วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556

ปภ.สรุป ๗ วันอันตรายดับ ๓๒๑ เจ็บ ๓,๐๔๐ ราย (๑๘ เมษายน ๒๕๕๖)

'ปภ.' สรุป ๗ วันอันตรายช่วงเทศกาลสงกรานต์ เสียชีวิต ๓๒๑ ราย เจ็บรวม ๓,๐๔๐ คน เกิดอุบัติเหตุ ๒,๘๒๘ ครั้ง ประจวบฯตายสูงสุด ๑๒ ราย สาเหตุหลักเมาแล้วขับ
๑๘ เม.ย.๕๖ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๖ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ ๑๗ เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ สงกรานต์เป็นสุข ทุกคนปลอดภัย ร่วมใจรักษาวัฒนธรรมเกิดอุบัติเหตุ ๒๔๗ ครั้ง (ปี ๒๕๕๕ เกิด ๒๕๗ ครั้ง) ลดลง ๑๐ ครั้ง ร้อยละ ๓.๘๙ ผู้เสียชีวิต ๓๖ ราย (ปี ๒๕๕๕ เสียชีวิต ๓๘ ราย) ลดลง ๒ ราย ร้อยละ ๕.๒๖ ผู้บาดเจ็บ ๒๕๗ คน (ปี ๒๕๕๕ บาดเจ็บ ๒๖๑ คน) ลดลง ๔ คน ร้อยละ ๑.๕๓ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ ๑๓ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ ลำปาง และอำนาจเจริญ ๓ ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ๑๕ คน

พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวต่อว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนช่วงรณรงค์ สงกรานต์เป็นสุข ทุกคนปลอดภัย ร่วมใจรักษาวัฒนธรรมรวม ๗ วัน ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๗ เมษายน ๒๕๕๖ เกิดอุบัติเหตุรวม ๒,๘๒๘ ครั้ง (ปี ๒๕๕๕ เกิด ๓,๑๒๙ ครั้ง) ลดลง ๓๐๑ ครั้ง ร้อยละ ๙.๖๒ ผู้เสียชีวิตรวม ๓๒๑ ราย (ปี ๒๕๕๕ เสียชีวิต ๓๒๐ ราย) เพิ่มขึ้น ๑ ราย ร้อยละ ๐.๓๑ ผู้บาดเจ็บรวม ๓,๐๔๐ คน (ปี ๒๕๕๕ บาดเจ็บ ๓,๓๒๐ คน) ลดลง ๒๘๐ คน ร้อยละ ๘.๔๓ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ ๓๙.๑๑ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ ๒๓.๕๙ ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ ๗๘.๗๑ รถปิคอัพ ร้อยละ ๑๑.๘๐ พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ ๒๑.๖๐ ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ ๖๔.๙๒ บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ ๓๗.๘๗ ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ ๓๖.๖๗

พล.ต.ท.ชัชจ์ กล่าวอีกว่า ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา ๑๖.๐๑ - ๒๐.๐๐ น. ร้อยละ ๓๓.๐๓ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ ๕๖.๗๐ ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก ๒,๓๕๔ จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ๖๙,๓๖๙ คน เรียกตรวจยานพาหนะ ๔,๖๘๖,๙๖๒ คัน โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย ๒๓๒,๖๐๐ ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ ๒๒๒,๖๐๑ ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือตายเป็นศูนย์ จำนวน ๕ จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ตราด ปัตตานี ภูเก็ต และระนอง อำเภอที่ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือตายเป็นศูนย์ จำนวน ๖๗๓ อำเภอ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ๑๐๔ ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ๑๒ ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ๑๑๐ คน

พล.ต.ท.ชัจจ์ กล่าวด้วยว่า จากสถิติอุบัติเหตทางถนน พบว่าจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุและผู้จำนวนผู้บาดเจ็บลดลง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยการเมาแล้วขับยังคงเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด และยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่อุบัติเหตุเกิดบนถนนทางหลวงแผ่นดิน และกลุ่มวัยแรงงานเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้นำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนมาวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยง และกำหนดแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปกติและช่วงเทศกาลให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา พร้อมทั้งผลักดันกลไกการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับมาตรการทางสังคมให้เข้มข้นเพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความรู้และปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะด้านวินัยจราจร และบูรณาการทุกภาคส่วนปฏิบัติการลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น และต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้การลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ

"ถือว่าพอใจเพราะสถิติอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บลด แต่ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ รายจากวันแรกที่เกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก แต่การจัดโซนนิ่งและจำกัดพื้นที่เล่นน้ำก็ได้ผล ซึ่งมาตราการมาถูกทางจากปี ๒๕๔๖ ตั้งแต่มีการตั้งศูนย์ฯครั้งแรก ก็มียอดอุบัติเหตุลดลงทุกปี แต่ปีนี้จะพยายามต่อโดยใช้มาตรการที่มีอยู่ในการปรับแผน ต้องคิดว่าถึงเวลารณรงค์ให้สวมหมวกกันน็อค เริ่มจากอำเภอเมืองทุกแห่ง" พล.ต.ท.ชัชจ์ กล่าว


(ซ้ายมือคือเลขที่ออกส่งท้ายสงกรานต์ปี ๒๕๕๕ ครับ)



เชียงใหม่ -๗ วันอันตราย ตาย ๘ เจ็บ ๑๑๐ ราย

นายคมสัน  สุวรรณอัมพา ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ สรุปผลการเกิดอุบัติเหตุในช่วง ๗ วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ เกิดอุบัติเหตุจำนวน ๑๐๔ ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๕ ร้อยละ ๑๗ ซึ่งมีการเกิดอุบัติเหตุ จำนวน ๘๗ ครั้ง ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ในปี ๒๕๕๖ จำนวน ๑๑๐ ราย เป็นชาย ๘๕ ราย หญิง ๒๕ ราย เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๕  ที่มีผู้บาดเจ็บ จำนวน ๙๕ ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ๑๕ และเป็นจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดของประเทศ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในปี ๒๕๕๖ จำนวน ๘ ราย ลดลดจากปี ๒๕๕๕ ที่มีผู้เสียชีวิต ๙ ราย ลดลงร้อยละ ๑

ขณะเดียวกันในวันที่ ๑๗ เม.ย.มีการเกิดอุบัติเหตุ จำนวน ๑๐ ครั้ง บาดเจ็บ ๑๕ ราย เป็นชาย ๑๐ ราย หญิง ๕ ราย และมีผู้เสียชีวิต ๑ ราย เกิดจากคนขับหลับใน ทำให้รถพุ่งชนต้นไม้ในพื้นที่ อ.ฮอด ถนนสายฮอด - แม่สะเรียง  และพบว่าอำเภอสะเมิงและสันกำแพง มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ๒ ครั้ง รองลงมาคืออำเภอเมือง แม่ริม สันทราย หางดง ฮอด และไชยปราการ จำนวน ๑ ครั้ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย และหลับใน คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๖๗ และรถจักรยานยนต์ มีการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด คิดเป็นร้อยละ ๖๐ และช่วงเวลาที่มีการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในช่วงเวลา ๑๒.๐๑ -๑๖.๐๐ น.

นายคมสัน กล่าวว่า ส่วนมาตรการการเรียกตรวจตามมาตรการ ๓ ม ๒ ข ๑ ร มีการเรียกตรวจจำนวน ๔,๔๐๕ คัน พบการกระทำความผิด และดำเนินคดี จำนวน ๑,๒๑๒ ราย คิดเป็นร้อยละ ๒๗.๕ และพบการกระทำความผิดมากสุด คือการไม่สวมหมวกนิรภัย จำนวน ๔๓๓ คดี คิดเป็นร้อยละ ๓๕.๗๓  รองลงมาคือการไม่มีใบขับขี่ จำนวน ๓๘๔ ครั้ง คิดเป็นร้อยละ ๓๑.๖๘ และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จำนวน ๑๗๙ ครั้ง คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๗๗

