วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562

กองจับโจรผู้ร้าย (๙ มิถุนายน ๒๕๖๒)

วันนี้วันอาทิตย์ที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ เป็นวันหยุดราชการที่พี่น้องส่วนใหญ่ได้หยุดพักผ่อนหย่อนใจซึ่งบางท่านอาจจะอยู่กับบ้าน ทำนั่นทำนี่ หรือบางท่านอาจจะใช้เวลาช่วงนี้เดินทางไปเที่ยวเปิดหูเปิดตากัน แต่จะอย่างไรก็ตามก็ขอให้พี่น้องมีความสุขกับวันหยุดนี้โดยทั่วกัน

สำหรับวันนี้ผมมีโอกาสหยุดกับเขาด้วยเลยไม่มีเรื่องราวในโรงพักมาเล่ามาบอก จึงขอนำเสนอเรื่องราวเก่าๆ ของตำรวจที่หลายคนคงไม่เคยได้ยินได้ฟังที่ไหนมาก่อนมาเล่าให้ฟังแทนโดยเรื่องที่จะเล่านั้นเป็นเรื่อง "กองจับโจรผู้ร้าย" ครับ

พี่น้องทั้งหลายครับ การที่หมู่ชนรวมกลุ่มอยู่กันเป็นจำนวนมากนั้นย่อมมีทั้งคนดีแลไม่ดีปะปนกันไปไม่ว่ายุคใดสมัยใด โชคดีอยู่อย่างที่คนไม่ดีมีน้อยกว่าคนดีมากมิฉะนั้นสังคมคงอยู่ไม่รอดจนถึงปัจจุบัน แล้วคนไม่ดีนี่ก็ต้องมีการลงโทษลงทัณฑ์กันตามโทษานุโทษแห่งการกระทำหรือแยกออกจากสังคมเสียชั่วระยะเวลาหนึ่งรวมถึงอาจต้องตัดออกจากสังคมไปเลยก็มีบ้างในบางครั้งหากเรื่องที่ไปก่อนั้นรุนแรงหรือสร้างความเสียหายแก่สังคมอย่างใหญ่หลวง เช่นตัดสินโทษให้จำคุก,ปรับ,ริบทรัพย์สิน หรือประหารชีวิต สำหรับหน้าที่กำราบปราบปรามจับกุมผู้ทำผิดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของตำรวจเสียมากกว่าแต่ก็มีอยู่บ้างที่บางยุคบางสมัยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นด้วยแต่ส่วนใหญ่จะเป็นตำรวจ

