วันนี้วันเสาร์ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีขาล รัตนโกสินทรศก ๒๓๐ ตรงกับวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ วันหยุดพักผ่อนรวมถึงเป็นวันทำงานของหลายๆ คน ขอให้มีความสุข สนุกสนานไม่ีว่าจะได้หยุดพักผ่อนหรือทำงานก็ตามโดยทั่วหน้ากัน และที่ลืมไม่ได้เลยวันพรุ่งนี้ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ท่านที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.อย่าลืมไปใช้สิทธิ์ด้วยนะครับ
วันนี้จะขอนำเรื่องเกี่ยวกับตำรวจอีกเรื่อง ๑ มาเล่ามาบอกกันเหมือนเดิมเพราะหลายๆ คนสอบถามไปทางช่อง Comment ในข้อเขียนของผมนั่นก็คือคำว่า "หมวด หมู่ ผู้กอง" มาจากไหน ผมตอบข้อสงสัยนี้ไปบ้างแล้วแต่คิดว่าน่าจะนำมาเขียนไว้ในอีกบันทึกหนึ่งจะดีกว่าเพราะบางคนอาจจะไม่ได้อ่าน comment เหล่านั้น น่าสนใจดีเหมือนกันนะครับผมว่า
โม้แล้วเราก็มาว่ากันต่อ แต่ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนนะครับว่าคำว่า "หมวด หมู่ ผู้กอง" นี่เป็นภาษาปากหรือคำที่ใช้พูดกันทั่วๆ ไปไม่ใช่คำที่กำหนดไว้ในระเบียบ โดยตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้งตำรวจนั้นเราได้กำหนดตำแหน่งต่างๆ ไว้ว่าตำรวจชั้นยศไหนมีตำแหน่งอะไร หน้าที่มีแบบไหนซึ่งก็เหมือนกับปัจจุบันนี้แต่จะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งไปบ้างตามยุคตามสมัย สมัยก่อนตำรวจเรากำหนดตำแหน่งที่น่าสนใจไว้ดังนี้ (ผมจะพูดเฉพาะแต่ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับคำสามคำที่ผมจั่วหัวเรื่องไว้นะครับ)
๑. สิบตำรวจตรี,สิบตำรวจโท,สิบตำรวจเอก ตำแหน่ง "ผู้บังคับหมู่"
๒. ร้อยตำรวจตรี,ร้อยตำรวจโท ตำแหน่ง "ผู้บังคับหมวด"
๓. ร้อยตำรวจโท,ร้อยตำรวจเอก ตำแหน่ง "ผู้บังคับกอง" หรือ "ผู้บังคับกองร้อย" ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "ผู้บังคับกอง" หรือ "ผู้บังคับกองร้อย" ได้นั้นจะต้องมียศร้อยตำรวจโทเสียก่อนแล้วต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งถึงจะได้ยศร้อยตำรวจเอกซึ่งใช้เวลาไม่นาน
ผมสอบถามผู้รู้รวมถึงอ่านข้อคิดข้อเขียนของหลายๆ ท่านได้กรุณาให้ความกระจ่างว่านี่แหละคือที่มาของคำว่า "หมวด หมู่ ผู้กอง" นั่นเอง และเรื่องนี้ผมขออธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ อีกสักหน่อยดังนี้ครับคือจากชื่อตำแหน่งที่พูดถึงนี้หากไม่เรียกชื่อของตำรวจคนนั้นก็มักจะเรียกชื่อตำแหน่งแทน แต่คนไทยเรามักไม่ค่อยชอบพูดอะไรยาวๆ เลยกร่อนหรือลดจำนวนคำที่จะพูดลงมา เช่นแทนที่จะพูดคำว่า "ผู้บังคับหมู่" ก็จะพูดว่า "ผู้หมู่" หรือ "หมู่" ในส่วนของตำแหน่ง "ผู้บังคับหมวด" ซึ่งมียศร้อยตำรวจตรีและร้อยตำรวจโทเท่านั้น (ในสมัยก่อนนะครับ) เวลาพูดก็มักจะเรียกว่า "ผู้บังคับหมวด" แล้วกร่อนหรือลดคำลงไปเป็น "ผู้หมวด" หรือ "หมวด" และก็เช่นเดียวกันตำแหน่ง "ผู้บังคับกอง" หรือ "ผู้บังคับกองร้อย" ซึ่งแต่งตั้งจากตำรวจที่มียศร้อยตำรวจโทหลังจากได้แต่งตั้งแล้วก็จะมียศร้อยตำรวจเอกผู้คนในสมัยนั้นก็จะเรียก "ผู้บังคับกอง" แล้วกร่อนหรือลดคำลงไปเป็น "ผู้กอง" (แปลกนะไม่ยักเรียกเหลือคำเดียวว่า "กอง" เหมือนคำว่า "หมวด") การเรียกนี้ใช้กันมาเป็นเวลานานเวลาพูดก็จะพูดติดปากมาจนถึงปัจจุบันที่แม้จะเปลี่ยนแปลงยศและตำแหน่งเป็นอย่างอื่นแล้วก็ตามก็ยังใช้คำเหล่านี้ติดปากกันอยู่ไม่เว้นแม้ในวงการตำรวจด้วยกัน
สำหรับตำรวจยศอื่นๆ เช่น จ่าสิบตำรวจ,ดาบตำรวจ,พันตำรวจตรีขึ้นไปมักจะเรียกตามตำแหน่งเช่น สารวัตร,รองผู้กำกับ,ผู้บัญชาการ เป็นต้น (ดูรายละเ้อียดเพิ่มเติมได้ที่นี่)
หวังว่าคงจะสร้างความกระจ่างแก่หลายๆ ท่านพอสมควรเรื่องที่มาที่ไปของคำว่า "หมวด หมู่ ผู้กอง" ที่ผมนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้
เพิ่มเติมอีกนิด ๑ จากภาพประกอบท่านสังเกตไหมครับว่าตำรวจ (หล่อๆ ซึ่งภาพเหล่านี้เป็นตำรวจเมืองพานทั้งหมด แหม คนอะไรหล่อซะไม่มีเชียวนะ ฮา) บางคนติดสายอะไรนะสีแดงๆ ที่บ่าซ้ายน่ะ เอ้อ น่าสนใจเหมือนกันนะ สายนี้ตามระเบียบเขาเรียกว่าสายยงยศ ใช้ประกอบสำหรับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เวรยาม เช่น เวรสายตรวจ,พนักงานสอบสวนหรือที่หลายๆ คนพูดติดปากกันว่าร้อยเวร ตามระเบียบของเราใครที่ปฏิบัติหน้าที่เวรยามเหล่านี้จะต้องติดสายยงยศนี้ถ้าไม่เข้าเวรหรือปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ต้องติด แล้วให้ท่านลองสังเกตดูอีกอย่างหนึ่งคือจะเห็นว่าบางคนติดสายเล็กนิดเดียว แต่บางคนติดสายใหญ่พอสมควร เอ๊ะ แล้วมันต่างกันอย่างไร ง่ายๆ ครับ ระเบียบของตำรวจเราบอกไว้ว่า (ขอใช้คำพูดง่ายๆ ก็แล้วกันศัพท์แสงทางวิชาการของด) ตำรวจที่มียศตั้งแต่สิบตำรวจเอกลงไป (สิบตำรวจเอก,สิบตำรวจโท,สิบตำรวจตรี,พลตำรวจ) ให้ติดสายยงยศอันเล็ก ส่วนผู้ที่ยศสูงกว่านั้น (ในทางปฏิบัติจะมีเพียงแค่ยศจ่าสิบตำรวจ,ดาบตำรวจ,ร้อยตำรวจตรี,ร้อยตำรวจโท,ร้อยตำรวจเอก,พันตำรวจตรี,พันตำรวจโท) ให้ติดสายยงยศอันใหญ่
ตำแหน่งผู้หมวดและผู้กอง ในปัจจุบันก็ยังมีอยู่นะครับ ตำแหน่งผู้บังคับหมวดเป็นตำแหน่งระดับเดียวกับรองสารวัตร โดยมียศตั้งแต่ ร.ต.ต. ร.ต.ท. และก็ ร.ต.อ. เรียกภาษาปากว่า "ผู้หมวด" ส่วนตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย ก็เป็นตำแหน่งระดับเดียวกับสารวัตร มียศตั้งแต่ ร.ต.อ. พ.ต.ต. และก็ พ.ต.ท. เรียกภาษาปากว่า "ผู้กอง" ตำรวจทั่วไป และคนจำนวนมากมักเรียกตำรวจยศ ร.ต.อ. ว่า "ผู้กอง" ซึ่งความจริงแล้วไม่น่าจะตรงกับความจริงตามระเบียบกฎหมาย
ตอบลบแล้ว ร.ต.อ. อบรมสารวัตรแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสารวัตร เรียกอะไรดี ตามความเหมาะสมและระเบียบ
ตอบลบ