วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

หมอตำแย (๕ ตุลาคม ๒๕๕๘)

สมัยก่อนโน้นความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ การรักษาพยาบาลไม่เหมือนสมัยนี้ คนเราเวลาเจ็บป่วยเป็นไข้หรือไม่สบายอะไรนิดๆ หน่อยๆ น่ะไม่มีใครเขาไปโรงพยาบาลกันหรอก ไม่ใช่อะไร “มันไกล" แล้วการเดินทางน่ะยวดยานพาหนะ ถนนหนทางไม่ใช่เหมือนสมัยนี้ รถไม่มี ถนนไม่ต้องพูดถึง ไปไหนมาไหนแต่ละทีลำบากลำบน เขาเลยหาหยูกหายาที่มีในหมู่บ้านนั่นแหละมาใช้มากินกันซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยา แผนไทยที่ผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งมีความรู้เป็นคนจัดให้
อีกอย่างหนึ่งก็คือคนสมัยก่อนนั้นโดยเฉพาะแถวชนบทการคลอดลูกก็แทบไม่มีใคร ใช้บริการโรงพยาบาลหรือสุขศาลากันซักเท่าไร ส่วนใหญ่จะใช้บริการ “หมอตำแย” ในหมู่บ้านที่ทุกคนรู้จักกันดีและทำหน้าที่นี้มานาน โดยหมอตำแยจะมีหน้าที่ให้คำแนะนำ ดูแล แก้ไข ป้องกันอาการต่างๆ ของผู้หญิงตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนครบกำหนดคลอด ทำหน้าที่ทำคลอด ตลอดดูแลสุขภาพแม่หลังคลอด ทารกแรกเกิดด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย
พูดถึงเรื่องหมอตำแยแล้วก็นึกถึงคนคนหนึ่งขึ้นมาได้ คนคนนี้เป็นหมอตำแยเก่าแก่ของหมู่บ้านพังราดไทยที่ทำคลอดเด็กในหมู่บ้านแทบ จะทุกคนชื่อ “ยายเอิบ” แต่นามสกุลอะไรผมจำไม่ได้ ยายเอิบเป็นคนรุ่นปู่ย่า,พ่อแก่แม่คุณและเป็นคนพังราดไทยโดยกำเนิด เป็นหมอตำแยคนเดียวของหมู่บ้านมานาน เพาะกับแมะเคยเล่าให้ผมฟังว่าเพาะกับแมะน่ะตอนเกิดยายเอิบก็เป็นคนทำคลอดให้ รวมถึงพี่น้องครอบครัวเดียวกันกับผมซึ่งมี ๗ คนยายเอิบก็เป็นคนทำคลอดให้ด้วย คนในหมู่บ้านพังราดไทยจะรักและเคารพยายเอิบเหมือนหนึ่งเป็น “แม่” ของตัวเองอีกคนหนึ่ง

ยายเอิบเป็นคนใจดีมีเมตตา ถ้าแกรู้ว่าคนไหนท้องแกก็จะคอยไปๆ มาๆ ดูๆ แลๆ ให้อย่างสม่ำเสมอ ค่าจ้างค่าออนไม่เคยมีการถามหา จะให้หรือไม่ให้ก็ได้ยายเอิบแกเต็มใจทำทั้งนั้น แกบอกว่าการทำคลอดคนน่ะมันได้กุศลแรงเหมือนกับการให้ชีวิตอีกชีวิตนั่นเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะดึกดื่นค่อนคืน เช้าสายบ่ายเย็น ฝนตกฟ้าร้องแดดออกยังไงก็ตามถ้ามีคนเจ็บท้องยายเอิบจะรีบไปที่บ้านคนนั้น ทันทีไม่มีบ่นไม่มีงอแง แล้วการไปน่ะ “เดินครับ” เดินอย่างเดียวผ่านท้องทุ่งนาสุดลูกหูลูกตา ก็อย่างว่าแหละถนนหนทางมันไม่มีเลยต้องใช้วิธีนี้ บางบ้านนะกว่ายายเอิบจะเดินไปถึงก็เหงื่อท่วมตัวแต่แกบอกว่ามันเป็นความสุขของแกที่ได้ทำหน้าที่นี้

