วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

ความ(ไม่)ดีของตำรวจจราจร : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๒๙ กันยายน ๒๕๕๖)

สุภาพบุรุษจราจร คือคำที่เขียนขึ้นในคู่มือการปฏิบัติงานตำรวจจราจรในสมัยที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจจราจรเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ โดยกล่าวว่า ตำรวจจราจรที่เข้าข่ายสุภาพบุรุษจราจรจะต้องแต่งกายดี บุคลิกดี วาจาดี การให้บริการดี มีความยุติธรรม ต้องมีน้ำใจ และเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการขับขี่การใช้รถใช้ถนน เวลาผ่านไปเกินกว่าทศวรรษ (ปลายปี พ.ศ.๒๕๕๕) คำว่าสุภาพบุรุษจราจรถูกนำมาบรรจุอยู่ในนโยบายด้านงานจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากทว่าในปี พ.ศ.๒๕๕๖ กระแสข่าวการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจจราจรส่วนหนึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้ต้นทุนทางสังคมที่ตำรวจมีอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้วตกต่ำลงไปมากยิ่งขึ้น จนดูเสมือนว่าตำรวจจราจรเป็นเสมือนภาพตัวแทน (Representation) ของตำรวจทั้งหมด ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงควรให้ความสำคัญกับงานนี้ไม่น้อยกว่างานอื่น

ตำรวจจราจรอาจมิใช่พระเอก (Hero) ในใจของใครเฉกเช่นเดียวกับตำรวจปราบยาเสพติด (ซึ่งก็ถูกตั้งคำถามเช่นกันว่าจับได้เยอะแต่ทำไมการแพร่ระบาดในชุมชนต่างๆ ก็ยังคงเยอะมากขึ้นเช่นกัน?) หรือตำรวจสายปราบปราม สายสืบสวนสอบสวน เป็นต้น สังคมไทยไม่เคยเห็นภาพตำรวจจราจรแถลงข่าวแสดงผลงานผ่านจอแก้วหรือสื่อมวลชนแขนงใดๆ ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยทุกคนเห็นจนอาจกลายเป็นความเคยชินก็คือตำรวจที่อยู่ในสายตาประชาชนมากที่สุด นั่นก็คือตำรวจจราจร จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีตำรวจจราจรยืนอยู่บนถนนไม่น้อยกว่าชาติใดในโลก ในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นการหาตำรวจจราจรบนถนนเป็นสิ่งที่ยากมาก

ทั้งนี้ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายจราจรจะถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม (เสมอภาคและเท่าเทียม) ผ่านการจับจ้องควบคุมของการใช้เทคโนโลยีตรวจจับที่ทันสมัยที่ติดตั้งอยู่บนถนนจำนวนมากและมีการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่สามารถส่งใบสั่งให้ไปชำระค่าปรับได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ ถึงแม้ว่าผู้ขับขี่จะเป็นนักท่องเที่ยวก็ตาม โดยใบสั่งนี้จะส่งตรงไปยังที่อยู่ของบุคคลนั้นแม้จะอยู่ต่างประเทศก็ตาม (ไม่ใช้ตัวคนเป็นๆ ไม่มีการต่อราคา ไม่มีการขอร้องอ้อนวอนและไม่มีการใช้อำนาจเหนือกว่ามาข่มขู่คุกคาม)

ทีคันนั้นทำไมคุณไม่จับ คุณเลือกมาจับแต่คันผมได้ไงข้อกังขาของผู้ขับขี่ที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจราจรไทยที่พบบ่อย หากตำรวจจราจรตอบตามความจริงว่าก็ผมจับคันนั้นไม่ทัน ก็อาจสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ถามอีกเช่นกัน (ถึงแม้ว่าจะเป็นความจริง) ซึ่งหากวิเคราะห์โดยปราศจากอคติแล้วนั้นจะเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายจราจรในสถานการณ์ที่มีผู้กระทำผิดจำนวนมากในห้วงเวลาเดียวกันในขณะที่ผู้ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบควบคุมมีจำนวนจำกัดนั้นย่อมมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในลักษณะจับไม่ทัน ส่งผลให้ปรากฏภาพจับบ้างไม่จับบ้าง จนเกิดการตั้งคำถามและการตีความในลักษณะเลือกปฏิบัติ ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม และไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เป็นต้น

