วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เวรกรรมในโลกของตำรวจ : โลกตำรวจ โดยปนัดดา ชำนาญสุข (๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๗)

การสร้างภาพพระเอกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการทำให้ภาพตัวร้ายปรากฏโฉมที่ชัดเจนมากขึ้น ยิ่งหากทำให้ผู้ร้ายดูชั่วร้าย ต่ำช้า เลวทรามได้มากเท่าไหร่ พระเอกก็จะมีโอกาสที่จะได้รับแรงเชียร์และสร้างความประทับใจอย่างใหญ่หลวงให้แก่ผู้ชมในฐานะของฮีโร่ผู้ปราบคนชั่วสร้างความเลวร้ายจนทำให้สังคมร่มเย็น ทำให้ผู้คนในสังคมมีความสงบสุขโดยทั่วกัน

นี่คือ บทละคร หรือบทภาพยนตร์ ที่คนส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ชมตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

การเดินเรื่องของบทละครในลักษณะเช่นนี้ ส่งผลต่อการหล่อหลอมวิธีคิดของเหล่าบรรดาผู้ชมด้วยการซึมซับรับเอารูปแบบและวิธีการประทับตราบทผู้ร้ายให้แก่ผู้อื่นเพื่อสร้างภาพให้ตัวเองได้สวมบทบาทฮีโร่ในลักษณะคู่ตรงข้าม

ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ฮีโร่อาจรู้อยู่แก่ใจว่า ความเป็นพระเอกคือหน้ากากที่สวมหลอกผู้คนที่หลงชมและรับรู้อย่างผิวเผินเฉพาะภาพโชว์ที่จงใจสร้างขึ้นก็ตาม

ความเลวร้ายของตำรวจที่สร้างความสะเทือนขวัญผู้คนในสังคมไทยขณะนี้นั้นสามารถเทียบเคียงลักษณะดังกล่าวข้างต้นได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็สามารถอธิบายได้ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสเรื่องอิทัปปัจจยตา ที่มีคำอธิบายว่า "เพราะมีสิ่งนี้เป็นเหตุปัจจัย สิ่งนี้จึงมีนั้น น่าจะเป็นวิธีคิดสำคัญที่คนไทยควรนำมาใช้ในการทบทวน ไตร่ตรอง สะท้อนคิด เพื่อช่วยกันพัฒนาสังคมไทยของพวกเราทุกคนให้ก้าวไปสู่ความเป็นไทอย่างแท้จริง

ไท ในที่นี้หมายถึง ความเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาส ไม่ว่าจะเป็นทาสในรูปแบบไหนก็ตาม

ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า การกระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายต่างๆ ของตำรวจที่ปรากฏผ่านสื่อประเภทต่างๆ นั้นไม่ใช่ความจริง

มีตำรวจที่รีดไถจริง

มีตำรวจคอร์รัปชั่นจริง

มีการซื้อขายตำแหน่งในโลกของตำรวจจริง การวิ่งเต้นโยกย้ายทำให้คนที่เติบโตขึ้นเป็นนายเป็นใหญ่เป็นโตเป็นผู้บังคับบัญชาในโลกของตำรวจนั้น เป็นบุคคลที่ไม่มีผลงานที่โดดเด่นจนไม่สามารถสร้างการยอมรับในวงสังคมของเหล่าบรรดาตำรวจด้วยกันเองได้นั้น...สิ่งเหล่านี้เป็นความจริง

มีตำรวจเกียร์ว่างไม่ทำงาน ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ขาดสำนึกของความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความจริงที่ตำรวจเองก็ไม่ปฏิเสธถึงความมีอยู่จริงของบุคคลเหล่านี้ในโลกของตำรวจ และหากสังเกตให้ลึกซึ้งจะเห็นว่า โลกของตำรวจแตกต่างจากกลุ่มอาชีพอื่นอย่างเด่นชัดในมิติของการไม่พยายามที่จะปิดบังซ่อนเร้นการกระทำผิดของเพื่อนร่วมวิชาชีพด้วยความห่วงใยความเสียหายที่จะส่งผลกระทบต่อองค์กรหรือเพื่อนร่วมอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ได้กระทำผิดด้วย

