วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

www.lostcar.go.th แกะรอยรถหาย (๓ มีนาคม ๒๕๕๖)

www.lostcar.go.th แกะรอย...รถหาย : สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. ฐานะผู้อำนวยการ ศปจร.ตร. โดยพัฐอร พิจารณ์โสภณ


"โจรกรรมรถ" ยังเป็นหนามยอกของตำรวจไทย ซึ่งไม่ง่ายนักที่จะติดตามรถกลับมาคืนเจ้าของในสภาพเดิมได้ หรือแทบหมดหวังที่จะได้รถคืน และยิ่งปัจจุบันยอดซื้อ-ขายรถเพิ่มขึ้นสิบเท่าตัว โอกาสที่รถจะถูกโจรกรรมก็ย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ล่าสุด พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. ฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (ศปจร.ตร.) เตรียมปัดฝุ่นโครงการ Lost Car และสายด่วน 1599 ขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมเสริมเขี้ยวเล็บด้วยนวัตกรรมใหม่ "ดีเอ็นเอรถ" เพื่อสืบหารถถูกโจรกรรม แม้ว่าจะถูกแยกชิ้นส่วนแล้วก็ตาม!!



-มาตรการเชิงรุก ป้องกันการโจรกรรมรถ
 
ตอนนี้มีการปัดฝุ่น www.lostcar.go.th ขึ้นมา จากที่ผมเคยได้รับผิดชอบเมื่อครั้งยังเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.เมื่อปี 2552 ที่มีแนวคิดเน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาใช้กับระบบการบริหารจัดการข้อมูล ข่าวสารในการป้องกันปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงาน เมื่อมีเหตุรถหายสามารถแจ้งความและนำไปสู่การสกัดจับ ติดตามจับกุมได้อย่างรวดเร็ว และเจ้าของรถหรือผู้เสียหายสามารถติดตามข้อมูลรถหายได้ในเว็บไซต์นี้

เว็บไซต์นี้ก็ทำงานร่วมกับสายด่วน 1599 ในอดีตเวลามีรถหายเบอร์แรกที่นึกถึงคือ 191 แต่เมื่อโทรแล้วเขาก็แจ้งสกัดจับให้ไม่ได้ เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าเป็นเจ้าของรถจริงหรือไม่ หรือโทรมาสนุกสนานเฮฮา หรือไปแจ้งความที่โรงพัก กว่าจะตรวจสอบได้ว่าจริงไหมก็ไม่ทันท่วงที กว่าจะเสร็จรถถึงชายแดน หรือไปถึงอู่ต่างจังหวัดก็ชำแหละเป็นชิ้นๆ แล้ว

- การทำงานของ Lost Car และสายด่วน 1599 เป็นอย่างไร

จะใช้ลักษณะการทำงานเหมือนศูนย์ 1599 ในอดีตที่ตั้งไว้ที่กองบังคับการปราบปราม เมื่อมีสายโทรเข้ามายัง 1599 สมมุติว่า "น.ส.เอ" โทรเข้ามาแจ้งความว่ารถยี่ห้อนี้ สีนี้ หายที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เมื่อเวลานี้ เจ้าหน้าที่คนที่ 1 จะรับและสอบถามข้อมูลเบื้องต้นว่าผู้แจ้งชื่อ-นามสกุลอะไร วันเกิด ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน

ขณะที่เจ้าหน้าที่คนที่ 2 จะรับฟังข้อมูลพร้อมทั้งพิมพ์ข้อมูลที่ได้รับในขณะนั้นตรวจสอบลงบนระบบทะเบียนราษฎรทันที ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ และเจ้าหน้าที่คนที่ 3 ก็จะตรวจสอบฐานข้อมูลของกรมการขนส่ง ว่ารถที่แจ้งหายนั้นใครเป็นเจ้าของ ใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที สามารถยืนยันการมีตัวตน ว่าไม่มีการกลั่นแกล้งได้แล้ว ก็จะกระจายข้อมูลไปยังทุกหน่วย ทุกด่าน ทุกจุดให้มีการสกัดจับอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งได้ประสานขอความร่วมมือจาก จส.100 วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน สวพ.91 สมาคมและชมรมรถรับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) และมูลนิธิต่างๆ ในการกระจายข้อมูลเกี่ยวกับรถหายเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสกัดจับคนร้าย เท่ากับว่าเรามีตำรวจเต็มถนนไปหมด เมื่อผู้เสียหายแจ้งรถหายที่ 1599 แล้วก็ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ถ้ายังไม่เจอก็สามารถเข้าไปตรวจสอบว่าพนักงานสอบสวนมีการบันทึกข้อมูลลงใน www.lostcar.go.th หรือไม่ ถ้าหากไม่มีก็สามารถร้องทุกข์ไปที่ผู้บังคับบัญชาได้เช่นกัน

- เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ที่จะนำมาใช้

ยังไม่ขอบอกว่าเป็นอะไร เพราะเดี๋ยวโจรจะรู้หมดว่าตำรวจจะทำอะไร ส่วนทางกองปราบฯ ก็ร่วมกับภาคเอกชน ในเบื้องต้นทราบว่าเป็นนวัตกรรมที่ใช้สารเคมีพ่นไปบนตัวถังรถ ถ้ารถคันนั้นถูกขโมยไปหรือแยกชิ้นส่วน ก็สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นรถของเรา ในเบื้องต้นเป็นสารเคมีที่พิสูจน์ทราบถึงข้อมูลว่าเลขตัวถังอะไร สามารถพิสูจน์ทราบได้ เป็น "ดีเอ็นเอรถ" ใช้สิ่งที่เคลือบไว้กับรถแล้วล้างไม่ออก หรือสามารถเอามาพิสูจน์ทราบว่าเป็นรถของใคร

- มีการดึงประชาชนและเอกชนมาร่วมเป็นหูเป็นตาอย่างไร

เมื่อมีการแจ้งผ่านวิทยุ คนที่ฟังวิทยุไม่ใช่เฉพาะแท็กซี่แต่เป็นชาวบ้านด้วย อย่างน้อยที่สุดเป็นการสร้างแนวร่วมจากภาคประชาชน เราสร้างหูตาขึ้นมาบนท้องถนนเต็มไปหมด หรือชาวบ้านเห็นรถต้องสงสัย หรือรถที่มาจอดนานแล้ว ก็สามารถเข้าไปเช็กไว้ในเว็บไซต์ว่ามีการแจ้งหายไว้ไหม หรือจะซื้อรถตามเต็นท์รถ ก็สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นรถที่แจ้งหายไว้หรือไม่ 

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการสัมมนาร่วมกันในเรื่องนี้ ผมเชิญภาคเอกชนที่ทำเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไฟแนนซ์ลิซซิ่ง รถเช่าให้เขามาฟัง พอเราคิดจะทำต้องสอดคล้องกับเขา ว่ามีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำได้หรือเปล่า เช่น จะเชื่อมลิงค์ www.lostcar.go.th กับหน่วยงานอื่นๆ อย่างรายการวิทยุ เวลามีรถหาย มีข้อความปรากฏเราก็จะมีเครื่องให้ช่วยอ่านประกาศ ให้พี่น้องประชาชนกรุณาช่วยสังเกตรถยี่ห้อนี้สีนี้ ที่วิ่งอยู่บริเวณนี้ด้วย เพราะมีแจ้งหายเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมา จากที่เราโทรศัพท์ไปบอกก็เป็นการแจ้งเตือนที่หน้าจอทันที

- ติดอาวุธให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างไร

ผมเอาปัญหาในอดีตมา จากศูนย์ในอดีตที่มีชุดเฉพาะกิจ เอาตำรวจจากโรงพักต่างๆ มารวมตัวกันแต่หน้างานอื่นเขาก็มี แต่ในปัจจุบันศูนย์นี้มีทุกกองบัญชาการ ทุกกองกำกับในโรงพัก แนวความคิดผมคือเมื่อมีการแจ้งจับแล้ว ก็มีการพัฒนาความรู้เขา ติดอาวุธทางปัญญาให้เขา ปัจจุบันให้เขาอยู่ที่เดิม แต่พัฒนาความรู้เขา และก็แจ้งให้เร็ว เอาชาวบ้านมาช่วย ขณะเดียวกันสอนให้เขารู้ การตรวจ วิธีพิสูจน์ทราบ เทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการทำงานเขา โดย "คู่มือการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถ พ.ศ.2553" ที่เคยแจกจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าอบรมหลักสูตรสารวัตร ไว้นั้นจะมีรายละเอียดบอกข้อมูลการตรวจและสังเกตรถที่ผิดกฎหมาย การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล และการปลอมเอกสารหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับรถ

ตอนนี้ ผมกลับมารับผิดชอบศูนย์นี้อีกครั้ง จะจัดทำคู่มือเล่มนี้ใหม่อีกครั้ง แต่จะมีการอัพเดตให้ทันสมัยขึ้นในระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ รวมทั้งกฎหมาย หรือเล่ห์เหลี่ยมคนร้าย เสริมประสบการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ในด้านนี้ลงไปด้วย พนักงานสอบสวนก็เรียนรู้จากเล่มนี้ นับหนึ่งจากรถหาย รถไม่มีเจ้าของ จนรถขายทอดตลาด รวมทั้งแบบฟอร์มต่างๆ ที่ต้องใช้

-สถานการณ์รถหายในปัจจุบันเพิ่มขึ้นหรือลดลง

สถิติรถหายมันไม่มีลดหรอก เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวของประชากร ทำให้มีรถมากขึ้น ประกอบกับในตลาดต่างประเทศมีความต้องการมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีคนนิยมซื้ออะไหล่ในราคาที่ถูก จึงมีคนลักรถไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน หรือนำมาแยกชิ้นส่วนขายเป็นอะไหล่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

- รูปแบบการโจรกรรมที่พบบ่อยที่สุด
 
ก็มีทั้งสองแบบคือเอาไปเป็นคัน กับการชำแหละ ซึ่งแล้วแต่กลุ่มว่าแบบไหน ขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วย ส่วนการเปลี่ยนสีรถ เปลี่ยนป้ายมีผลต่อการจับกุมค่อนข้างเยอะ และเมื่อรถเยอะ มีการตั้งด่านคนที่ไม่ผิดก็จะไม่พอใจ หาว่าตั้งรีดไถ แต่คนที่รถหายก็จะบอกว่าไม่มีด่านเลย ไม่เห็นออกมาสกัดเลย

- รถที่ถูกโจรกรรมแล้วติดตามกลับมาได้ยากที่สุด

คงเป็นมอเตอร์ไซค์เพราะว่าชำแหละเร็วมาก  และในประเทศไทยมอเตอร์ไซค์เยอะมาก โดยเฉพาะยี่ห้อฮอนด้า ซูซูกิ ยามาฮ่า ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคล จะเป็นยี่ห้อฮิตติดตลาด อย่าง โตโยต้า ฮอนด้า ถ้ารถกระบะก็จะเป็นยี่ห้ออีซูซุ ซึ่งการเคลื่อนย้ายรถที่ถูกโจรกรรมมาพวกนี้จะมี "ส่วนล่วงหน้า" ว่ามีด่านหรืออะไรข้างหน้าหรือไม่ ส่วนเส้นทางลักลอบจะใช้เส้นทางตามแนวชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีทั้งผ่านด่านผ่านแดนที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย แต่ที่ระบาดตอนนี้คือมีเจ้าของรถทำประกันภัยและนำรถไปขายเสียเอง คือการขับรถข้ามไปขายแล้วก็เดินข้ามกลับมา

-ข้อแนะนำในการป้องกันรถหาย
 
ต้องไม่จอดรถในที่ที่เสี่ยงหรือไม่ปลอดภัยต่อการโจรกรรม ไม่เปิดโอกาสให้โจรมีจังหวะลงมือได้ ควรจะมีการติดสัญญาณกันขโมย กุญแจรถ หรือจีพีเอส ที่ช่วยไม่ให้คนร้ายสามารถลงมือดำเนินการได้สะดวก หรือทำได้ยากขึ้น ต้องป้องกันรถตัวเองในระดับหนึ่ง ถ้าผมเป็นโจร รถล็อกกับรถไม่ล็อกก็ต้องเลือกรถที่ไม่ล็อก เวลาเกิดเหตุตำรวจไปตามจับบางทีรถก็เละไปหมดแล้ว สู้เราป้องกันเสียแต่แรกดีกว่า หรือถ้ารถหายแล้วก็ต้องไปแจ้งความตามปกติ เป็นกระบวนการทางกฎหมาย แต่แจ้งที่ 1599 ก่อน เพื่อให้เกิดการสกัดจับอย่างรวดเร็ว เป็นการบริการให้เกิดการสกัดจับอย่างรวดเร็ว และเข้าไปติดตามที่หลังที่ www.lostcar.go.th ได้ ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบการทำงานของตำรวจไปในตัวด้วย ซึ่งเราต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาเพื่อให้คนร้ายอยู่ในสังคมไม่ได้
  
(หมายเหตุ : www.lostcar.go.th แกะรอย...รถหาย : สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. ฐานะผู้อำนวยการ ศปจร.ตร. โดยพัฐอร พิจารณ์โสภณ) 

ที่มา : http://goo.gl/RHwNc

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น