แม้แต่กลุ่มคนที่ทำงานด้านอุบัติเหตุทางถนนก็ยังตั้งคำถามว่าคนตายกลางถนนไม่ลดเพราะตำรวจไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง? ทั้งๆ ที่ทางแก้ปัญหานี้ให้ตรงจุดตรงสาเหตุคือการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมพฤติกรรมการฝ่าฝืนกฎหมายจราจรที่มีประสิทธิภาพ หรือการออกแบบสภาพถนนที่สามารถควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย การบริหารจัดรถขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและมีวินัยในการขับขี่อย่างเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมกระทำ มิใช่มุ่งบังคับให้ตำรวจจำนวนมากยืนเฝ้าจับจ้องคนบนถนน

ฝ่าไปได้ครับ ตอนนี้ตำรวจไม่จับแต่ถึงจับก็จับไม่ทันหรอก ขืนมาจับรถก็ยิ่งติด ตำรวจกลัวโดนด่าคนขับรถแท็กซี่บอกในขณะที่เปลี่ยนไปใช้ช่องทางเดินรถที่ผิดกฎหมายจราจรทั้งๆ ที่มีตำรวจจราจรยืนปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเร่งด่วนอยู่บริเวณนั้น บ้าไปแล้ว มืดขนาดนี้จะให้ใส่หมวกกันน็อกหรือ "นักศึกษาจะรีบไปโรงเรียนก็มาจับมาเรียกตรวจหมวก ตรวจใบขับขี่ ตรวจกระจกรถ หวังจะเอาแต่ส่วนแบ่งค่าปรับ ไม่เห็นใจเด็กมันไม่มีเงินยังจะปรับมันอีกหรือ "ถือใบสั่งกันว่อนใกล้สิ้นเดือนตำรวจก็อย่างนี้...และอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนแต่เป็นความรู้สึกในเชิงลบซึ่งได้รับความนิยมอย่างยิ่งและมีการเผยแพร่ส่งต่อกันอย่างรวดเร็วในยุคเทคโนโลยีข่าวสารในปัจจุบัน

หันกลับมามองอีกมุมมีตัวอย่างดีๆ เช่นที่สถานีตำรวจภูธรระโสม จ.พระนครศรีอยุธยา มีการประสานภาคีเครือข่ายทั้งผู้ใหญ่บ้านและเยาวชนในหมู่บ้านหวังสร้างความตระหนักในการขับขี่ที่ปลอดภัยบนถนนที่ปลอดภัยเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่ โดยพยายามทำทุกอย่างทั้งการบังคับใช้กฎหมายและการมีถนนที่ปลอดภัยในการขับขี่โดยร่วมมือกันนำหินคลุกซ่อมกลบหลุมบ่อถนน ด้วยหวังว่าการกระทำเกินบทบาทหน้าที่ของตำรวจนี้จะทำให้ประชาชนเข้าใจความปรารถนาดีต่อการมุ่งมั่นรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน การกระทำไม่แตกต่างจากการปิดทองหลังพระ ไม่มีการโชว์สัญลักษณ์ใดว่าเป็นตำรวจ ไม่มีการแถลงข่าว ไม่มีการประชาสัมพันธ์และไม่สนใจว่าจะมีใครเผยแพร่ความตั้งใจดีๆ ของตำรวจจราจรหรือไม่ แต่ทำงานโดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีคนตายกลางถนนเป็นอันดับ ๓ ของโลกเช่นเดียวกับตำรวจจราจรอีกจำนวนไม่น้อย ด้วยความอดทน อดกลั้นต่อข้อจำกัดต่างๆ ของทรัพยากรในการบริหารงานจราจรและอคติของสังคมที่มีต่อตำรวจจราจร...หากเปิดใจสักนิดอาจพบว่าตำรวจไม่ดีมีเป็นร้อย แต่ก็ยังมีตำรวจอีกไม่น้อยที่ทำดีแล้วไม่มีใครเห็น!! (แม้แต่นาย!!?!!)

ที่มา : http://goo.gl/KFdJ6T

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น