วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตำรวจทำร้ายประชาชน? : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖)

อัตลักษณ์ความเป็นคนไทยในอดีตคือรอยยิ้มและความเป็นมิตรค่อยๆ ถูกกลืนกลายอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิถีของความขัดแย้งเปลี่ยนแปลง การต่อสู้ทางการเมืองที่มีการแบ่งขั้วแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ชัดเจนมากขึ้น จนทำให้ดูเหมือนว่าคนไทยนิยมความรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา

ความรุนแรงไม่สามารถยุติลงได้ด้วยการใช้ความรุนแรงโต้ตอบนี้ หรือที่กล่าวว่าที่ใดมีการใช้ความรุนแรงที่นั่นย่อมมีการต่อต้านนี่คือองค์ความรู้ที่ถูกพิสูจน์ตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยยังไม่มีข้อโต้แย้งใดที่จะสามารถลบล้างข้อเสนอขององค์ความรู้ดังกล่าวได้

การชุมนุมประท้วงของประชาชนแต่ละกลุ่มที่นับวันจะมีรูปแบบและวิธีการที่พยายามกดดันผู้มีอำนาจเพื่อให้ยอมตามข้อเสนอของกลุ่มตนนั้นมีระดับการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น โดยการกดดันนั้นแสดงออกด้วยมาตรการของการใช้ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ไม่มีส่วนร่วมชุมนุมด้วยแต่ประการใด เช่น ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป ชาวบ้านหรือผู้ประกอบการที่อาศัยอยู่ในย่านที่มีการชุมนุมประท้วง เป็นต้น เมื่อชาวบ้านประชาชนที่มิได้มีส่วนร่วมกับผู้ชุมนุมได้รับผลกระทบ ได้รับความเดือดร้อนย่อมเกิดความไม่พึงพอใจ ต่อต้าน และพยายามหาวิธีการในการใช้ความรุนแรงในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดโต้ตอบ

หากตำรวจปล่อยให้คนในสังคมใช้ความรุนแรงในการโต้ตอบระหว่างกันสังคมก็จะเกิดความแตกแยก ปั่นป่วน ไม่สงบสุขและส่งผลให้ความรุนแรงดำรงอยู่ และขยายวงแผ่ซ่านมากขึ้น

นี่คือที่มาของความจำเป็นในการต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำงานของตำรวจในด้านการทำหน้าที่ควบคุมฝูงชนเพื่อหวังผลลัพธ์ในการทำหน้าที่คือการทำให้คนในสังคมใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกันอย่างผาสุกโดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นผ่านการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของกลุ่มคนต่างๆในสังคมที่กำลังใช้ความรุนแรงต่อกัน

ตำรวจมีภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยการทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ต้องสามารถสร้างความไว้วางใจ(Trust)ของประชาชนให้เกิดขึ้นให้ได้ด้วย ไว้วางใจว่าตำรวจบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ตำรวจไม่ใช่เครื่องมือของใครหรือกลุ่มใด หากแต่ตำรวจทำหน้าที่เพื่อประโยชน์และความผาสุกของประชาชนโดยรวมและประเทศชาติ...ทำอย่างไรจึงจะให้ตำรวจถูกมองเช่นนั้น?

ผลการทำงานของตำรวจในด้านการควบคุมฝูงชนมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน สามารถควบคุมระดับการใช้ความรุนแรงต่อกัน สามารถลดการบาดเจ็บ การเสียชีวิตทั้งในส่วนตำรวจและประชาชนได้อย่างดีเยี่ยม มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการทำงานอย่างมืออาชีพและมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล (จนเกิดข้อสงสัยตามมาว่าจะทำอย่างไรให้ผลงานด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และยาเสพติดได้รับการสนับสนุนทรัพยากรต่างๆในการทำงานจนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นเดียวกับงานควบคุมฝูงชนบ้าง?) ทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธาว่า ตำรวจพยายามทำหน้าที่อย่างมืออาชีพนี้ก็เพื่อรักษาความสงบภายใน รักษาระดับของการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่ละกลุ่มให้ไม่ละเมิดและกระทบเบียดเบียนต่อกันเพื่อให้สังคมดำเนินต่อไปอย่างผาสุก

ตำรวจเป็นเครื่องมือของรัฐ! ปกป้องรัฐและทำร้ายประชาชน? การตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของตำรวจเป็นอย่างยิ่ง และการฝ่าด่านอคติเช่นนี้คือบทพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของตำรวจยุคนี้

ถ้าพี่น้องอดทนไม่ได้ เผลอใจเอาไม้ไล่ตีประชาชนเมื่อไหร่ นั่นแหล่ะคือความพ่ายแพ้ จงสำนึกไว้ว่าท่านต้องอดทน อดกลั้นให้มากที่สุด เมื่อเราคลี่คลายสถานการณ์ต่างๆ ได้ ประชาชนจะมั่นใจ พอใจ นี่คือการทำหน้าที่อย่างมีศักดิ์ศรีของตำรวจพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวแก่ประชาคมตำรวจ ก่อนที่จะยกตัวอย่างแง่คิดของขงจื้อที่กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้กองทัพประสบความสำเร็จคือ การมีกองทัพที่เข้มแข็ง การมีอาหารและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และการสร้างความชอบธรรมในการทำหน้าที่ แต่หากมีความขัดสน มีข้อจำกัดต้องตัดปัจจัยออกให้เหลือเพียงปัจจัยเดียวนั้น "การสร้างความชอบธรรมในการทำหน้าที่เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดที่ต้องเหลือไว้

ตำรวจต้องทำให้ประชาชนรับรู้ว่า การทำหน้าที่ของตำรวจนั้นมีความชอบธรรม!!และต้องใช้ความอดทน อดกลั้นให้มากที่สุด...ย้ำ อดทน อดกลั้น(เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปราณีต่อประชาชน อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก...)

"การเคลื่อนของผู้บังคับบัญชาคือพลังเสียงของผู้บังคับบัญชาคืออำนาจ" นั่นหมายความว่า การทำหน้าที่ของตำรวจนับพันที่เดินทางมาจากทั่วประเทศจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหากผู้บังคับบัญชาให้ความใส่ใจ ดูแล สั่งสอน ให้คำแนะนำให้ความรู้ในหลักยุทธวิธีที่ดี และกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ห่วงใยและเอื้ออาทร

เมื่อนึกถึงภาพรถบัสบรรทุกตำรวจบ้านนอกที่ล้วนมีอายุเลยวัยกลางคนมามากพอสมควร เดินทางมานานนับแรมวันแรมคืน ต่างที่ต่างถิ่นมาทำหน้าที่สำคัญในการเป็นกลุ่มคนกลางระหว่างความขัดแย้งของคนกลุ่มต่างๆโดยใช้ยุทธวิธีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง อดทน อดกลั้นและมีสติตลอดเวลาเพื่อมิให้เชื้อไฟแห่งความรุนแรงประทุมากขึ้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย

โจทย์ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้สังคมเชื่อว่า สิ่งที่ตำรวจทำคือความชอบธรรม และทำอย่างไรให้คนทำงานเกิดความเชื่อมั่นว่าจะไม่ตกอยู่ในภาวะ "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล”!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น