การทำงานของตำรวจทุกยุคทุกสมัยนอกจากจะทำงานตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้แล้ว บางครั้งอาจให้มีหน้าที่หรืองานบางอย่างเป็นการเฉพาะนอกเหนือจากหน้าที่ปกติตามสภาพการณ์ที่ปรากฏในยุคหรือห้วงนั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือท่านคงจะเคยได้ยินว่ามีการจัดตั้ง "ชุดเฉพาะกิจ" เรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาสำหรับทำหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว "ชุดเฉพาะกิจ" นั้นก็จะถูกยกเลิกไป ในยุคก่อนก็เช่นเดียวกันนั่นก็คือเรื่องที่ผมจะนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ "กองจับโจรผู้ร้าย" ซึ่งเกิดขึ้นสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕
เรื่องนี้มีข้อมูลปรากฏในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๓ หน้า ๑๗๙-๑๘๑ ซึ่งประกาศมาแต่ ณ วังอังคาร เดือนสิบ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีจออัฐศก ศักราช ๑๒๔๘ (ตรงกับวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๙,ผู้เขียน) สรุปใจความได้ว่าช่วงระยะเวลานั้นมีโจรผู้ร้ายชุกชุมขึ้นมากในกรุงเทพฯ ซึ่งทรงราชดำริว่าแต่ก่อนมานั้นหากทางการว่างเว้นการสืบสวนติดตามจับกุมปราบปรามผู้ร้ายซักระยะหนึ่งก็จะมีโจรผู้ร้ายออกปล้นสะดม ฉกชิงวิ่งราวประชาชนอยู่เสมอ แต่ถ้าเร่งรัดปราบปรามจับกุมโจรผู้ร้ายก็จะซาๆ ลงไป เป็นเช่นนี้ตลอดเสมอมา แล้วก็ช่วงนั้นเองที่ปรากฏว่ามีโจรผู้ร้ายชุกชุมและเกิดขึ้นถี่เป็นพิเศษ ประชาราษฎรของพระองค์เกิดความเดือดร้อนแสนสาหัสจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงหรือข้าราชการที่มีหน้าที่ออกติดตามปราบปรามจับกุมโจรผู้ร้ายมาดำเนินคดีทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองใกล้เคียง แต่พอออกปราบปรามจับกุมผู้ร้ายในหัวเมืองใกล้เคียงพวกนี้ก็หนีกลับมาในกรุงเทพฯ และก่อการกำเริบปล้นสะดมฉกชิงวิ่งราวประชาชนอีกสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ทีนี้ราษฎรที่ถูกปล้นฉกชิงวิ่งราวบางรายก็ต้องจับมีดจับปืนขึ้นต่อสู้เป็นการป้องกันทรัพย์สินและชีวิตของตนเอง แล้วก็มีบ้างที่บางครั้งอาจมีการพูดจาบอกกล่าวให้ผิดแผกแตกต่างไปจากที่ควรจะเป็น ลักษณะก็คือสร้างเรื่องให้ใหญ่โตผิดจากความจริงที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นที่หวาดหวั่นพรั่นพรึงแก่ผู้ไม่รู้ความจริงและประชาชนตกใจจนเกินเหตุ
เพื่อมิให้ราษฎรของพระองค์ท่านหวาดหวั่นพรั่นพรึงจนเกินไปรวมถึงมีพระราชประสงค์จะให้กำราบปราบปรามจับกุมโจรผู้ร้ายมาลงโทษตามกระบิลเมืองให้ได้มากที่สุดและเหตุการณ์สงบลงโดยเร็วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้ง "กองจับโจรผู้ร้าย" ขึ้นในกรุงเทพฯ จำนวน ๒๐ กองด้วยกัน โดยโปรดเกล้าฯ ให้จางวางเจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจในพระบรมมหาราชวังแลพระราชวังบวรรวมทั้งเจ้ากรมอาสาหกเหล่าบางนาย (กรมอาสาหกเหล่าเป็นอย่างไรผมจะสืบค้นข้อมูลมาเล่าให้ทราบภายหลัง) เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ "กองจับโจรผู้ร้าย" ทั้ง ๒๐ กองนี้ให้แบ่งไปทำหน้าที่ทางด้านตะวันตก,ตะวันออก,เหนือ และใต้ฝ่ายละ ๕ กอง มีหน้าที่สืบสวนสอดแนมจับตัวโจรผู้ร้ายปล้นสะดมฉกชิงฟันแทงทั่วกรุงเทพฯ (ในราชกิจจาฯ ใช้คำว่า "แขวงจังหวัดกรุงเทพฯ , ผู้เขียน) เพื่อเอาตัวมาทำโทษให้ได้โดยเร็ว ถ้าจับตัวโจรผู้ร้ายมาได้ก็ให้พิจารณาเอาความจริงว่ากระทำอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ หากเป็นจริงก็ต้องถูกลงโทษลงทัณฑ์ตามกระบิลเมืองและโทษานุโทษที่กระทำลงไป

