วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

ถามหาคุณธรรมที่หายไปในโลกตำรวจ ? (๒๗ เมษายน ๒๕๕๙)

ถามหาคุณธรรมที่หายไปในโลกตำรวจ ? : โลกตำรวจ โดยปนัดดา ชำนาญสุข


เพราะว่าความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับประชาชนทุกคน ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารจัดการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยการความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้บังเกิดขึ้นกับทุกๆคนในสังคมด้วยความยุติธรรมเพื่อแสดงความขอบคุณ ชื่นชม ยกย่อง หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถาม?
ยุติธรรม หมายถึง หลักปฏิบัติที่แสดงให้เห็นว่าบริการที่รัฐจัดให้นั้นมีความทั่วถึง เท่าเทียม เสมอภาค และเป็นธรรม
การดูแลความปลอดภัยในทรัพย์สิน จึงมิใช่จะดำเนินการแต่เพียงร้านทอง หรือร้านสะดวกซื้อ หากแต่บ้านเรือนทุกหลังที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละสถานีตำรวจก็มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจตรา สอดส่อง ให้คำแนะนำเพื่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างกิจกรรมดีๆ ที่ พล.ต.ท.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม ผู้ช่วย ผบ.ตร.ได้เคยดำเนินการไว้เมื่อคราวที่เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ที่ชื่อว่า STOP WALK and TALK (หยุดพูดคุยกับประชาชน เพื่อสอบถามปัญหาและความต้องการที่จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ) นั้น มีความสอดคล้องตรงกันกับวิธีคิดและกิจกรรมที่ พล.ต.ต.ธีรพล จินดาหลวง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้ชื่อกิจกรรมว่า “บันทึกเตือนภัย” ควบคู่กับกิจกรรมตำรวจร่วมมวลชนลดอาชญากรรม (ตมอ.) มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนของสำนึกในการเป็นเจ้าของพื้นที่ของประชาชนที่สมควรเป็นแกนนำหลักในการลดอาชญากรรมในพื้นที่ของตนเองโดยมีตำรวจเป็นพี่เลี้ยงที่ยืนอยู่เคียงข้าง
ตัวอย่างกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกและยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตำรวจและประชาชน
ทำไมกิจกรรมดีๆ เช่นนี้จึงไม่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และไม่ยั่งยืน ?
เมื่อตั้งคำถามว่า...
ตำรวจที่มีประวัติการทำงานที่ดี มีความตั้งใจในการทำงานจนกระทั่งมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีในสภาพบริบทของปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่
ตำรวจที่มีความรู้อย่างลึกซึ้งชัดเจนถึงสาเหตุ ที่มาแห่งปัญหาจนสามารถวิเคราะห์ได้อย่างแตกฉานว่าปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบนั้นจะต้องป้องกัน แก้ไขอย่างไร
ตำรวจที่มีความคิด ริเริ่ม สร้างสรรค์ในการวิเคราะห์หากลยุทธ์ กลวิธีในการแก้ไขป้องกันปัญหาอาชญากรรมให้ลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยสามารถเอาชนะปัญหา อุปสรรคต่างๆ ไปได้อย่างอดทน และเข้มแข็ง
และตำรวจที่ลงมือทำโดยไม่ยอมแพ้ หรือยอมจำนนต่อปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นด้วยนั้น
จะมีสักกี่คน ?
สาเหตุที่ตั้งคำถามว่า “จะมีสักกี่คน” นั้น มิใช่เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีตำรวจที่มีจิตใจที่จะทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ดี หากแต่เป็นเพราะกลไกในการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความผูกโยงอยู่กับอำนาจนอกองค์การ และผูกเกี่ยวกับผลประโยชน์ในมิติต่างๆมากมายแม้กระทั่งในยุคนี้ ?
หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่สามารถสนับสนุนคนดีให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมกับศักยภาพ เหมาะสมกับความรู้ความสามารถที่พวกเขามี โดยปล่อยให้คนที่เหมาะสมและสมควรจะได้รับการสนับสนุนให้ทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนกลับไม่ได้รับรางวัลแห่งการทำงาน แต่กลับมีคนที่ไม่เหมาะสมจำนวนมากได้รับการยกเว้นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้รับรางวัลนั้น องค์กรตำรวจจะมีผลงานที่ดีได้อย่างไร?
หรือว่า กระแสข่าวลือที่หนาหูมากกว่ายุคใดสมัยใดที่ว่า ระบบคุณธรรมในการทำงานในโลกของตำรวจหมดสิ้นแล้วในยุคนี้จะมีข้อมูลความจริงอยู่บ้าง ?
ขอได้โปรดใช้สติไตร่ตรองผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติ
การขอนี้มิได้อ้อนวอนเพื่อตำรวจ แต่วอนขอให้ผู้มีอำนาจในประเทศได้โปรดเมตตาประชาชนที่จำเป็นต้องพึ่งพาตำรวจที่ยังคงมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อยู่บ้าง? โปรดเห็นใจพวกเขาเหล่านั้นบ้าง?
วิกฤติของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมมิใช่หรือ? ความไม่ยุติธรรมที่แผ่ซ่านในสังคมมิใช่หรือ ที่เป็นที่มาของภารกิจ “คืนความสุขให้คนในชาติ”
เราสมควรที่จะปล่อยให้คนไทยตกอยู่ภายใต้การดูแลความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเหล่าบรรดาตำรวจที่ไร้ขวัญและกำลังใจในการทำงาน จริงหรือ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น