วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ความทรงจำครั้งเยาว์วัย : ตอน “กล้วยน้ำว้าบดข้าว” (๙ ตุลาคม ๒๕๕๙)

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันอาทิตย์ขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๑๑ ปีวอก รัตนโกสินทร์ศก ๒๓๕ ตรงกับวันที่ ๙ ตุลาคม พุทธกาลล่วงแล้ว ๒๕๕๙ ปี วันหยุด วันพักผ่อน วันสบายๆ ของหลายๆ ท่าน วันหยุดนี้ผมขอนำพี่น้องไปย้อนอดีตกันหน่อย สำหรับเรื่องราวจะเป็นอย่างไรตามผมมาเลยครับ
อาหารสุดวิเศษของทารกหรือเด็กแรกเกิดไม่ว่าจะที่ไหน ประเทศใดก็ตามในโลกนี้นั้นว่ากันว่าไม่มีอะไรเกินไปกว่า “น้ำนมแม่" ซึ่งใช้หล่อเลี้ยงให้ลูกน้อยที่กำลังแบเบาะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับสุขภาพที่แข็งแรง จิตใจแจ่มใสร่าเริง ทุกคนจะต้องได้กิน ไม่ว่าจะมีฐานะดี ร่ำรวยเป็นเศรษฐีหรือยากจนเข็ญใจเพียงใดก็เถอะ แต่การกินนมแม่นี้ใช่ว่าจะกินไปจนโตได้เสียเมื่อไร พอถึงอายุช่วงหนึ่งราวขวบเศษๆ ก็ต้องหย่านมแล้ว ส่วนอาหารน่ะไม่ว่าจะอายุเพียงใดก็ต้องกินเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด ตอนที่กำลังกินนมอยู่ก็ต้องกิน เพียงแต่อาจกินน้อยหน่อยไม่เหมือนช่วงหย่านมแล้วที่จะต้องกินเพิ่มมากขึ้น แล้วอาหารที่กินเป็นอะไร???

เชื่อว่าพี่น้องส่วนหนึ่งที่อายุเข้าเลข ๔ ขึ้นไปคงจะเคยได้ยินรวมถึงเคยพบ เคยสัมผัสกับตัวเองหรือไม่ก็กับพี่ๆ น้องๆ หรือญาติๆ ในเรื่องที่ผมจั่วหัวเรื่องวันนี้มาบ้างไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องที่เติบโตหรือใช้ชีวิตแรกเกิดแถบชนบท ท้องไร่ท้องนา
เรื่องอาหารการกินของเด็กนั้นคนที่มีฐานะดีหรืออยู่ในเมืองใหญ่ๆ อยู่ในถิ่นที่เจริญแล้วก็คงจะไม่พ้นอาหารเสริมประเภทต่างๆ ที่คุณหมอหรือนักโภชนาการเขาแนะนำ แต่อย่างไรเสียช่วงแรกๆ จะต้องเป็นอาหารประเภทอ่อนๆ ที่ละลายได้ทันทีเมื่อเข้าสู่ปากทารกเพราะเด็กยังไม่มีฟันที่จะขบเคี้ยวอะไรได้ สำหรับเด็กที่อยู่ห่างไกลความเจริญ อยู่ท้องไร่ท้องนาหรือพ่อแม่ฐานะไม่สู้ดีนักล่ะกินอะไร อ้ะอ๊า นี่เลย เข้าเรื่องที่จั่วหัวไว้ซะทีหลังจากรำพันมานาน อะไรหรือ แหม จะอะไรซักอีกล่ะ นี่ไง “กล้วยน้ำว้าบดข้าว” จ้า
พอถึงตอนนี้คิดว่าพี่น้องที่เคยกินหรือเคยสัมผัสมาคงจะยิ้มน้อยยิ้มใหญ่หรือบางคนอาจจะหน้าเบ้ก็ได้เมื่อนึกถึงสภาพและรสชาติของมันตอนนั้น แต่ผมคิดว่าทุกคนคงจำรสชาติด้วยตนเองขณะกินไม่ได้หรอกครับ เพราะอะไร ก็เพราะตอนนั้นเรายังเด็ก ยังไร้เดียงสาเกินกว่าที่จะจำได้ว่าเป็นยังไง แต่ก็คงจะต้องอร่อย รสชาติดีแน่นอนเพราะพ่อแม่จะต้องทำหรือปรุงอย่างสุดฝีมือเพี่อลูกน้อยของตนอยู่แล้ว แล้วการทำเขาทำกันยังไง อ้ะ ตามผมมา
