พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ลิขสิทธิ์
พ.ศ.๒๕๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๘ เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ เเละ
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่
๖ เมษายน ๒๕๕๘ ซึ่งมีเนื้อหาคุ้มครองลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ตามนโยบายของประเทศ
ภายหลังกฎหมายฉบับเก่าไม่อาจรองรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดังกล่าวได้
เพราะได้ตราขึ้นบังคับใช้ตั้งแต่ ๒๐ ปีที่่ผ่านมา
ทั้งนี้
หลายคนต่างมีข้อสงสัยถึงรายละเอียดของกฎหมายฉบับใหม่
จะทำอย่างไรไม่ให้ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา
กระทรวงพาณิชย์ ได้ตอบคำถามดังกล่าวไว้ ๑๐ ข้อ ดังนี้
๑.ลิขสิทธิ์คุ้มครองอะไรบ้าง มีอะไรที่เราสามารถเอามาใช้ได้
โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือไม่
-ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง
รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงต่าง ๆ
รวมทั้งข่าวประจำวันทั่วไปในส่วนของข้อเท็จจริงที่รายงานเพียงแค่ว่า ใคร ทำอะไร
ที่ไหน อย่างไร ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ เราจึงสามารถเอามาใช้ได้
โดยไม่ต้องขออนุญาต
๒.เราสามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์หรือเพลงจากอินเตอร์เน็ตมาฟังและแชร์ต่อให้เพื่อนได้หรือไม่
-การดาวน์โหลดถือเป็นการทำซ้ำที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
กรณีเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรี
ก็สามารถดาวน์โหลดได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้
ส่วนกรณีเว็บไซต์ที่ให้บริการโดยเก็บค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด
เมื่อผู้ใช้เสียค่าบริการแล้ว จึงจะดาวน์โหลดมาเพื่อรับชมหรือรับฟังได้
แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้เช่นกัน
๓.การก๊อปปี้บทความหรือรูปภาพจากเว็บไซต์มาใส่เฟซบุ๊กของเราหรือแชร์ต่อทางไลน์ทำได้หรือไม่
-บทความหรือรูปภาพเป็นงานลิขสิทธิ์ การนำมาใช้
ไม่ว่าจะเป็นการก๊อปปี้หรือแชร์ต่อ
ควรพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาของเว็บไซต์นั้น ๆ
ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ถ้านำมาใช้ในปริมาณน้อย เช่น ๑-๒ ภาพ ที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (ECONOMIC VALUE) อย่างมีนัยสำคัญและไม่ได้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไรโดยมีการแสดงที่มาของบทความหรือรูปภาพ
ก็อาจถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (FAIR USE) ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
๔.การนำงานมาใช้และเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตผู้สร้างสรรค์เพียงพอหรือไม่ท่ีจะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
-การนำงานมาใช้และเผยแพร่ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอ
จึงจะไม่ถือเป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์
และต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาผลประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์
รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรด้วย
๕.การแฮ็กหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ เช่น
รูปภาพหรือคลิปวิดีโอบนอินเทอร์เน็ต และลบลายน้ำดิจิทัลออก
และปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวีดิโอและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเรามีความผิดอย่างไรและมีโทษเท่าไหร่
-การแฮ็กหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์โดยรู้อยู่แล้วว่า
การกระทำดังกล่าวอาจจูงใจหรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง
ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี
และหากทำการลบลายน้ำดิจิทัลออกโดยรู้อยู่แล้วว่า การกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิด
ก่อให้เกิด ให้ความสะดวก หรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์
ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ
ส่วนการปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวีดิโอของผู้อื่นและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น
มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน
โทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์
ปรับ ๒ หมื่นบาท ถึง ๒ แสนบาท เพื่อการค้า ปรับ ๑-๘ แสนบาท
หรือจำคุก ๖ เดือน ถึง ๔ ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
โทษฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี
ปรับ ๑ หมื่นบาท ถึง ๑ แสนบาท เพื่อการค้า ปรับ ๕ หมื่น ถึง ๔ แสนบาท หรือจำคุก ๓ เดือน
ถึง ๒ ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
๖.การก๊อปปี้ภาพหรือบทความจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ในลักษณะอย่างไรจึงจะต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์และอย่างไรจึงไม่ต้องขออนุญาต
-กรณีที่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น
การนำภาพหรือบทความนั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องเป็นการใช้ในปริมาณพอสมควร เช่น
นำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางาน ซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
ใช้ในการติชม วิจารณ์
หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
และใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น
๗.การทำบล็อก (Blog) แล้วนำคลิปวีดีโอของยูทูปมาเผยแพร่ที่บล็อกของเราโดยฝังโค้ด
(Embed) ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
-ถ้าเจ้าของคลิปวีดิโอบนยูทูปเผยแพร่คลิปวีดิโอนั้นในลักษณะ Public จะถือว่าเจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้สาธารณชนทั่วไปเข้าถึงงานดังกล่าวได้
เพราะฉะนั้น
การทำบล็อกแล้วนำคลิปวีดิโอซึ่งเผยแพร่บนยูทูปมาไว้ในบล็อกของเราในลักษณะการฝังโค้ด
จึงไม่อาจเข้าข่ายละเมิดเช่นเดียวกับการแชร์ลิงก์ของคลิปวีดิโอดังกล่าว
เนื่องจากการฝังโค้ดหรือการแชร์ลิงก์เป็นการอ้างอิงกลับไปยังคลิปวีดิโอของเจ้าของลิขสิทธิ์
สำหรับการดาวโหลดคลิปวีดิโอและอัพโหลดขึ้นใหม่ในบล็อก
เป็นการทำซ้ำหรือเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ในบล็อก
จึงจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน
๘.หากซื้อซีดีภาพยนตร์ ซีดีเพลง หรือรูปภาพมาอย่างถูกต้อง
เมื่อใช้แล้วจะนำออกขายต่อได้หรือไม่ กรณีซื้อโดยดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ภาพยนตร์
เพลงจากเว็บไซต์ จะขายต่อได้หรือไม่
-การซื้อซีดีภาพยนตร์ ซีดีเพลง หรือรูปภาพ
ผู้ซื้อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในแผ่นซีดีภาพยนตร์ ซีดีเพลง หรือรูปภาพนั้น
จึงสามารถนำออกขายต่อได้
(กรณีซีดีภาพยนตร์จะต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑)
แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนางานเพื่อนำออกขายได้
เนื่องจากสิทธิในการทำซ้ำและนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ
สำหรับกรณีการซื้อมาโดยวิธีการดาวน์โหลดนั้น
เป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ดังนั้น
ไม่สามารถนำไฟล์งานดังกล่าวออกขายต่อไป
๙.ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISPs) เช่น YouTobe
Google True DTAC จะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่
หากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอัพโหลดหนังหรือเพลงละเมิดลิขสิทธิ์
-ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์
หากให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล
๑๐. จะทำอย่างไรเมื่อมีคนนำงานลิขสิทธิ์ของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
-เมื่อพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น
เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งเตือนให้ผู้กระทำละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว หรือเจ้าของลิขสิทธิ์อาจไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลหรืออาจขอให้มีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท
โดยใช้บริการไกล่เกลี่ยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือศาล
........
ที่มา : http://www.isranews.org/thaireform/thaireform-documentary/item/40398-dip050858.html
........
ที่มา :
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น