พฤติการณ์ของตำรวจเหล่านี้ทำให้ภาพผู้ร้ายกลายเป็นตราประทับบนหน้าผากของตำรวจทั้งองค์กรกว่า ๒ แสนชีวิต ทั้งๆ ที่ในองค์กรตำรวจนั้น มีตำรวจน้ำดีอยู่จำนวนไม่น้อย และไม่น้อยกว่าตำรวจเลวแน่นอน

หากตำรวจจะอ้างเหตุผลว่า ในกระบวนการยุติธรรมนั้น มิใช่จะมีแต่ตำรวจเลว ตำรวจชั่ว ตำรวจทำตัวเป็นโจรแต่เพียงเท่านั้น ก็ยังไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างที่เพียงพอที่จะทำให้ตำรวจหลุดพ้นจากตราประทับดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วนั้นหากทุกองค์กรยอมเปิดพื้นที่ให้องค์กรของตนเองเป็นองค์กรสาธารณะที่ใครๆ ในสังคมต่างสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับองค์กรตำรวจนั้น จะเห็นได้ว่า ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ต่างมีปรากฏการณ์ที่คนในองค์กรส่วนหนึ่งประพฤติมิชอบทั้งสิ้น

คำว่า "โจรในเครื่องแบบ" มักถูกใช้เป็นคำเรียกขานของตำรวจในยามที่ชาวบ้านรับรู้ว่า ตำรวจประพฤติตัวไม่แตกต่างจากโจร ผู้ร้าย นี่คือคำเรียกขานที่ชาวบ้านนิยมพูดถึงซึ่งไม่แตกต่างจากคำเรียกขานที่ว่า "ทนายโจร" ที่ไม่เพียงแต่ชาวบ้านจะคุ้นชินเท่านั้น แม้แต่ในวงการของอาชญากรผู้กระทำผิด แม้แต่ในโลกของผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนก็ยังรู้จักบทบาทของทนายที่ทำหน้าที่ในการหาช่องว่างทางกฎหมาย หรือทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงกับบุคลากรอื่นๆ ในวงการยุติธรรม ที่มิได้จำกัดวงอยู่เพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่เพียงเท่านั้น แต่หมายรวมถึงบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิดให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษตามกฎหมาย

การบิดคดีในรูปแบบของการทำผิดให้กลายเป็นถูก การทำถูกให้กลายเป็นผิด มิใช่จะทำได้แต่เพียงลำพังในวงการตำรวจเพียงเท่านั้น ดังนั้นผู้ร้ายจึงมิใช่มีเพียงตำรวจในแวดวงของวงการยุติธรรมไทย

หากผู้คนในสังคมไม่ร่วมมือกันดึงหน้ากากหรือค้นหาว่า โฉมหน้าที่แท้จริงเบื้องหลังหน้ากากที่สวมอยู่ของเหล่าบรรดาผู้มีอำนาจ ผู้ที่อวดอ้างตัวเองว่าเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ที่มีฝีมือในการปราบปรามคนชั่ว ปราบปรามคนที่ทำให้สังคมเกิดความหายนะนั้น ว่ามีอคติหรือไม่ในการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็น หรือเสนอความเห็นใดๆ ก็อาจจะทำให้สามารถพบความจริงอีกมุมหนึ่งที่มีความเกี่ยวพันกับประสิทธิภาพในการทำงานของตำรวจด้วย

หรือว่า นี่ก็เป็นเพียงบทละครฉากหนึ่งที่ทำให้ภาพผู้ร้ายของคนกลุ่มอื่นชัดเจนขึ้น เพื่อปิดบังภาพผู้ร้าย(ตัวจริง)อื่นๆ หรือว่าเป็นเพียงเพื่อทำให้ภาพพระเอกที่ต้องการสร้างขึ้นให้มีความชัดเจนหลอกผู้คนในสังคมแต่เพียงเท่านั้น

หากต้องการเห็นสังคมไทยผาสุกอย่างแท้จริง ลองสืบค้นถามหาความจริงเบื้องหลังหน้ากากของเหล่าบรรดาพระเอกทั้งหลายดูบ้าง อาจจะทำให้ได้พบทางออกที่แท้จริงว่า การสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยุติธรรมแท้จริงนั้น จำเป็นต้องทำอย่างไร??

อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา อย่าเชื่อด้วยการเล่าลือ อย่าเชื่อเพราะอ้างตำรา...ดังคำสอนเรื่องกาลามสูตร ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า...สาธุ!!

ในที่สุด...สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม!!!

ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20141210/197422.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น