พิษณุโลก- ๗ วันอันตราย พิษณุโลกตาย ๗

นายบุญยิ่ง คุ้มสุพรรณ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก สรุปถึงภาพรวม การเฝ้าระวังอันตรายลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์จ.พิษณุโลก ประจำปี ๒๕๕๖ ที่จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการตั้งจุดตรวจ จุดบริการประชาชน และเฝ้าระวังเพื่อลดอุบัติเหตุระหว่างวันที่ ๑๑-๑๗ เมษายน ๒๕๕๖ ผลการเฝ้าระวังพบว่า สงกรานต์ปี ๒๕๕๖ จังหวัดพิษณุโลก มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวน ๗ ราย เป็นชาย ๖ ราย หญิง ๑ ราย สาเหตุหลักมาจากเมาแล้วขับและขับรถเร็ว เพิ่มขึ้นจากสงกรานต์ปี ๒๕๕๕ ที่จ.พิษณุโลกมีผู้เสียชีวิต ๕ ราย

ขณะที่ภาพรวมของการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้บาดเจ็บนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดี จำนวนการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์จ.พิษณุโลกปี ๒๕๕๖ เกิดจำนวน ๖๙ ครั้ง ลดลงจากปี ๒๕๕๕ จำนวน ๑๐ ครั้ง ขณะที่ยอดของผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่ ๖๔ ราย ลดลงจากปี ๒๕๕๕ จำนวน ๑๗ ราย

นายบุญยิ่ง กล่าวอีกว่า ถือว่าผลการดำเนินการเฝ้าระวังลดอุบัติเหตุเป็นไปตามเป้าหมาย จำนวนการเกิดอุบัติเหตุลดลง แม้ว่ายอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การรณรงค์เรื่องเมาแล้วขับยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้เสียชีวิตยังมาจากสาเหตุเมาแล้วขับจำนวนมาก นอกจากนี้ การเฝ้าระวังในรถโดยสารสาธารณะถือว่าใช้ได้ สงกรานต์ปีนี้พิษณุโลกไม่มีอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ ด้วยการเฝ้าระวังจากทุกภาคส่วนในการตรวจวัดแอลกอฮอล์คนขับรถและผู้บริการบนรถโดยสาสาธารณะ

สงขลา - ๗ วันอันตรายสงขลา เกิดอุบัติเหตุ ๖๑ ครั้ง เจ็บ ๖๐ ตาย ๙

นายมนัส ศิริรัตน์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๕๖ จังหวัดสงขลา ได้มีการตั้งจุดตรวจหลักบูรณาการ รวม ๓๓ จุด ในพื้นที่ ๑๖ อำเภอ ซึ่งเมื่อวานนี้(๑๗เม.ย.๕๖) เป็นวันสุดท้ายของการปฏิบัติการ ได้เกิดอุบัติเหตุทางถนน รวม ๕ ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ ๕ คน และไม่มีผู้เสียชีวิต เกิดอุบัติเหตุที่ อ.หาดใหญ่ อ.เมือง อ.นาทวี อ.สทิงพระ อ.รัตภูมิ อำเภอละ ๑ ครั้ง

ทำให้การรณรงค์สัญจรปลอดภัยสงกรานต์ ปี ๒๕๕๖ ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๗ เมษายน ๒๕๕๖ จ.สงขลา เกิดอุบัติเหตุรวม ๖๑ ครั้ง บาดเจ็บ ๖๐ คน และมีผู้เสียชีวิต ๙ คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่แล้ว ในปีนี้(๒๕๕๖) เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ๘ ครั้ง คิดเป็นร้อยละ๑๕.๑๐ ผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น ๑ คน คิดเป็นร้อยละ๑.๖๙ และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ๗ ราย คิดเป็นร้อยละ ๓

สำหรับสาเหตุและพฤติกรรมเสี่ยงของการบาดเจ็บ และเสียชีวิตมากที่สุด คือ การขับรถเร็วเกินกำหนด รองลงมา คือ การเมาสุรา และมอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย เกิดอุบัติเหตุกับรถจักรยานยนต์มากที่สุด รองลงมา คือ รถปิคอัพ และรถเก๋ง

นอกจากนี้ทางศูนย์ฯได้มีการเรียกตรวจพาหนะ จำนวน ๕๖,๗๘๐ คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือ ไม่มีใบขับขี่ จำนวน ๒,๑๖๔ รายการ รองลงมาคือ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จำนวน ๒,๐๗๓ ราย และในข้อหาไม่สวมหมวกนิรภัย จำนวน ๑,๘๐๘ ราย

ที่มา : http://goo.gl/c7TyN

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น