วันนี้เวลาประมาณ ๑๔.๓๐ น.ผมเดินทางไปกราบนมัสการท่านพระครูนันทโชติธรรม เจ้าอาวาสวัดนาเซีย ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านนาเซีย ตำบลหมอเมือง อำเภอแม่จริมตามนโยบายการพบปะเยี่ยมเยียนชุมชนของ สภ.แม่จริม รวมถึงปรึกษาหารือกับพระคุณเจ้าทั้งในเรื่องหลักธรรมที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตำรวจ,ส่วนตัวและกิจกรรมที่ สภ.แม่จริมจะดำเนินการโดยวัดหรือพระสงฆ์เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ในส่วนของกิจกรรมที่ผมมาประสานท่านเจ้าอาวาสนั้นเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการตำรวจเข้าวัดซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ตำรวจของเรามีความรู้ความเข้าใจและน้อมนำหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติทั้งในหน้าที่ราชการและส่วนตัวให้มากยิ่งขึ้นซึ่งจะสามารถส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในภาพรวมของตำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสมตามเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชาระดับสูงและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนต่อไปซึ่งท่านเจ้าอาวาสได้มีเมตตาแจ้งว่าท่านพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับพวกเราในทุกโอกาสจึงขอกราบขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้เป็นอย่างสูงขอรับ
สำหรับหลักธรรมะที่พระคุณเจ้าได้มีเมตตาแสดงให้ผมฟังนั้นวันนี้เป็นเรื่องอิทธิบาท ๔ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึงสิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใดต้องทำตนให้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ
๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น
ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน
ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ตนถือว่าดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ ข้อนี้เป็นกำลังใจอันแรกที่ทำให้เกิดคุณธรรม ข้อต่อไปทุกข้อ
วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึงการการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอนเป็นระยะยาวจนประสบความสำเร็จ คำนี้มีความหมายของความกล้าหาญเจืออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง
จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้น ไปจากความรู้สึกของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์นั้นให้เด่นชัดอยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมายของคำว่าสมาธิอยู่ด้วยอย่างเต็มที่
วิมังสา หมายถึงความสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้ รวมความหมายของคำว่าปัญญาไว้อย่างเต็มที่
ขอกราบขอบพระคุณท่านพระครูนันทโชติธรรม เจ้าอาวาสวัดนาเซียซึ่งมีเมตตาต่อผมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่จริมในครั้งนี้เป็นอย่างสูงโดยผมจะนำหลักธรรมะที่ท่านมีเมตตาแสดงแก่ผมครั้งนี้ไปถ่ายทอดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในปกครองทราบและนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงต่อไป
อนึ่ง ในการกราบนมัสการพระคุณเจ้าครั้งนี้ผมได้เรียนสอบถามประวัติความเป็นมาของคำว่า "นาเซีย" ซึ่งพระคุณเจ้าได้มีเมตตาแจ้งให้ทราบว่าน่าจะมาจาก ๒ นัยยะด้วยกัน นัยยะแรกมาจากคำว่า "นาเสือ" เพราะสมัยก่อนดั้งเดิมนั้นบริเวณนี้เป็นป่าเขา มีป่าใหญ่ขนาดใหญ่และในป่ามีเสืออยู่จำนวนมากจึงเรียกว่าบ้าน"นาเสือ" แต่อีกนัยยะหนึ่งน่าจะมาจากคำว่า "นาเสีย" เพราะบริเวณนี้มีท้องนาที่จะสามารถทำนาปลูกข้าวได้ค่อนข้างน้อยและการปลูกข้าวแต่ละครั้งนี้ก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรชาวบ้านจึงเรียกกันว่าบ้าน "นาเสีย" โดยมีการเรียกกันในสมัยก่อนนั้นทั้ง ๒ คำที่กล่าวมา แต่ต่อมาคำพูดได้กร่อนและเปลี่ยนแปลงเป็น "นาเซีย" จนถึงทุกวันนี้
(ประวัติวัดนาเซียกรุณาคลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่นะครับ)
(เครื่องแบบนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นห้วยจระเข้ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๐)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น