วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

อำนาจที่ไม่ชอบธรรมในโลกของตำรวจ : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๑๕ กันยายน ๒๕๕๖)

ความไม่เท่าเทียมทางสังคมโดยเฉพาะในเรื่องของความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและมีผลกระทบอย่างยิ่งกับคุณภาพชีวิตและวิถีชีวิตของคนในสังคมไทย


"อำนาจ" ถูกผูกโยงกับความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรและกระจุกอยู่กับกลุ่มคนบางคนจนอาจกล่าวได้ว่าอำนาจมักจะมาควบคู่กับผลประโยชน์เสมอๆ ด้วยเหตุนี้หากผู้มีอำนาจขาดสำนึกของผู้นำที่ดี หรือไม่มีคุณธรรมในการบริหารจัดการแล้วนั้น ผู้ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของอำนาจย่อมมีพฤติกรรมที่บิดเบี้ยวด้วยเช่นกันนอกเหนือจากอำนาจจะมาควบคู่กับผลประโยชน์แล้วนั้น อำนาจและผลประโยชน์ยังมาควบคู่กับการเมืองด้วย...สูตรสำเร็จคือ การเมือง...อำนาจ...และผลประโยชน์

ทำอย่างไรให้กลไกของการเมือง อำนาจ และผลประโยชน์ไม่รุกล้ำความยุติธรรมในสังคม? เพื่อมิให้แผ่นดินร้อนเป็นไฟ!! สังคมขาดความมั่นคง ขาดความสงบสุข

เมื่อหันหลังกลับมามองการกระทำของอำนาจที่มีต่อตำรวจที่ส่งผลต่อทั้งตำรวจเองและประชาชนแล้วนั้น

ตำรวจถูกครอบงำและแทรกแซงจากภาคการเมืองเป็นประเด็นที่ทุกคนยอมรับ(มานานมากแล้ว) ยอมรับโดยปราศจากการตั้งคำถามรวมถึงการยอมจำนนต่อการที่จะต่อสู้ ต่อต้าน ต่อรองที่จะออกจากการแทรกแซงดังกล่าว

ทั้งๆ ที่ตำรวจคือต้นธารของกระบวนการยุติธรรม และความยุติธรรมในสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยในบริบทที่สังคมไทยมีความขัดแย้งที่มีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดูแคลน และใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ฝ่ายตน พวกตนต้องการ

อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยในปัจจุบันกำลังเคลื่อนเข้าสู่สถานะของความไม่สงบ ความไม่มั่นคงภายใน โดยที่ความรุนแรงต่างๆ พร้อมที่จะคุกรุ่น ก่อตัวขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยมีเหตุปัจจัยหลักมาจากความขัดแย้งทางการเมืองและความไม่เชื่อมั่นในการบริหารงานของภาคการเมือง

สภาวะดังกล่าวส่งผลให้ตำรวจซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีหน้าที่โดยตรงในการรักษาความสงบภายในโดยมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อดำเนินการให้ความสงบในสังคมเกิดขึ้นให้จงได้ ซึ่งเป็นงานที่ยากมากสำหรับตำรวจ เนื่องจากตำรวจเองก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจและพันธนาการของการเมือง(อำนาจ และผลประโยชน์)เช่นกัน

ประชาชนจำนวนน้อยมากที่ตั้งคำถามต่อความไม่รู้ของตำรวจเกี่ยวกับข้อกฎหมาย แต่ประชาชนส่วนใหญ่มักตั้งคำถามว่าตำรวจใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อใคร? นี่คือภาพลักษณ์ของตำรวจที่ผู้นำตำรวจต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ

คำตอบที่มักตอบว่า "ตำรวจก็ตกอยู่ในสถานะนี้แหละในทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าพรรคใดจะเป็นรัฐบาลนั้น มิใช่คำที่พึงตอบ!!

และตำรวจก็ไม่จำเป็นต้องตอบว่าตำรวจทำเพื่อใคร? เพราะการกระทำของตำรวจที่ประชาชนมีประสบการณ์เป็นการตอบอย่างเป็นรูปธรรม เพียงแต่ประชาชนไม่สามารถล่วงรู้เบื้องเหตุที่มาของการ(จำต้อง)กระทำการเช่นนั้นของตำรวจ

เมื่อผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายขาดอิสระ? ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความเกลียดชังของประชาชนและความไม่ยอมรับต่อบทบาทการทำหน้าที่ของตำรวจ...อคติที่เพิ่มพูนตามเวลาที่ผ่านไป

หากมองในระดับโครงสร้างและวัฒนธรรมจะพบว่าการปล่อยให้ตำรวจต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะการบริหารจัดการของผู้มีอำนาจทางการเมืองที่สร้างความเข้มแข็งผ่านการบริหารจัดการในการให้คุณให้โทษในการทำงานแบบรวมศูนย์(เพียงคนคนเดียวหรือคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว) แล้วนั้นความเสื่อมที่เกิดมิใช่เกิดขึ้นเพียงภายในองค์กรตำรวจแต่เพียงเท่านั้น มิใช่กำลังพลตำรวจจะเสียขวัญและกำลังใจเนื่องจากระบบคุณธรรมในการทำงาน(คนดีได้ดี คนชั่วได้ชั่ว)ล้มเหลวเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลให้การทำหน้าที่ของตำรวจกลายเป็นกลไกที่สนับสนุนให้การใช้ความรุนแรงบนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ถึงแม้ว่าผู้บริหารงานตำรวจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นผู้นำที่มีความเพียรพยายาม มีความอุตสาหะในการทำงานอย่างเข้มแข็งและพยายามสร้างกลไกในการสั่งการและควบคุมการปฏิบัติงาน ตลอดจนพยายามที่จะพัฒนาศักยภาพของกำลังพลโดยการฝึกอบรม การให้คำชื่นชมต่อความสำเร็จเมื่อทำงานได้ตามเป้าหมายแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาระดับต่างๆ มากเพียงใดก็ตาม

หากแต่การกระทำดังกล่าวของผู้บริหารงานตำรวจก็จะกลายเป็นแค่เพียง "การทำหน้าที่เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นในบริบทของการบริหารงานที่ไม่ใช้ระบบบริหารงานตามหลักคุณธรรมในการทำงานเพียงเท่านั้น เพราะกระแสความรู้สึกของตำรวจในขณะนี้ยังคงเป็นไปในลักษณะของ "ผลงานและความก้าวหน้าเป็นคนละเรื่องกันถึงแม้จะต้องทำงานด้วยความเจ็บปวดกับอคติของประชาชนที่มีต่อการปฏิบัติหน้าอย่างอดทน อดกลั้นเพียงใดก็ตาม แต่ตำรวจมดงานต่างรู้ดีว่า

หากต้องการความก้าวหน้าจะต้องทำอะไร? ทำอย่างไร? ทำเพื่อใคร?

ที่มา : http://goo.gl/T2inRc


นรต.สุพจน์ มัจฉา
ชั้นปีที่ ๔ ถ่ายเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๒๖ ครับ หล่อมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น