เมื่อผมอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็รู้สึกปลื้มปีติยินดียิ่งที่เกิดมาเป็นคนไทยภายในพระบรมโพธิสมภารขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่คนไทยทุกคนล้วนประจักษ์ชัดแจ้งดีแล้วในความทรงมีพระเมตตากรุณาแก่พสกนิกรของพระองค์ท่านไม่ว่าจะในยุคใดสมัยใดตั้งแต่เรามีเมืองไทยซึ่งปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขมาจนถึงบัดนี้ เพราะในราชกิจจาฯ นี้มีตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า "ถ้ากองจับไปจับคนที่ไม่ได้เปนโจรผู้ร้ายกระทำการกดขี่คุมเหง (ข่มเหง,ผู้เขียน) ราษฎรซึ่งทำมาหากินโดยสุจริตประการใด ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งพระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการเปนกอมมิตตี (committee (กรรมการ,คณะกรรมการ,ผู้เขียน)) สำหรับรับเรื่องราวกล่าวโทษกองจับ ให้นั่งประชุมในพระบรมมหาราชวังกองหนึ่ง ถ้าผู้ใดจะกล่าวโทษกองจับว่ากดขี่คุมเหงผิดด้วยยุติธรรมประการใด ให้มายื่นเรื่องราวต่อที่ประชุมในพระบรมมหาราชวัง ให้นำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระแล้ว ให้กอมมิตตีเร่งพิจารณาตัดสินให้แล้วเสรจเพียงสามวันเจดวัน ถ้ากองจับไปทำการคุมเหงราษฎรที่ประพฤติโดยสุจริตจะลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ" นี่ครับ พวกเราจะเห็นถึงพระเมตตาที่เปี่ยมล้นด้วยความรักความผูกพันต่อพสกนิกรของพระองค์ท่านซี่งทุกพระองค์ได้ทรงปฏิบัติตลอดต่อเนื่องกันมาจวบจนถึงล้นเกล้าฯ รัชกาลปัจจุบัน

ทีนี้ก็ต้องมีบ้างครับที่คนซึ่งเป็นโจรผู้ร้ายจริงๆ กลั่นแกล้งกล่าวหาผู้จับว่าตนเองไม่ใช่คนร้ายหรือผู้กระทำผิดแต่กองจับกลั่นแกล้ง แล้วจะทำอย่างไร ในราชกิจจาฯ เรื่องเดียวกันนี้ระบุไว้ว่า "ถ้าผู้ร้ายมาแกล้งร้องแก้เกี้ยวเพื่อจะชักถ่วงหน่วงความให้ช้า จะได้ลงพระราชอาญาชั้นหนึ่ง แล้วให้พิจารณาความเดิมต่อไปให้แล้วโดยเร็ว" นี่ก็แสดงว่าหากมีการกระทำผิดจริงๆ แล้วผู้กระทำต้องได้รับพิจารณาโทษอย่างแน่นอนไม่มีทางเลี่ยงบาลีเป็นอย่างอื่นได้

ในราชกิจจาฯ ยังได้กำหนดถึงโจรผู้ร้าย,ผู้ที่รู้จักหรือให้แหล่งพำนักพักพิงแก่ผู้ร้ายไว้ด้วยโดยมีข้อความว่า "ถ้าผู้ใดได้ประพฤติเปนโจรผู้ร้าย ฤาได้รู้จักเปนเจ้าสำนักนิ์หลักแหล่ง ผู้รู้ตัวกลัวความผิดมาลุแก่โทษต่อกองจับ รับนำส่งพวกเพื่อนที่ได้ทำโจรกรรมด้วยกัน ก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานลดหย่อนผ่อนโทษให้ตามพระราชกำหนดกฎหมาย ผู้ใดเป็นเจ้าสำนักนิ์หลักแหล่งผู้ร้าย รู้เหนแล้วช่วยปิดบังโจรผู้ร้าย จะลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ ถ้าผู้ใดถูกโจรผู้ร้ายมาทำประการใดๆ ฤาทราบว่าโจรผู้ร้ายอยู่แห่งใดก็ให้มาแจ้งความต่อกองจับกองใดกองหนึ่งใน ๒๐ กองนี้ จะได้ไปคิดจับตัวโจรผู้ร้ายมาทำโทษเสียให้เข็ดหลาบ ให้ราษฎรเปนศุขทั่วกัน"

