วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

'ปฏิรูปตำรวจ' สู่ยุคใหม่ อย่าเป็นแค่สลับขั้วอำนาจ : โดย...กมลชนก ทีฆะกุล (๘ ธันวาคม ๒๕๕๗)

ข้อเสนอให้ยุบ ก.ต.ช.-ก.ตร.ไป และผุด "สภากิจการตำรวจแห่งชาติ" ทำหน้าที่แทน เกิดคำถามในหมู่แวดวงตำรวจว่าจะกลายเป็นการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจหรือไม่ และมั่นใจได้อย่างไรว่า ท้ายที่สุดแล้วตำรวจจะไม่ถูกแทรกแซง 

พลันที่ "วันชัย สอนศิริ" ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาเปิดเผยมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเตรียมที่จะเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติในวันที่ ๑๕-๑๗ ธันวาคม นี้ โดยมีสาระสำคัญคือ เสนอให้ยกเลิกคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ยกเลิกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้มี "สภากิจการตำรวจแห่งชาติ" ที่มีกรรมการประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวกับความมั่นคง และหัวหน้าส่วนราชการกระบวนการยุติธรรม กรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการคัดเลือกจาก ส.ส.และ ส.ว. เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของตำรวจแทน 

พร้อมทั้งเสนอให้กระจายอำนาจการบริหารจากเดิมที่รวมศูนย์ไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปลี่ยนเป็น ตำรวจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยให้มีหน้าที่และการบริหารงานตามที่กฎหมายบัญญัติ พร้อมทั้งให้ "ประชาชน" เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ แต่งตั้ง โยกย้าย หรือถอดถอนตำรวจ รวมทั้งยังเสนอให้จัดโครงสร้างองค์กรตำรวจ รวมถึงปรับเปลี่ยนหน่วยงานให้มีความเหมาะสม โดยให้ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับงานด้านใด ให้โอนไปขึ้นตรงกับหน่วยงานนั้น เช่น ตำรวจป่าไม้ ไปอยู่กับกรมป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ไปอยู่กับการรถไฟแห่งประเทศไทย และตำรวจท่องเที่ยว ให้ไปอยู่กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับองค์กรตำรวจว่าแนวทางนี้จะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงหรือไม่

ทั้งนี้ หากข้อเสนอดังกล่าวผ่านสภาปฏิรูปและมีผลบังคับใช้ เท่ากับว่า โครงสร้างของตำรวจ จะเปลี่ยนแปลงไปครั้งใหญ่ ซึ่งจะกระทบกับโครงสร้างภาพรวมขององค์กรตำรวจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างกรณีการเสนอให้ยกเลิก ก.ตร. ซึ่งปัจจุบันเป็นกลไกสำคัญในการกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผลมาจาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่กำหนดให้มีหน่วยงานนี้ขับเคลื่อนองค์กร เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. 

โครงสร้างเดิมของ ก.ต.ช. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ เดิมมีกรรมการ ๑๑ คน ประกอบด้วย ๑.นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ๒.รมว.มหาดไทย ๓.รมว.ยุติธรรม ๔.ปลัดมหาดไทย ๕.ปลัดยุติธรรม ๖.เลขาธิการ สมช. ๗.ผบ.ตร. ๘.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ๙.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านงบประมาณ ๑๐.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพัฒนาองค์กร และ ๑๑.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวางแผน/บริหารจัดการ  

แต่เมื่อเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ ๘๘/๒๕๕๗ ให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ก.ต.ช. ใหม่ ให้เหลือคณะกรรมการเพียง ๙ คน โดยให้ตัด รมว.ยุติธรรม รมว.มหาดไทย และผู้ทรงคุณวุฒิออก ๒ คน โดยให้เพิ่ม ปลัดกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย มาแทน ส่วนสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลือเพียง ๒ คน ต้องผ่านการคัดเลือกจากวุฒิสภา 

ขณะที่ ก.ตร.ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มีกรรมการ ๒๒ คน มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กรรมการ ประกอบด้วย ผบ.ตร. เลขาธิการก.พ. รองผบ.ตร. ๗ คน จเรตำรวจแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นอดีตตำรวจระดับผบช.ขึ้นไปที่เกษียณอายุราชการเกิน ๑ ปี ๕ คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ ด้านนิติศาสตร์ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ อาชญาวิทยา งานยุติธรรม รวม ๖ คน แต่คำสั่ง คสช.ปรับเหลือกรรมการเพียง ๑๓ คน โดยปรับลดสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิลงให้เหลือเพียง ๒ คน ซึ่งต้องผ่านการคัดเลือกจากวุฒิสภา 

