วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

เกลือเป็นหนอนในโลกของตำรวจ : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๒๒ กันยายน ๒๕๕๖)

 “แม่บอกว่าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมาหรอก ไม่ต้องเป็นห่วงนายตำรวจใหญ่เล่าถึงคำพูดของแม่ในยามที่ลูกชาย "แวะไปหาภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจปราบผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด

"แต่ก่อนนี้บ่นว่าถ้ารู้ว่าเป็นตำรวจแล้วจะไม่กลับบ้านกลับช่องตั้งแต่หนุ่มยันแก่อย่างนี้ก็จะไม่สนับสนุนให้เป็นตั้งแต่แรก ทีตอนนี้แวะกลับไปยังไม่ทันกินน้ำหมดแก้วเลยไล่กลับแล้ว" เสียงหัวเราของนายตำรวจผู้เป็นลูกที่พูดถึงอาการของผู้เป็นแม่ในเชิงเย้าแหย่ถึงความกลัวเกรงว่านายตำรวจผู้เป็นลูกจะได้รับอันตรายจากการทำหน้าที่ในครั้งนี้จนถึงกับ "ยอม" ไม่ให้ลูกมาเยี่ยมถึงแม้ว่าจะเคยเรียกร้องตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วยความอดทนและรอคอยว่า "เมื่อไหร่ลูกชายจะกลับบ้าน

คำว่า "ผู้มีอิทธิพลหมายถึงบุคคลที่สามารถชักนำด้วยคำพูดหรือกำลังขู่เข็ญ บังคับผู้อื่นให้กระทำหรืองดกระทำตามที่ตนต้องการ ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะมีการซ่องสุมผู้คนในกลุ่มต่างๆ ไว้เพื่อเสริมอำนาจในการกระทำการที่ต้องการในรูปแบบต่างๆ เช่น กระทำการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การฮั้วประมูล การเรียกรับผลประโยชน์ ลักลอบขนสินค้าหนีภาษี จัดให้มีบ่อนการพนัน ค้ามนุษย์ และอื่นๆ อีกมากมาย

การกระทำดังกล่าวของผู้มีอิทธิพลนั้นจะไม่มีทางสำเร็จหากไม่มีตำรวจเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ

ตำรวจมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อทำให้สังคมสงบสุข อำนาจที่สำคัญของตำรวจอยู่ที่ความสามารถในการใช้กฎหมายเพื่อบังคับการกระทำของบุคคลที่กระทำการผิดกฎหมาย แต่ถ้าตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือรุนแรงจนกระทั่งก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมายของผู้มีอิทธิพลจะสร้างความเสียหายที่รุนแรง(อะไรคือสิ่งจูงใจให้ตำรวจทำเช่นนั้น?) ดังนั้นนอกเหนือจากการที่ผู้นำตำรวจจะมุ่งให้ความสำคัญกับ "การปราบปรามผู้มีอิทธิพลซึ่งนับรวมเหล่าบรรดาตำรวจที่เข้าไปมีส่วนร่วมกระทำการด้วยแล้วนั้น ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันมิให้ตำรวจสีขาวเดินเข้าสู่เส้นทางสีดำด้วยการกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนผู้มีอิทธิพล ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ยากแต่หากมีความมุ่งมั่นจริงจังก็น่าจะง่ายกว่าการพยายามทำให้ตำรวจสีดำกลายเป็นสีขาวเพราะดูแล้วน่าจะมีโอกาสแห่งความสำเร็จน้อยมาก เนื่องจากความเย้ายวนของอำนาจและผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเลือกเส้นทางสายนี้

