การสื่อสารให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องถึงเหตุจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจควบคุมฝูงชนนอกเหนือจากจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เหล่าบรรดาตำรวจชั้นผู้น้อยที่เดินทางไกลมาจากสถานีตำรวจต่างๆทั่วประเทศเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่อยู่บนท้องถนนท่ามกลางความรู้สึกโกรธแค้นชิงชังทั้งๆ ที่ตำรวจมิใช่คู่กรณีของความขัดแย้งที่แท้จริงของประชาชนแล้วนั้นยังเป็นการทำให้อัตลักษณ์และภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจในสายตาประชาชนเป็นไปอย่างถูกต้องมิได้บิดเบือนอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเข้าใจที่ผิดพลาด
ด้วยบทบาทหน้าที่และวินัยทำให้ตำรวจไม่มีสิทธิเลือกข้าง ถึงแม้ว่าตำรวจจะเป็นมนุษย์ปุถุชนเช่นเดียวกับคนอื่นๆ นี่คือความจริงที่ทุกฝ่ายปฏิเสธไม่ได้ถึงแม้ว่าตำรวจอาจจะมีความเห็นไม่แตกต่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมตำรวจก็ไม่สามารถแสดงปฏิบัติการทางสังคมได้เช่นเดียวกับผู้ชุมนุมไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุมฝ่ายใดก็ตาม เพราะบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของตำรวจในยามนี้คือต้องพยายามรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมไว้ให้ได้มากที่สุด ต้องรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยมิให้มีการใช้ความรุนแรงให้ได้มากที่สุด
ลูกแก้วและหัวนอตที่ถูกยิงมายังตำรวจด้วยหนังสติ๊กนั้น ผู้กระทำการอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บมีความรู้สึก มีความคิดเห็นเหมือนหรือแตกต่างจากพวกเขา ผู้กระทำการอาจจะโกรธแค้น ชิงชังที่ถูกขัดขวาง ถูกทัดทาน ถูกห้ามปรามมิให้กระทำการในสิ่งที่ขัดกับกฎหมายที่ประกาศใช้ในพื้นที่ควบคุม นั้น(ถึงแม้ว่าจะเป็นการกล่าวอ้างของผู้มีอำนาจว่าเพื่อเป็นไปเพื่อรักษา ความสงบเรียบร้อยหรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม)
ลองคิดดูเถิดว่าหากบริเวณพื้นที่แห่งความขัดแย้งนั้นไม่มีตำรวจทำหน้าที่อยู่เลยจะเกิดอะไรขึ้น? หากตำรวจปล่อยให้คู่ของความขัดแย้งต่างสามารถแสดงความรู้สึกและปฏิบัติการต่างๆ ได้อย่างเสรี โดยที่ไม่มีตำรวจทำหน้าที่เป็นตัวกลางเป็นกันชนแล้วนั้น อะไรจะเกิดขึ้น?
แท้ที่จริงแล้วเหล่าบรรดาตำรวจชั้นผู้น้อยเหล่านี้ต่างก็มีสถานะที่ไม่แตกต่างจากแท่นคอนกรีตที่ถูกนำมาวางกั้นไว้บนถนนเพื่อทำหน้าที่เป็นกันชนเพียงแต่กันชนเหล่านี้เป็นกลุ่มมนุษย์ที่เลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจ มีอารมณ์ความรู้สึก มีลูก มีเมีย มีพ่อแม่ครอบครัวที่ต้องดูแลไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ ในสังคมเช่นเดียวกัน
“ผมพูดไม่ได้" นี่คือเสียงของตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้ที่มีนาจ
“พวกผมไม่ใช่สีไหน แต่ชุดที่ใส่คือกากีสีของแผ่นดิน
ทุกสิ่งที่ทำล้วนเป็นหน้าที่ แต่จะมีสักกี่คนจะเข้าใจ
พวกท่านมาเพราะสิทธิ พวกผมมาเพราะหน้าที่
พวกท่านต่อว่า ปาสิ่งของ พวกผมยืนมองไม่ยอมตอบโต้
พวกท่านยุติแล้วกลับบ้าน พวกผมต้องกลับทำงานตามหน้าที่...”
ตำรวจจากสถานีตำรวจต่างๆ ถูกเรียกให้มาปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยโดยให้หมุนเปลี่ยนเวียนกัน มาปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมฝูงชนโดยแบ่งกลุ่มกันเป็นกองร้อยตามที่จัดไว้ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจตามห้วงเวลาก็จะต้องกลับไปปฏิบัติงานซึ่งเป็นงานประจำที่คั่งค้างอยู่และถูกกำกับ ติดตาม ตรวจสอบอย่างเข้มงวด พวกเขาซึ่งเป็นตำรวจผู้น้อยเหล่านี้ไม่ได้หยุดพักอย่างที่ควรจะเป็น (แม้กระทั่งทหารเมื่อกลับมาจากประจำการยังได้พักโดยไม่ต้องทำงานในห้วงเวลาที่พักแต่สำหรับตำรวจมิได้เป็นเช่นนั้น) หากจะมองว่าการเหนื่อยยากลำบากกายเป็นสิ่งที่ตำรวจพึงต้องอดทนก็อาจจะสามารถมองเช่นนั้นได้ แต่หากมองให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความลำบากกายนี้ดำรงอยู่คู่กับปัญหาภาระงานในหน้าที่ที่ผูกโยงกับภัยอาชญากรรมในสังคมด้วยก็จะเห็นว่าตำรวจผู้ปฏิบัติงานมีภาระที่หนักหน่วงและสุดท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือประชาชนนั่นเอง
การแก้ไขและป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ที่เกิดขึ้นในห้วงสถานการณ์ที่สังคมไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองกลายเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญหลังภารกิจควบคุมฝูงชน?
อำนาจแผ่ซ่านในบริบททุนนิยม
ไพร่พลตำรวจมดงานต่างตกอยู่ภายใต้กลไกของอำนาจและวินัยดั่งที่ฟูโกว่าไว้
อีกทั้งอำนาจที่เข้ากดทับ จับจ้องและควบคุมเหล่าไพร่พลตำรวจมดงาน
ก็ยากที่จะต่อต้าน ขัดขืน...
จึงขอเชิญชวนให้ช่วยเป่านกหวีดเพื่อทำให้องค์กรตำรวจได้มีโอกาสเป็นองค์กรของประชาชนอย่างแท้จริงด้วยเถิด!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น