กรรมการทั้ง ๒ ชุดมีบทบาทในการบริหารงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาก โดยเฉพาะในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ที่ผ่านมาว่ากันว่าเมื่อโครงสร้างนี้มีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องทำให้องค์กรตำรวจถูกแทรกแซง การที่ตำรวจจะได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งที่สูงขึ้นต้องได้รับความเห็นชอบหรือการสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง กลายเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตำรวจถูกครอบงำ

หากข้อเสนอดังกล่าวผ่านสภาปฏิรูปฯ จะทำให้ ก.ต.ช. และก.ตร.หายไป แต่จะมี "สภากิจการตำรวจแห่งชาติ" เข้ามาทำหน้าที่แทน กลายเป็นคำถามในหมู่แวดวงตำรวจว่า จะกลายเป็นการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจหรือไม่ และจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ท้ายที่สุดแล้วตำรวจจะไม่ถูกแทรกแซง

ส่วนประเด็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยถึงขั้นยุบส่วนบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากเดิมมีศูนย์กลางบริหารอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีโครงสร้างบริหารควบคุมสั่งการ ระดับกองบัญชาการ ไล่ลงไปยังกองบังคับการ กองกำกับการ และสถานีตำรวจ แต่แนวคิดใหม่ให้เปลี่ยนเป็น ตำรวจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มีการพูดไปถึงให้ตำรวจไปสังกัดกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงเกิดคำถามตามมาว่า ตำรวจจะไม่ถูกนักการเมืองท้องถิ่นแทรกแซงหรือ หลายรายแสดงความเป็นห่วงไปว่า ตำรวจจะกลายเป็นกลไกหนึ่งที่เสริมให้กลุ่มคนเหล่านั้นยิ่งมีอิทธิพลหรือไม่

ส่วนข้อเสนอให้จัดโครงสร้างองค์กรตำรวจ โดยให้ปรับเปลี่ยนหน่วยงานให้มีความเหมาะสม ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความคิดเห็นไปยังตำรวจซึ่งปฏิบัติงานอยู่ตามหน่วยงานที่มีชื่อปรากฏเสนอให้ปรับย้ายหลายรายให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากปัจจุบันทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว อย่างเช่นกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ที่มีการเสนอให้ย้ายไปสังกัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

พล.ต.ต.อภิชัย ธิอามาตย์ ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว แสดงความเห็นว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานบ้าง แต่หากการปฏิรูปนี้เกิดขึ้นจริง และประชาชนได้รับประโยชน์ ตำรวจทุกคนก็พร้อมปฏิบัติ

"ที่ผ่านมาตำรวจท่องเที่ยวก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และมีความผูกพันมากกว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งการใช้งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งเงินเดือน และติดต่อประสานงานกันหลายด้าน ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชา แต่งตั้งโยกย้าย ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีเพราะตำรวจอาจไม่ต้องไปพะวงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่หากโอนย้ายไปยังกระทรวงก็คงต้องดูที่ข้อกฎหมายว่า ผู้ปฏิบัติที่สามารถตรวจค้นจับกุม ต้องเป็นเจ้าพนักงาน หรือไม่ ส่วนข้อเสียถ้าหากตัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติออก การประสานงานก็อาจจะติดขัดบ้าง" พล.ต.ต.อภิชัย กล่าว 

กว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรตำรวจ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างมาเป็นระยะ ตั้งแต่สมัยเป็นกรมตำรวจ เปลี่ยนมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะที่การปรับเปลี่ยนหน่วยงานโดยการย้ายโอนสังกัดก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างเช่น การย้ายโอนเทศกิจ จากเดิมสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลไปสังกัด กทม. หรือเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กรณีการย้ายโอนตำรวจดับเพลิงไปสังกัด กทม. ก็เกิดขึ้นเช่นกัน 

หากจะปรับเปลี่ยนอีกครั้ง คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำคัญว่าแก้ปัญหาได้จริง-ได้ตรงจุด..หรือไม่เท่านั้น ?

ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20141208/197299.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น