผิดไว้ที่ระดับพฤติกรรมส่วนบุคคล อาจมิใช่ทางออกที่จะนำไปสู่การแก้ไขและป้องกันเพื่อขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงคุณธรรม จริยธรรมของกำลังพลตำรวจ ในเมื่อผู้บังคับบัญชาและสังคมทั่วไปย่อมรู้กันเป็นอย่างดีว่า บุคคลที่จะก้าวเข้ามาสู่โลกของตำรวจนั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความฉลาดเฉลียวในระดับแนวหน้า เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาและก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานที่ต้องคลุกคลีอยู่กับการกระทำผิดและระบบการบริหารจัดการที่ขัดสน รวมถึงวัฒนธรรมการทำงานที่บิดเบี้ยว ไปตามภาวะที่ขัดสนของทรัพยากรการบริหารจัดการนั้น บริบทดังกล่าวมีสถานะเป็น เบ้าหลอมที่เปลี่ยนร่างและจิตวิญญาณของผู้ที่จะเป็นตำรวจเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ให้ถูกประทับตราจากชาวบ้าน จากสังคมอย่างที่ถูกเรียกขานในคลิปว่า... "ตำรวจโจร" หากพิจารณาเช่นนี้ จะเห็นว่าบริบทของการบริหารจัดการ ลักษณะธรรมชาติของงาน และวัฒนธรรมในการทำงานท่ามกลางความขัดสนขาดแคลนต่างหากที่เป็นสิ่งที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเป็นต้องนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อขอรับการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อให้ผู้นำหน่วยระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าสถานีตำรวจได้มีทุนที่เหมาะสมในการสร้างเบ้าหลอมการทำงานที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมในการทำงานของตำรวจ ก่อนที่จะใช้วิธีการลงโทษอย่างเด็ดขาดกับตำรวจที่ทำตัวไม่เป็นไปตามแม่พิมพ์ที่กำหนด(ทำตัวนอกรีต)

การปล่อยให้ตำรวจผู้ปฏิบัติงานสร้างวัฒนธรรมในการทำงานที่บิดเบี้ยวเพื่อแลกกับผลงานและส่งผลต่อภาพลักษณ์ตำรวจ เช่น เลี้ยงโจรไว้จับโจร ข่มขู่ รีดไถผู้กระทำผิดเพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ นั้นอาจสามารถใช้ได้ในอดีต เนื่องจากสังคมยังไม่มีการตรวจสอบมากนัก

แต่ในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำทันสมัยนั้น การตรวจสอบมีความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร เป็นผู้ค้าหรือเสพยาเสพติด ฯลฯตำรวจก็ไม่ควรที่จะไปกระทำการต่างๆ ต่อพวกเขาเหล่านั้นในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมายเช่นเดียวกัน...การดัดหลังตำรวจที่กระทำการเช่นนั้นผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นกลไกที่ทรงอานุภาพในการควบคุมพฤติกรรมเบี่ยงเบนของตำรวจมากขึ้น

หมอ...ยังขอความเป็นธรรมต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากคนไข้ฟ้องร้อง และปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการทั้งองคาพยพ

แล้วทำไม...รัฐบาลจึงไม่ส่งเสริมสนับสนุนเบ้าหลอมคุณธรรมในการทำงานของตำรวจ ซึ่งหมายถึงความเข้มแข็งของระบบการบริหารจัดการเพื่อให้ตำรวจคือตำรวจ โดยไม่ต้องมีคำว่า โจรต่อท้าย !?!

จะปล่อยให้ตำรวจรู้สึกดังคำพูด เช่นนี้อีกนานเท่าไหร่ ?

การเป็นตำรวจที่ดีนั้น ต้องทนกับความเจ็บปวดที่จะถาโถมเข้ามา และทุกคนที่มาเป็นตำรวจล้วนหล่อหลอมมาดีแล้ว หากแต่เป็นเพราะระบบ...ผลักดันให้เป็นคนเลว และปัญหาตำรวจ...เป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วนอันดับแรกๆ แต่...สุดท้ายก็...หรือ

วันหน้าผมเป็นใหญ่ ผมรู้แล้วว่าต้องทำอย่างไรกับวัฒนธรรมองค์กร แต่รัฐบาลและประชาชนก็ต้องช่วยตำรวจด้วย อย่าผลักไสเราไปอยู่ฝ่ายโจรหรือ เปรียบเหมือนเลี้ยงสุนัขป่าไว้เฝ้าฝูงแกะ โดยปล่อยให้อดๆ อยากๆ สุนัข...ก็ต้องเลี้ยงชีวิตตัวเองโดยการกินแกะที่อ่อนแอนั่นเองเป็นต้น

การให้รางวัลแก่ตำรวจทำดี ตามโครงการตำรวจสีขาว ดาวคุณธรรม เป็นสิ่งที่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง? โปรดพิจารณา !!

ที่มา : http://goo.gl/siS6Z

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น