วิธีการป้องกันมิให้ตำรวจเดินเข้าสู่กับดักแห่งอำนาจและผลประโยชน์ที่มิชอบก็คือการสร้างความเข้มแข็งในการบริหารงานบุคคลทั้งระบบตั้งแต่ต้นธารของการมาเป็นตำรวจและต่อเนื่องตลอดกระบวนการจนกระทั่งพ้นจากภาวะของการเป็นตำรวจไปด้วยกระบวนการสรรหา คัดเลือก บรรจุ แต่งตั้ง ฝึกอบรม-พัฒนา และประเมินผลเพื่อส่งเสริมให้คนดีได้เจริญก้าวหน้า บริหารพัฒนาองค์กรต่อไป รวมถึงทำโทษ ควบคุมคนไม่ดีให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือผลักดันออกจากองค์กรเพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อนได้ในที่สุด ทั้งนี้ กระบวนการบริหารงานบุคคลในโลกของตำรวจจะต้องเป็นกระบวนการที่สามารถสร้างความมั่นใจ เชื่อถือ ศรัทธาให้แก่ประชาคมตำรวจว่า เมื่อทำดีต้องได้ดีจากการทำงานและเมื่อทำชั่วจะไม่มีสิทธิได้ดีให้จงได้

การที่ตำรวจจำนวนไม่น้อยได้เดินหลงทางเข้าไปสู่เส้นทางสายผู้มีอิทธิพล(เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ)? มีสถานะเกลือเป็นหนอนนั้นได้กลายเป็นปัญหาอุปสรรคที่สำคัญในการทำงานปราบปรามผู้มีอิทธิพล นอกเหนือจากการสร้างบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจกันในหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิดแล้วนั้น การกระทำของตำรวจ(ที่ทำตัวเป็น)หนอนทั้งหลายยังได้สร้างความเสี่ยงและอันตรายถึงชีวิตแก่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างมุ่งมั่นอีกด้วย

ประเด็นที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่ตำรวจคือ...หนอนเหล่านั้นมักได้ดีและเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีสถานะกลายมาเป็นนายของตำรวจที่ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในที่สุด หากเปรียบองค์กรตำรวจเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีหนอนเจาะไชและเพิ่มจำนวนทวีคูณเนื่องจากได้รับการเลี้ยงดูที่ดี...ต้นไม้ใหญ่นี้จะตั้งต้นตระหง่านแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาอยู่ได้นานเพียงไร?

แอบคิดในใจว่า แม่ของนายตำรวจใหญ่ท่านนี้ยังโชคดีกว่าแม่ของตำรวจอีกหลายๆ คนที่ลูกชายจากไปโดยไม่กลับมาอีกเลยในขณะปฏิบัติหน้าที่อย่างสมเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์...ถึงแม้ว่าจะมีผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่พอใจ ไม่ชื่นชอบ หรือรุนแรงจนถึงขั้นเกลียดตำรวจ!! แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมคือ มีตำรวจจำนวนไม่น้อยที่มีความเพียรพยายามทุ่มเททำงานตามหน้าที่ของตำรวจที่ดี ถึงแม้จะต้องใช้ความอดทน อดกลั้นในการทำงานมากเพียงใดก็ตาม นั่นเป็นเพราะการได้รับการฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่มีวินัย "ตำรวจที่ดีต้องมีวินัย"

นายเขาบอกว่า "ต้องทำให้ได้" พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อนายบัญชาลูกน้องก็พร้อมที่จะน้อมรับ...จนเกิด "วัฒนธรรมครับนาย"...ครับนาย ครับนายครับ ครับนาย ...คำพูดที่คุ้นชินในโลกของตำรวจ

"โชค" ดีของนายตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาที่นายยังมีคำพูดต่อท้ายว่า "ทำเต็มที่ต้องการการสนับสนุนอะไรบอกมา

อย่างน้อยในองค์กรตำรวจก็ยังมีแง่มุมที่ทำให้หัวใจของตำรวจมดงานอิ่มเอิบและพร้อมที่จะทุ่มเททำงานเพื่อให้ตำรวจไทยเป็นตำรวจมืออาชีพตามนโยบายของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้นำการเปลี่ยนแปลงของตำรวจ แต่หากจะถามแทนตำรวจว่า "นายจะสนับสนุนให้ผมทำดีแล้วได้ดีใช่มั้ยครับ...งานกับความก้าวหน้าและความมั่นคงในงานจะมาควบคู่กันใช่มั้ยครับ"

อยากรู้ว่าผู้นำตำรวจจะตอบว่าอย่างไร?

ที่มา : http://goo.gl/nggGzJ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น