คำเรียกที่ดูหยาบคายรุนแรงและข้อสงสัยเกี่ยวกับความแตกแยกในกลุ่มตำรวจสร้างความหวั่นวิตกไม่น้อยสำหรับผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตำรวจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าใจบทบาทและความสำคัญของตำรวจในการป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดที่กระจายไปทั่วสังคมไทยยามนี้
แค่เพียงให้ตำรวจมีสติ มีความอดทน อดกลั้น
ใช้ปัญญาในการคิดวางแผนเพื่อควบคุมมิให้สถานการณ์รุนแรงจนถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมือง
เกิดภาวะโกลาหลและกระทำการที่ละเมิดกฎหมายนั้น
ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ยากยิ่งมากพออยู่แล้ว
แต่หากเหล่าบรรดาตำรวจด้วยกันเองกลับมีความแตกแยก
ขาดเอกภาพในการทำงานตามหน้าที่ด้วยนั้น
ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจตกต่ำมากยิ่งขึ้น
ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติ
แต่เมื่อสวมบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมถึงวินัยในการทำงานด้วยแล้วนั้น
การวางความเห็นที่แตกต่างลงและยอมรับนโยบายของผู้นำเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการทำงาน
ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมที่มีทิศทาง
มีเป้าหมายเดียวกันในการทำหน้าที่เป็นสิ่งที่ตำรวจทุกนายทุกระดับพึงกระทำ
นั่นหมายถึง ตำรวจทุกนายจำเป็นต้องมีความศรัทธาและเชื่อมั่นในผู้นำ
เชื่อมั่นและศรัทธาในผู้นำตำรวจ ซึ่งในขณะนี้คือ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว
มิใช่ผู้นำทางการเมือง ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงนั้น
ประชาชนจำเป็นต้องยอมรับความจริงที่น่าหดหู่ใจและมีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนด้วยก็คือ
ความก้าวหน้า ความมั่นคงในการทำงาน
รวมถึงความเป็นตัวตนของนายตำรวจส่วนใหญ่ล้วนมีที่มาจากการสนับสนุนส่งเสริมอุปถัมภ์ค้ำจุนเกี่ยวข้องกับผู้นำหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(เรียกสั้นๆ ว่านักการเมือง) ก็ตาม
เมื่อเป็นเช่นนี้
ย่อมส่งผลให้ความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองที่มุ่งหวังช่วงชิงอำนาจอย่างรุนแรงในยามนี้
ส่งผลปลุกเร้าความพยายามในการต่อต้านต่อรองของตำรวจบางนาย
บางกลุ่มที่ได้ชื่อว่าเติบโตมาจากการอุปถัมภ์ของการเมืองต่างกลุ่มที่แสดงปฏิกิริยาอย่างชัดเจนในการโค่นล้ม
แย่งชิงอำนาจให้กลับมาเป็นของฝ่ายตนพวกตนมากขึ้นยิ่งกว่าในห้วงเวลาที่การเมืองนิ่งหรือในยามที่พรรคการเมืองใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
การขาดเอกภาพในการทำงานของตำรวจ
การเป็นปฏิปักษ์ที่รุนแรงมากขึ้นจนถึงระดับที่กล้าแสดงภาวะปฏิปักษ์ให้ปรากฏบนโลกออนไลน์นั้น
เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความล้มเหลวของระบบบริหารงานบุคคลของตำรวจไทยที่ดำรงอยู่บนวิถีการคอร์รัปชั่นอันเป็นผลมาจากความผิดพลาดในการผลักให้องค์กรตำรวจตกอยู่ภายใต้การบริหารงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี...ความล้มเหลวในการบริหารงานตำรวจจึงเป็นประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม
มิใช่เป็นปัญหาระดับปัจเจกบุคคล!!
ตราบใดที่ระบบการบริหารราชการของตำรวจไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
การทำหน้าที่ในการรักษาความมั่นคง รักษาความสงบภายในจึงจำเป็นต้องเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม
อีกทั้งบทบาทที่สำคัญของตำรวจคือการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ
กฎหมายการพิจารณาคดีความทางอาญา พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีทางอาญา
เป็นต้น ด้วยโครงสร้าง หน้าที่เช่นนี้จึงกำกับทิศทางในการทำงานให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้โดยไม่สามารถที่จะปฏิบัตินอกลู่นอกทางตามความคิดเห็นของแต่ละบุคคลได้ตามอิสระ
ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วนั้น
อาจจะมีตำรวจจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับโครงสร้าง หน้าที่ ข้อปฏิบัติต่างๆ
ก็ตาม แต่ในเมื่อกฎ ระเบียบ ข้อบังคับในการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้
ตามกฎหมายยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนั้น
ตำรวจผู้ซึ่งมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายจึงจำเป็นต้องเป็นกลุ่มบุคลที่ต้องมีวินัยในการปฏิบัติตามกฎหมาย
ตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของวินัยตำรวจอย่างเคร่งครัด มิสามารถปฏิบัติเป็นอื่นได้
หากทำความเข้าใจถึงที่มาของระบบการบริหารงานตำรวจเช่นนี้
จึงเป็นการไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งที่จะสรุปเหมารวมว่าการที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการรักษาสถานที่ราชการต่างๆ
การรักษาความปลอดภัย การบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้ความรุนแรงหรือกระทำการที่ผิดกฎหมายต่างๆ
นั้นแสดงว่า เป็นตำรวจที่ไม่อยู่ข้างประชาชน
และยิ่งไม่ยุติธรรมและเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจแก่ไพร่พลตำรวจผู้ปฏิบัติงานอย่างทุ่มเทด้วยความเหนื่อยยากเมื่อถูกใช้สรรพนามคำเรียกที่หยาบคายดังเช่นคำว่า
"ขี้ข้า...” เพราะหากจะใช้คำนี้ด้วยเหตุผลว่า
ตำรวจทำงานใกล้ชิดสนองนโยบายรัฐบาลแล้วนั้น ก็หมายความว่า
ตำรวจก็ต้องตกเป็นขี้ข้า...อยู่ร่ำไป
ถ้าโครงสร้างและวัฒนธรรมตำรวจในสังคมไทยและระบบการเมืองไทยยังอยู่ในสถานะเช่นนี้
ถึงแม้ว่าจะถูกทำให้เจ็บช้ำน้ำใจด้วยคำเรียกที่หยาบคายอันเป็นผลมาจากอคตินั้น
รูปธรรมที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ
สังคมไทยมีความจำเป็นต้องเรียกใช้ตำรวจ...ในรูปแบบตำรวจมืออาชีพ ไม่ใช่เพียงแค่
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแต่เพียงเท่านั้น!!
ดังนั้นการทำร้ายทำลายกันด้วยอคติจึงไม่ใช่วิถีที่สร้างสรรค์แต่ประการใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามนี้ที่พบว่าขวัญและกำลังใจของตำรวจตกต่ำลงอย่างมาก
เพราะนอกจากผลกระทบที่มาจากการปฏิบัติหน้าที่ในบริบทของความขัดแย้งทางการเมืองแล้วนั้น
ยังมีข่าว(ลับ)ว่าผู้บริหารตำรวจระดับกองบัญชาการมีโควตาสำหรับการแต่งตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาให้ก้าวหน้าขึ้นในแต่ละระดับเพียงระดับละ
๑ ตำแหน่งเท่านั้น
นอกนั้นผู้มีอำนาจเบื้องบนได้ยึดไว้หมดแล้ว!!
ในเมื่อเป็นเช่นนี้
ความแตกแยกในองค์กรตำรวจจะไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร? ถึงเวลาแล้ว
ทีใครก็ทีมัน!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น