ขั้นแรกไปเอากล้วยน้ำว้าซึ่งแทบทุกบ้านในตอนนั้นมีหรือหากไม่มีก็ขอเขาข้างบ้านก็ได้ซึ่งสมัยผมเป็นเด็กอยู่บ้านพังราดไทย อำเภอแกลง ร่ะยองนั้นไม่มีการซื้อขายกันหรอก ใครอยากกินก็ปลูกหรือไม่ก็ขอเพื่อนบ้านหรือญาติใกล้ๆ มีถมเถไป เขาไม่หวง กล้วยน้ำว้าที่ว่านี้ต้องเลือกชนิดที่สุกเป็นอย่างดีแล้ว ๑ ลูก ขนาดเล็กใหญ่ก็เอาให้พอเหมาะกับเด็กที่จะกินว่าตัวเล็กตัวใหญ่แค่ไหน เสร็จแล้วเอาไปย่างบนเตาอั้งโล่ที่ก่อไว้ในครัว หมั่นพลิกไปพลิกมาคะเนว่าสุกดีแล้วจึงเอาออกมาจากนั้นแกะเปลือกพร้อมเส้นไยหรือกากที่อาจจะมีในเนื้อกล้วยออกให้หมดแล้วเอามาใส่ถ้วยเล็กๆ ซึ่งในถ้วยมีข้าวจ้าวที่บดไว้จนเละเป็นเนื้อเดียวกันอยู่พร้อมทั้งเอาเกลือทะเลใส่เข้าไปสักเม็ดสองเม็ดเพื่อเพิ่มรสชาติแล้วบดกล้วย,เกลือและข้าวจ้าวให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว เมื่อถึงเวลาก็เอาไปป้อนลูกน้อยโดยใช้ช้อนชาเล็กๆ ตักเข้าปากทีละคำๆ พร้อมน้ำอุ่นที่ต้มสะอาดให้ดื่มด้วยวิธีเดียวกันเป็นระยะๆ จนอิ่มก็เป็นอันเสร็จพิธีของแต่ละมื้อแต่ละครั้ง
สำหรับรสชาติของอาหารวิเศษซึ่งก็คือกล้วยน้ำว้าบดข้าวนี่จะเป็นแบบไหนก็อย่างที่ผมบอกนั่นแหละครับว่าตอนนั้นคนกินยังเล็กเหลือเกินที่จะอธิบายถึงรสชาติของมันได้ แต่พอผมโตขึ้นมาได้นิดหนึ่งซึ่งพ่อกับแม่มีน้องเกิดตามมา หลายครั้งเหมือนกันที่ผมรับหน้าที่ปรุง “กล้วยน้ำว้าบดข้าว” ให้น้องพร้อมแอบ “แผ็บ” (คำร่ะยอง : ความหมายจะประมาณคำว่า “แอบกิน,กินเล่นๆ ไม่ถึงขนาดกินอิ่มอะไร ประมาณนี้ครับ) โอ้โฮ พูดแล้วจะหาว่าคุยครับท่านผู้ชม แหม่รสชาติงี้ “เอาได้” เลยทีเดียว ทั้งหอม ทั้งหวาน ทั้งนุ่มเจือไปด้วยรสเค็มปะแล่มๆ ของเกลือที่ใส่จนบางทีอด “แผ็บ” เป็นครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้ ฮ่ะๆๆๆ ซึ่งพี่น้องท้องเดียวกับผมที่มี ๗ คนล้วนเติบโตมาจาก “กล้วยน้ำว้าบดข้าว” ด้วยกันทั้งนั้น
หันกลับมาสมัยนี้ “กล้วยน้ำว้าบดข้าว” นี่ยังจะหลงเหลืออยู่ในประเทศเราบ้างหรือไม่ผมไม่ทราบแต่ที่บ้านเก่าผมเด็กๆ รุ่นใหม่ไม่เคยเห็นหรือรู้จักกันแล้ว นึกไปบางครั้งก็ใจหาย แต่ก็ว่าแหละความเจริญทางด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางโภชนาการที่เดินหน้าไปอย่างไม่หยุดนิ่งทำให้ทิ้งสิ่งที่ผ่านมากลับกลายเป็นอดีตไปอย่างไม่อาจหวนคืนได้อีก เฮ้อ แลน่าเสียดายเหลือเกิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น