วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

พระตีกลอง (๑๕ กันยายน ๒๕๕๙)

เวลาตี ๑๑ (๑๑ นาฬิกา) : ตุ้ม...ตุ้มๆๆๆๆๆๆๆ...ตุ้ม
แมะ : เอ่อเพาะมึง พร่ะตีกลองเพลแล่ว ปลดควายออกจากแอกก่อนเหอะแล่วมานั่งซักพั่กก่อน เดี๋ยวพร่ะฉันหัน (ฉันจังหัน) เสร็จแล่วมากินข้าวกลางวันกัน
.......
เวลาใกล้ๆ หกโมงเย็น : ต้ะล่ะลุ่มตุ้ม โม้งโม้งโม้ง ต้ะล่ะลุ่มตุ้ม โม้งโม้งโม้ง
เพาะ : เอ้าแมะมึง เด็กๆ ด้วย พร่ะตีกลองค่ำจ้ะทำวั่ด (ทำวัตร) เย็นแล่ว ป้ะ กลับบ้านไปพั่กผ่อนกันเหอะ พรุ่งนี่ถึงค่อยมาดำนากันใหม่


เวลาตีแปดตอนกลางคืน (๒ ทุ่ม) : ตุ้ม...ตุ้มๆๆๆๆๆๆๆ...ตุ้ม
แมะ : เอ่อนี่เพาะมึง พร่ะตีกลองเวลานี่น่ะสงสัยมีอะไรไม่ดีแน่ๆ ป้ะ เราเดินไปดูที่วั่ดกันหน่อยฮิ
.......
“กลอง” อุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่สมัยก่อน (รวมถึงสมัยนี้ด้วยแต่ไม่ค่อยได้ใช้กันนัก) ทุกวัดจะต้องมีเพื่อตีเป็นสัญญาณบอกเหตุการณ์ บอกเรื่องราวต่างๆ ให้รับรู้รับทราบกัน เนื่องจากสมัยก่อนนั้นการติดต่อสื่อสารไม่ทันสมัยเหมือนเดี๋ยวนี้ จะแจ้งหรือทำอะไรก็อาศัยกลองที่ว่านี้นี่แหละเป็นตัวบอกให้รู้

สมัยผมเป็นเด็กอยู่ที่บ้านพังราดไทย หมู่ ๔ ตำบลพังราด อำเภอแกลง จังหวัดร่ะยองนั้นส่วนใหญ่จะได้ยินการตีกลองดังมาจากวัดพังราดใน ๒ เรื่องแรกคือ “กลองเพล” เวลา ๑๑ นาฬิกา และ “กลองค่ำ” เวลาเย็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเข้าพรรษาแบบนี้จะได้ยินทุกวัน คนบ้านเราก็จะอาศัยเวลาที่พระตีกลองนี่แหละทำหรือเลิกทำงานเพราะใกล้หรือถึงเวลาเริ่มหรือเลิกทำงานประจำวันแล้ว การตีนั้นพระองค์ที่เก่งๆ น่ะเวลาตีคนฟังอาจถึงขนาดเคลิบเคลิ้มไปกับเสียงที่ได้ยินได้ฟังด้วยเลยทีเดียว
ส่วนการตีแบบที่ ๓ นั้นแทบไม่มีใครอยากได้ยินหรือให้มีเกิดขึ้นเพราะเป็นการตีบอกเหตุร้าย เหตุไม่ดี ซึ่งส่วนใหญ่จะตียามวิกาล โดยสมัยที่ผมเป็นเด็กนั้นเคยได้ยิน ๔-๕ ครั้งและทุกครั้งก็จะเรื่องมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิตแล้วเอาศพไปไว้วัด เมื่อศพถึงวัดแล้วพระท่านก็จะตีกลองบอกให้ชาวบ้านรับรู้กันจะได้ไปช่วย
หันกลับมาดูสมัยนี้การตีกลองประเภทที่ว่านี้แม้จะยังหลงเหลืออยู่บ้างแต่ก็มีน้อยวัดที่จะทำหรืออนุรักษ์ไว้จนกระทั่งพระเณรแทบจะไม่มีองค์ไหนตีกลองเป็นกันแล้ว อาจจะคิดว่าหมดความจำเป็นก็ได้เพราะการติดต่อสื่อสารหรือการดูเวล่ำเวลาสมัยนี้ทันสมัยกว่าสมัยก่อนก็เลยค่อยๆ หายไปหมดไปอย่างน่าเสียดาย (ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น