วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ตำรวจวอนขอ...อย่าย่ำยี : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗)

"ตำรวจโดนรุมด่า แต่ทำไมคนด่าตำรวจกลับได้รับการชื่นชม" นายตำรวจตั้งคำถามให้ดิฉันตอบ

การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศห้ามนักวิชาการและบุคคลหรือกลุ่มบุคคลวิพากษ์ วิจารณ์ คสช.นั้น แสดงให้เห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์นั้นมิได้มีแต่มิติของการให้คุณประโยชน์ หากแต่ยังมีมิติในส่วนของกล่าวโทษให้ร้าย จะเป็นไปโดยเจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือถึงแม้ว่าการให้ร้ายนั้น อาจจะมีความจริงอยู่บ้างส่วนหนึ่งก็ตาม หากแต่นักวิจารณ์ หรือนักวิชาการที่ดีพึงตระหนักและสำนึกเสมอว่า ถึงแม้จะเป็นไปด้วยเจตนาที่ดี แต่หากข้อวิพากษ์วิจารณ์นั้นส่งผลกระทบเชิงลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบต่อภาพลักษณ์หรืออัตลักษณ์องค์กรด้วยแล้วนั้น ยิ่งจำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้สติ ใช้สำนึกที่ดีต่อการแสดงความเห็น หรือการนำเสนอผลการวิจัย หรือการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนั้นๆ เป็นอย่างยิ่ง อย่างเช่น การนำเสนอผลการสำรวจของสำนักโพลล์ต่างๆ ที่ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบหยาบๆ เพียงเพื่อต้องการเร่งนำเสนอผลการสำรวจอย่างรวดเร็วหวังเกาะกระแสสังคม พึงยุติ ละเว้นเสีย เพราะไม่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การทำให้บุคลากรในองค์กรเสียขวัญและกำลังใจในการทำงาน

ผลโพลล์เผย คนต้องการให้ คสช.ปฏิรูปวงการตำรวจแก้รับส่วย-สินบนข้อความจั่วหัวที่สร้างความสนใจต่อผู้อ่านไม่น้อย แต่จะมีใครสักกี่คนที่สังเกตว่า โพลล์นี้ใช้กลุ่มตัวอย่างเพียง ๑,๒๓๙ คน มิใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปตำรวจ เพียงแต่อยากจะแสดงให้สังคมเข้าใจว่า คนอ่านไม่ได้สนใจคำว่าปฏิรูปตำรวจหรอก แต่คำตอกย้ำตีตราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า "รับส่วย รับสินบน" นั่นต่างหากที่กลายเป็นประเด็นที่สร้างความสนใจต่อการนำเสนอและสร้างความเสียหายต่อความเชื่อถือศรัทธาที่เกินกว่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หากแต่จะมีใครตั้งคำถามต่อวงการวิชาการประเภทนี้หรือไม่ว่า ใช้หลักการวิชาการข้อไหนที่ใช้กลุ่มตัวอย่าง ๑,๒๓๙ คนแทนคนไทย?

ถ้าตั้งคำถามว่า "คนไทยอยากให้ คสช.ปฏิรูปวงการการศึกษา ปฏิรูปมหาวิทยาลัย ปฏิรูปอาจารย์มหาวิทยาลัย ปฏิรูปผู้ว่าฯ ปฏิรูปสาธารณสุขบ้างล่ะ ท่านคิดว่าคนจะตอบเช่นเดียวกับปฏิรูปตำรวจหรือไม่!!!

ไม่ต้องทำการสำรวจให้เสียเวลา โดยปกติแล้ววงการวิชาการจะไม่สำรวจวิจัยในสิ่งที่มีคำตอบอยู่แล้วและไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น มิใช่เฉพาะองค์กรตำรวจเท่านั้นที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงพัฒนา หากทว่าทุกองค์กรล้วนจำเป็นต้องปรับปรุงพัฒนาด้วยกันทั้งสิ้น การสื่อสารด้วยวิธีใดๆ รูปแบบใดๆ ก็ตามในเชิงลบ โดยมิได้สะท้อนให้เห็นเจตนาในการสนับสนุนช่วยเหลือหรือช่วยคิดหาแนวทางในการพัฒนาองค์กรเหล่านั้นเลยจึงไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง

มิใช่เข้าข้างตำรวจ หากแต่การศึกษาวิจัยวัฒนธรรมองค์กรตำรวจมากว่าทศวรรษ ทำให้มั่นใจในความเข้าใจที่มีต่อปัญหาและสาเหตุแห่งปัญหาที่ปรากฏอยู่ในโลกของตำรวจไม่น้อยกว่าวิธีการสำรวจในรูปแบบต่างๆ ที่นักวิชาการบางส่วนนิยมใช้ระเบียบวิธีวิจัยหาข้อมูลแบบผิวเผินเพื่อนำเสนออย่างรวดเร็วสร้างกระแส

ขอขอบคุณ คสช. แทนคนไทยที่พยายามแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลในโลกของตำรวจ ซึ่งเป็นที่รู้กันเป็นอย่างดียิ่งว่า ล้มเหลว เละเทะ เป็นอย่างมากตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการถูกแทรกแซงจากการเมืองทุกยุคทุกสมัย (ขอย้ำอีกครั้งว่าทุกยุคทุกสมัย) ประกาศ คสช. ที่เปิดโอกาสให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนต่อไป แทนนายกรัฐมนตรีอย่างที่เคยเป็นมา จึงนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ถึงแม้จะไม่อาจมั่นใจได้ว่า ถ้าหากนายกรัฐมนตรีไม่สามารถรับชื่อที่ ผบ.ตร.จะเสนอได้และไม่ยอมเปิดประชุมแล้วนั้น ประเทศไทยจะต้องตกอยู่ในภาวะไร้ ผบ.ตร.อย่างเช่นที่เคยเป็นมาหรือไม่? อย่างไร? ถึงแม้ว่าจะมีข้อสงสัยว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีจะต้องมาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ด้วย ในเมื่อเป็นประธาน ก.ต.ช.แล้ว เนื่องจาก ก.ตร.มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจและจัดระบบราชการตำรวจ...ต้องสอดคล้องกับระเบียบแบบแผนและนโยบายของ ก.ต.ช. (คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ) และให้ ก.ตร.แจ้งการดำเนินการนั้นให้ ก.ต.ช.ทราบด้วยอยู่แล้ว

ถึงแม้จะเห็นว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ จำเป็นต้องมีข้อควรเพิ่มเติมหรือพัฒนาอยู่บ้าง แต่ก็นับได้ว่า เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ เพียงแต่ถ้าหากใช้ห้วงบริบทที่เหมาะสมเช่นนี้ (ที่หาได้ยากมาก) เพื่อให้การพัฒนามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นสาระสำคัญและมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจนั้น จะเกิดคุณูปการแก่วงการตำรวจและสังคมไทยไม่น้อย

นอกเหนือจากการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคลแล้วนั้น หาก คสช.ไม่แก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณควบคู่กันไป โดยยังปล่อยให้ "วัฒนธรรมสั่งแห้ง" ยังดำรงอยู่ในโลกของตำรวจต่อไปก็ไม่สามารถทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย เพราะตำรวจระดับปฏิบัติ เช่น สถานีตำรวจต่างๆ ยังคงต้องวิ่งเข้าหานายทุนเพื่อขอเงินด้วยวิธีต่างๆ มาทำงานสนองนโยบายแต่ไม่มีงบประมาณจัดสรรมาด้วย!!

คำพูดที่ว่า "เขาดูแลคุณเท่าไหร่?" สร้างความแสลงหัวใจ มิใช่เฉพาะแต่ประชาชนเท่านั้น หากแต่กรีดขั้วหัวใจของตำรวจเลยทีเดียว หากลองศึกษาวิจัยให้ลึกซึ้งจะพบว่า ที่มานั้นเกิดจากระบบที่ไม่ดี หาใช่เป็นเรื่องเฉพาะตัวตำรวจ ซึ่งเป็นบุคคลแต่ละคนไม่ ดังนั้นโปรดอย่าย่ำยีองค์กรตำรวจ เพราะเราคงไม่อยากเห็นกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนเป็นกลุ่มคนที่เสียขวัญหมดกำลังใจ คนที่ขวัญเสียจะบำบัดทุกข์ให้คนอื่นได้อย่างไร?

กลไกการบริหารจัดการสุดท้ายที่ควรจะต้องมีอย่างยิ่ง คือ การประเมินผลงานแบบ ๓๖๐ องศา ทั้งภายในองค์กรตำรวจและโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย สิ่งสำคัญคือ ผู้นำตำรวจทุกระดับเมื่อได้รับอำนาจแล้วก็ควรจะได้รับการประเมินผลด้วยว่า นโยบาย ความสามารถและการบริหารงานของท่าน ของแท้ หรือว่า....จอมปลอม!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น