ยายเอิบนอกจากจะเป็นคนใจดี มีเมตตาโอบอ้อมอารีแล้วแกยังชอบเย้า ชอบพูดกับเด็กๆ ที่เริ่มโตและมีนิสัยเกะกะเกเร พ่อแม่พูดอะไรไม่ยอมจะเชื่อจะฟังเพื่อให้เด็กพวกนั้นกลับเนื้อกลับตัวเพราะ แกรู้ว่าเด็กๆ ในหมู่บ้านน่ะเชื่อและฟังแกไม่มีใครกล้าเถียง ที่ผมจำติดหูมาจนเดี๋ยวนี้ก็คือยายเอิบมักจะพูดว่า “แหม่ เถ้ากูรู่ว่าอีตอนมึงโตขึ้นมาแล่วเป็นคนเกกม่ะเหรกเกเร ไม่เชื่อฟังพ่อแม่แบบนี่น่ะกูเอาขี้เถ้ายั่ดปากมึงให้ตายซ้ารู่แล่วรู่รอดอี ตอนกูดึงมึงออกจาก...แมะมึงดีกว่า” เนี่ยะ เด็กคนไหนถ้าได้ยินยายเอิบพูดแบบนี้รับรองกลัวกันลานและไม่กล้าเกกมะเหรกเกเรอีกต่อไป

ยายเอิบตายไปเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๒๓ จำได้ไม่แน่ชัดนักซึ่งตอนงานศพแกโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันปลงน่ะคนงี้มืดฟ้ามัว ดินไปหมดเลยเพราะทุกคนในหมู่บ้านถือว่ายายเอิบเป็น “แม่” ของตัวเองด้วยก็เลยไปร่วมงานครั้งสุดท้ายของแกอย่างล้นหลาน

หลังจากยายเอิบตายแล้วในหมู่บ้านพังราดไทยไม่มี “หมอตำแย” แบบยายเอิบรับช่วงต่อ อีกทั้งระบบการสาธารณสุขเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ถนนหนทางก็สะดวกสบายกว่าแต่ก่อนผิดหูผิดตา คนบ้านเราที่จะคลอดลูกก็หันไปใช้บริการโรงพยาบาลแทนซึ่งถือว่าดีและปลอดภัย เป็นอย่างยิ่งทั้งแม่และลูก “หมอตำแย” จึงเหลือเพียงเป็นตำนานนับแต่บัดนั้นมา

พี่น้องท้องเดียวกับผม ๗ คนรวมถึงแมะเผือน มัจฉาด้วย "ยายเอิบ" เป็นคนทำคลอดให้ทุกคนครับ

(ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
...........
แหม่ เถ้ากูรู่ว่าอีตอนมึงโตขึ้นมาแล่วเป็นคนเกกม่ะเหรกเกเร ไม่เชื่อฟังพ่อแม่แบบนี่น่ะกูเอาขี้เถ้ายั่ดปากมึงให้ตายซ้ารู่แล่วรู่รอดอี ตอนกูดึงมึงออกจาก...แมะมึงดีกว่า” ยายเอิบ,แม่ของพวกเราคนพังราดไทยทุกคน
..........
เรื่องราว ดีดี มากมาย,ที่ผ่าน มาใน ชีวิต
ช่วยกัน ขีดเขียน ลิขิต,เพื่อต่อ ชีวิต สิ่งนั้น
ไม่ต้อง ไปอาย ใครว่า,คนเขียน แก่นะ นี่นั่น
มามะ เรามา ช่วยกัน,สืบสาน ตำนาน บ้านเรา



ฝากพี่น่องคนบ้านเราไว่หน่อยหนะ ใครที่พอจ้ะมีฝีมือในการเขียนหนังสือแล่วมีเรื่องราวดีๆ สมัยก่อนๆ เถ้าเป็นไปได้ว่างๆ เอามาเขียนมาบอกกันหน่อยก็ดี ไม่ใช่รา กลัวของดีๆ มันจ้ะหายไปตามกาลเวลาน่ะครับ

เรื่องการขีดๆ เขียนๆ หนังสือเนี่ยพ้มว่าคนบ้านเรามีฝีมือไม่แพ้คนที่ไหนแน่นอน เชื่อผมฮิ่ คนบ้านเราน่ะ "เอาได้" อยู่แล่ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น