วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

ฝึกอบรม “โครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน” (๑๙-๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔)

เมื่อวันที่ ๑๙-๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔ ผมเดินทางเข้าร่วมรับการฝึกอบรม โครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้อำนวยการวิทยุชุมชน,ผู้ดำเนินรายการและเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุชุมชนในเขตพื้นที่ ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบนประมาณ ๕๐๐ คน





การอบรมครั้งนี้คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

๑. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนซึ่งเป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน
๒. เพื่อปรับปรุงรูปแบบและวิธีการดำเนินงานเกี่ยวกับวิทยุกระจายเสียงชุมชนในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านเนื้อหา การบริหารจัดการ การผลิต การสร้างสรรค์ เทคนิคต่างๆ การใช้เสียงและภาษา รวมถึงการมีส่วนร่วมในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะของสื่อมวลชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

หลักสูตรในการฝึกอบรมมีจำนวน ๑๗ ชั่วโมงดังนี้

๑. หมวดความรู้พื้นฐานและความรู้ด้านรายการวิทยุชุมชน (๘ ชั่วโมง) ประกอบด้วย
๑) รัฐธรรมนูญกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลและสื่อมวลชน

ศึกษาเนื้อหาและแนวคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญกับสิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร การแสดงความคิดเห็น การรับรู้ข่าวสาร และหลักการเกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะและชุมชนท้องถิ่นที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องรวมตลอดถึงหลักการของวิทยุชุมชน

๒) วิทยุชุมชนเพื่อการพัฒนา

ศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการ บทบาทและความสำคัญของวิทยุชุมชนในการสนับสนุนกิจการสาธารณะ ความมั่นคงของชาติ ศิลปะ วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนท้องถิ่น
๓) การบริหารจัดการวิทยุชุมชน

ศึกษาโครงสร้างการจัดองค์กร รูปแบบการบริหาร การจัดทำผังรายการ เทคนิคการจัดรายการรูปแบบต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรง การจัดหาและการจัดการทางการเงิน การพัฒนาบุคลากร การเปิดช่องทางให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวิทยุชุมชน

๔) การผลิตรายการวิทยุชุมชน

ศึกษาการผลิตรายการข่าวในชุมชน การเขียนข่าว สารคดี รายการพิเศษ รายการด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน รายการบันเทิงรูปแบบต่างๆ รายการนิตยสารทางอากาศ และรายการเพื่อการศึกษา รวมถึงสปอตรณรงค์และประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ

๕) การเขียนเชิงสร้างสรรค์

ศึกษาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ฝึกการถ่ายทอดแนวความคิดออกมาในรูปแบบของการเขียนบทวิทยุกระจายเสียงประเภทต่างๆ โดยการใช้ภาษาสำหรับสื่อวิทยุกระจายเสียงเพื่อการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๖) การใช้ภาษาไทย

เป็นการสอนการใช้หลักภาษาไทย ไวยากรณ์ไทยสำหรับสื่อมวลชน

๒. หมวดความรู้ด้านกฎหมายและจริยธรรม จริยธรรมกับกฎหมายสื่อสารมวลชน (๑๓ ชั่วโมง)

ศึกษาเนื้อหาและแนวคิดเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม กฎหมายสื่อสารมวลชน ข้อกำหนด จรรยาบรรณของสื่อ การดูแลกันเองของผู้ประกอบการสื่อ รวมตลอดถึงหลักการความรับผิดชอบของสื่อต่อสังคม

๓. หมวดความรู้ด้านเทคนิค เทคนิคและเทคโนโลยีในการจัดการวิทยุชุมชน (๓ ชั่วโมง)

แนะนำให้รู้จักกับเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญและจำเป็นในการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชน ความรู้และเทคนิคในการใช้อุปกรณ์แต่ละชนิด รวมตลอดถึงข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุญาตและการใช้อุปกรณ์

๔. สัมมนาวิทยุชุมชน (๓ ชั่วโมง)

อภิปรายและเปิดเวทีสาธารณะให้มีการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความรู้ ถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ในการดำเนินงานวิทยุชุมชนโดยมีกรณีศึกษาหรือกรณีตัวอย่างที่เป็นต้นแบบการดำเนินงานวิทยุชุมชนมาเป็นผู้เปิดประเด็น เพื่อหาข้อสรุปและแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น