จะเห็นว่านอกจากจะกำหนดให้มี "กองจับโจรผู้ร้าย" เพื่อจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ยังให้ราษฎรผู้รู้แหล่งหลบซ่อนหรือรู้เห็นเป็นใจกับผู้ร้ายมาบอกมาแจ้งความหรือกลับเนื้อกลับตัวไม่กระทำผิดต่อไปแล้วก็จะได้รับการลดหย่อนผ่อนลงโทษตามส่วนอีกด้วย

ครับ นั่นก็คือประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งในเรื่องการจัดตั้ง "กองจับโจรผู้ร้าย" ของไทยเราในช่วงยุค ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา

หลายท่านอาจจะมีคำถามว่าเวลานี้หรือในยุคปัจจุบันวงการตำรวจของเรามี "กองจับโจรผู้ร้าย" หรือไม่ ถ้าจะตอบแบบกำปั้นทุบดินลักษณะคำต่อคำก็คงบอกว่า "ไม่มี" แต่หากพิจารณาเนื้อความถ้อยคำแล้วผมตอบได้เลยว่า "มี" มีแน่นอนครับ เอ้อ ที่ว่ามีน่ะมีแบบไหนกัน อ้า..ผมจะเฉลยให้ฟัง
ถ้าท่านย้อนไปอ่านตอนต้นๆ ของบทความนี้จะเห็นว่าผมเขียนคำคำหนึ่งไว้ว่า "ชุดเฉพาะกิจ" (เป็นอย่างไรลองย้อนอ่านดูอีกครั้งนะครับ) "ชุดเฉพาะกิจ" นี่แหละที่อาจะเปรียบเทียบกับคำว่า "กองจับโจรผู้ร้าย" ได้เป็นอย่างดี คือวงการตำรวจเราน่ะนอกจากงานปกติที่ทำกันทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว บางครั้งอาจจะมีเรื่องอะไรพิเศษซักอย่างหนึ่งซึ่งจะต้องระดมกำลังคน,กำลังสมอง,ความคิดสติปัญญาร่วมไม้ร่วมมือทำเพื่อให้งานนั้นบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายโดยเร็ว มีอยู่บ่อยๆ นะครับที่ท่านอาจเห็นตามสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ เช่นจัดตั้งชุดเฉพาะกิจติดตามจับกุม...ซึ่งเป็นคนร้ายฉกรรจ์มาลงโทษให้ได้ อะไรประมาณนี้นี่แหละ แล้วก็อีกอย่างที่พวกเราตำรวจะต้องทำทุกปี เอาเป็นว่าตั้งแต่ผมจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจและมารับราชการก็เจอเรื่องนี้จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่เลิกไปนั่นก็คือทุกๆ ฤดูแล้ง (ประมาณมีนา-เมษาช่วงนี้) ซึ่งเป็นช่วงที่พี่น้องส่วนใหญ่ว่างเว้นจากงานประจำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะกำหนดให้สถานีตำรวจทุกแห่งจัดทำแผนและปฏิบัติการในเรื่อง "แผนปราบปรามโจรผู้ร้ายฤดูแล้ง" ขึ้นมา เพราะช่วงนี้มักมีขโมยขโจรและการกระทำผิดเกิดขึ้นบ่อยกว่ายามปกติเพื่อมิให้ราษฎรหรือพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของคนร้าย ช่วงฤดูแล้งปีนี้ผมก็เข้าแผนนี่เหมือนกันและคิดว่าคงจะยังมีแผนนี้อยู่ตลอดไป ซึ่งนั่นก็เปรียบเสมือน "กองจับโจรผู้ร้าย" ในยุคล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่ผมนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้นั่นเอง

หวังว่าข้อเขียนของผมวันนี้คงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านทั้งหลายอยู่บ้างตามสมควร

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

สวัสดีครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น