วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

ตำรวจทำงานเพื่อใคร? : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๑ กันยายน ๒๕๕๖)

การปะทะกันระหว่างตำรวจและชาวสวนยางพารานั้น ใครทำร้ายใครก่อนไม่ใช่ประเด็นที่ควรต้องนำมาใช้เป็นสิ่งแสดงเหตุผลของการขอความเห็นใจ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมิได้เป็นคู่ขัดแย้ง มิใช่เป็นคู่ปัญหาข้อพิพาทใดๆ สะท้อนให้เห็นอะไร?

ประชาชนในฐานะผู้ชุมนุมมักมีความคิดว่ากลุ่มตนได้รับความไม่เป็นธรรมและได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารงานของรัฐบาล จึงต้องการพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกและการกระทำเพื่อให้ผู้บริหารบ้านเมืองให้ความใส่ใจในปัญหาของกลุ่มตน ปัญหาที่ผู้เรียกร้องรับรู้ว่าเป็นความเดือดร้อน เป็นเรื่องใหญ่ เป็นความทุกข์

มุมมองที่เกิดขึ้นจากสถานะและการยืนอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกันย่อมส่งผลต่อการตีความหมายในปรากฏการณ์เดียวกันแตกต่างกันไป...เรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญของคนกลุ่มหนึ่งอาจถูกให้ความหมายว่าไม่สำคัญหรือสำคัญน้อยกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะพบว่าคนเรามักมองจากมุมของตนเองเสมอและหากไม่ทำความเข้าใจกลุ่มอื่นโดยเอาตัวเราไปยืนอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ในสถานะเช่นเดียวกับเขาก็มักเผลอลืมและใช้อคติในการให้ความหมายการกระทำของคนต่างกลุ่มจนทำเกิดการแบ่งพวกเขา-พวกเรา กลุ่มเขา-กลุ่มเรา ฝ่ายเขา-ฝ่ายเรา เป็นคู่ตรงข้าม

สถานการณ์ของคู่ตรงข้ามเช่นนี้ มิควรที่จะเกิดขึ้นกับตำรวจไทย...ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กับประชาชนตำรวจไม่ควรจะต้องตกอยู่ในสถานะของความเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนไม่ว่าจะกลุ่มใดทั้งสิ้น หากพิจารณาถึงวิถีการทำงานของตำรวจตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่า แม้แต่โจรผู้ร้ายหากเมื่อถูกตำรวจจับได้ก็ไม่ได้เกิดความรู้สึกโกรธขึงขุ่นเคืองหรืออาฆาตแค้นแต่ประการใด ขอเพียงให้การจับกุมนั้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่เคยมีปรากฏการณ์ที่ผู้กระทำผิดพ้นโทษออกมาแล้วจะมาทำร้ายตำรวจ

แต่มิได้หมายความว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น ตำรวจจะเป็นกลุ่มบุคคลอันเป็นที่รักของประชาชนเพราะประสบการณ์และบริบทวิถีการทำงานของตำรวจ ซึ่งมีทั้งตำรวจที่ปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่น และตำรวจที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่สมกับการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ประกอบกับระบบการบริหารจัดการของกรมตำรวจในอดีตหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบันนั้น ได้รับการแทรกแซงจากภายนอกองค์การสูงมาก จนทำให้การบริหารงานโดยใช้หลักคุณธรรมในการทำงานเป็นไปได้อย่างยากยิ่งจนตำรวจที่ทำดีไม่ได้ดี แต่ตำรวจที่วิ่งเต้นใช้ทั้งตั๋วและตังค์กลับได้ดีนั้น ส่งผลต่อความประพฤติในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อทัศนคติของประชาชนและภาพลักษณ์เชิงลบที่ประชาชนมีต่อตำรวจ

หมานายเป็นตัวอย่างหนึ่งของคำเรียกที่คนใต้มีต่อบุคคลที่ทำงานร่วมกับตำรวจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่มีต่อตำรวจ รวมถึงข้าราชการฝ่ายปกครองต่างๆ ในอดีตได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากการมีค่านิยมส่งลูกหลานไปศึกษาต่อด้านกฎหมายเพื่อมิให้ถูกเอาเปรียบข่มเหงรังแกหรือได้รับความไม่เป็นธรรมเมื่อเกิดความขัดแย้งจนเป็นคดีความ

งานชุมชนสัมพันธ์เกิดขึ้นในระบบการทำงานของตำรวจตั้งแต่ยุคกรมตำรวจ โดยมีที่มาจากปัญหาการเสื่อมความนิยมลงของมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมักมีความขัดแย้งกับความต้องการของชุมชน อันเนื่องมาจากชุมชนเกิดความคลางแคลงใจสงสัยประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานของตำรวจ ส่งผลให้การปฏิบัติงานของตำรวจไม่มีประสิทธิภาพ เพราะการปฏิบัติงานบางประการย่อมต้องการความร่วมมือจากชุมชนโดยรอบ หากบรรยากาศของความขัดแย้งคุกรุ่น ชุมชนอาจไม่ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรืออาจต่อต้านการทำงานก็เป็นได้ สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าพึงปรารถนาทั้งต่อองค์กรตำรวจและชุมชน

เมื่อเวลาผ่านไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการปรับปรุงพัฒนางานชุมชนสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามลำดับ ด้วยพิจารณาตระหนักดีว่า งานของตำรวจจะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพหากไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ หรือโครงการตำรวจร่วมมวลชนลดอาชญากรรมของ พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ นายตำรวจใหญ่ผู้มากด้วยประสบการณ์และมีวิสัยทัศน์ที่ชาญฉลาดในการพิจารณาเห็นแล้วว่า ตำรวจจะต้องเดินและทำงานอยู่เคียงข้างและใกล้ชิดประชาชนโดยมีความสัมพันธ์แนวราบเชิงเครือข่ายเท่านั้น จึงจะทำให้ชุมชนและสังคมเกิดความผาสุก ยังไม่นับรวมกับคำขวัญซึ่งถือเป็นนโยบายที่สำคัญของ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ให้ตำรวจไทยถือเป็นนโยบายทั่วกันว่า "บริการดุจญาติ พิทักษ์ราษฎร์ดุจครอบครัว

หากครอบครัวของตำรวจคือกลุ่มคนในผู้ชุมนุม (ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว) ตำรวจจะทำอย่างไร? ความลำบากใจของตำรวจที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมมวลชนให้ปฏิบัติการใดๆ ภายใต้กฎหมายอย่างสงบและไม่สร้างความเดือดร้อนแก่สังคมนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายเลยภายใต้บรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ข้อสั่งการของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ว่า "ขอให้ตำรวจทุกท่านใช้ความอดทน อดกลั้นให้มากที่สุดน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับตำรวจไทยอดทน อดกลั้นจนกว่าประชาชนจะเห็นใจ จนกว่าผู้บริหารประเทศจะเข้าใจ จนกว่านายจะศรัทธาว่า เพราะความอดทนอดกลั้นของเหล่าตำรวจไพร่พลเหล่านี้แหละที่ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงมีตำรวจมืออาชีพ (จริงๆ) ที่ปฏิบัติอย่างยากลำบากเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน มิใช่อดทน อดกลั้นเพียงเพื่อได้รับคำชมจากรัฐบาลว่าสามารถควบคุมการชุมนุมได้ดีแต่เพียงเท่านั้น?

ที่มา : http://goo.gl/IU1Pai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น