กล้าละเมิดกฎหมายในยุคคสช.? : โลกตำรวจ ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ความไม่ยุติธรรมกลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงกันมากในสังคมปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีข้อถกเถียงมากมายที่มีการตั้งคำถามย้อนกลับว่า
ความยุติธรรมคืออะไร ?
หรือแม้แต่ ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้จริงหรือ ภายใต้การปกครองของทหาร ?
“ความยุติธรรม” เป็นความคิดเชิงนามธรรมที่แปรเปลี่ยนไปตามการให้นิยามความหมายของผู้คนแต่ละคน แต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน รวมถึงการให้ความหมายของผู้ที่อำนาจ มีบทบาท หน้าที่ หรือสถานะชนชั้นทางสังคมที่แตกต่างกันด้วย ใช่หรือไม่ ?
หากลองทบทวนปรากฏการณ์ความขัดแย้ง เพ่งโทษระหว่างกันที่เกิดขึ้นบนถนนสาธารณะในสังคมไทยในวิถีการใช้รถใช้ถนน เพื่ออธิบายการรับรู้ความยุติธรรมและการต่อต้านขัดขืนที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยให้ชัดเจนมากขึ้น ภายใต้การบริหารประเทศของผู้นำทางการทหารที่มีอำนาจในการบริหารจัดการทุกส่วนของสังคมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากกว่าการปกครองประเทศในภาวะปกติ
ชวนตั้งคำถามว่า
การละเมิดกฎหมายจราจรอย่างย่ามใจ และการชาชินต่อการละเมิดกฎหมายจราจรของผู้คนในสังคมไทยทุกเพศ ทุกวัยนานหลายทศวรรษ สะท้อนภาพสังคมไทยอย่างไร ?
การละเมิดกฎหมายจราจรอย่างย่ามใจ และการชาชินต่อการละเมิดกฎหมายจราจรของผู้คนในสังคมไทยทุกเพศ ทุกวัยนานหลายทศวรรษ สะท้อนภาพสังคมไทยอย่างไร ?
คนไทยเชื่อมั่น เคารพ กฎ กติกา และการดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งการเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น จริงหรือไม่ ?
พฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายจราจรที่เห็นจนชาชินในลักษณะจอดรถในที่ห้ามจอด จอดรถบนทางเท้า ขับรถบนทางเท้า เลี้ยวหรือเปลี่ยนช่องทางเดินรถโดยไม่ให้สัญญาณไฟ ขับรถย้อนศร แข่งรถในทางสาธารณะ ขับรถด้วยความเร็วจนก่อให้เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย และน่าอเนจอนาถโดยไร้การให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้อย่างจริงจัง จริงใจและมีการแก้ไขที่ถูกต้อง ชัดเจนและยั่งยืนนั้นเป็นเพราะอะไร ?
พฤติกรรมที่น่าละอายในลักษณะดังกล่าวกลายเป็นเรื่องปกติ หรือแค่เรื่องเล็กๆ ที่อภัยกันได้? เพราะอะไร ?
การกระทำเช่นนี้เปรียบเทียบได้กับการฉกฉวย แย่งชิงทรัพยากรและโอกาสของคนอื่นๆ ที่ใช้ทางสาธารณะร่วมกัน และเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัว การไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น
ใช่หรือไม่ ?
เมื่อหันกลับมาทบทวนทัศนะเรื่องความยุติธรรมที่เกริ่นนำไว้ในตอนต้นจึงอาจอธิบายได้โดยการให้นิยามความหมายบนรากฐานเรื่องอรรถประโยชน์(Utility)ในแง่คุณธรรมสำคัญที่นำมาหรือจำเป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์สุขในสังคมที่สรุปได้ว่า ความยุติธรรมเป็นการพยายามที่จะกำหนดการแจกจ่าย หรือ แบ่งปัน(Distribution)เพื่อให้ผู้คนในสังคมได้รับสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างเหมาะสมตามความต้องการของตนเองและผู้อื่นจนก่อให้เกิดความสุขร่วมกัน ลดความขัดแย้ง ลดการแย่งชิงจนส่งผลให้สังคมวุ่นวาย ปั่นป่วน ไม่ปลอดภัย
กฎหมายจราจรเป็นตัวอย่างหนึ่งของการกำหนดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และวิธีการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การคมนาคมขนส่งในการใช้รถใช้ถนนเป็นไปอย่างปลอดภัย มีความสะดวกและเกิดความเรียบร้อยในสังคมบนหลักการความยุติธรรมในการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน
หากผู้บริหารประเทศ หรือ ผู้กำหนดนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังคงปล่อยให้การปฏิบัติตามกฎหมายจราจรเป็นเพียงแค่เรื่องเล็กๆ ที่สามารถประนีประนอมยอมยกประโยชน์ให้แก่จำเลยอยู่ต่อไปดังเช่นที่ผ่านมา
ความกล้าที่จะฝ่าฝืนกฎหมายในลักษณะอื่นๆจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย ไม่ยุติเพียงแค่การฝ่าฝืนกฎหมายจราจรแต่เพียงเท่านั้น เช่น การใช้ทรัพยากรของรัฐไปในทางที่มิชอบ การยักยอกทรัพย์สินของราชการ การฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะของการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยไม่รับผิดชอบต่อสาธารณะ หรือผู้อื่น
นี่คือ การก่อร่างวิถีวัฒนธรรมการเอารัดเอาเปรียบผู้คนในสังคมส่วนรวมที่ขัดต่อหลักการบริหารรัฐกิจที่ดีที่หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถยุติหรือกำจัดออกไปเพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยดำรงชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมาย กฎระเบียบ กติกาของสังคม จะสามารถมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าจะเป็นหนทางในนำไปสู่ความผาสุกของสังคมที่ทุกคนปรารถนาได้อย่างแท้จริง
เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญและสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ผู้บริหารประเทศยุคนี้
ยุคคืนความสุขให้ประชาชน ?
.....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น