วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ทนไม่ไหวจนต้องจ้องจับผิดตำรวจจราจร? : โลกตำรวจ ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘)

การติดกล้องวงจรปิดด้านหน้ารถกลายเป็นความนิยมที่ได้รับการแพร่หลายในกลุ่มผู้ขับขี่รถในประเทศไทยจนถูกตั้งคำถามว่า
ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งชี้ว่า ผู้ขับขี่รถเกลียดตำรวจจนเข้าขั้นและแสดงตัวให้รู้อย่างชัดเจนว่า อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับตำรวจ กระตือรือร้นที่จะจับจ้องมองหาว่าใครคือผู้กระทำความผิด พร้อมที่จะหันหน้าสู้กับตำรวจ ชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟันใช่หรือไม่ ?
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ประเด็นนี้จะกลายเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ศรัทธาที่ประชาชนมีต่อตำรวจได้หมดสิ้นไปแล้ว
ซึ่งไม่ควรที่จะด่วนสรุปเช่นนั้น !!
เพราะเป็นการเข้าใจพฤติกรรมการติดกล้องของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนที่ไม่ครบถ้วน รอบด้าน
ลองปรับเปลี่ยนมุมมอง
เมื่อมองมุมใหม่จะเห็นว่า การติดกล้องของผู้ใช้รถใช้ถนนมิได้เป็นการกระทำเพื่อตัวเองแต่เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นการกระทำที่ก่อให้ประโยชน์ต่อสังคมในวิถีการใช้รถใช้ถนนที่ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา
ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา ปัญหาที่สะสมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการคมนาคมเมืองไทยเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเกิดความเครียด และสร้างปัญหาสุขภาพจิตอย่างมาก
พฤติกรรมการขับขี่ที่ก้าวร้าวมากขึ้น คือ ภาพสะท้อนของความล้มเหลวในการบริหารจัดการคมนาคม รวมถึงการปล่อยปละละเลยจนทำให้ถนนเมืองไทยทำให้คนตายติดอันดับโลกที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และมองไม่เห็นทางแก้ไขหรือการมีระบบบริหารจัดการที่ดีขึ้น
ผู้ใช้รถใช้ถนนเมืองไทยมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ก้าวร้าว ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเร็วโดยไม่สอดคล้องกับปริมาณรถและสภาพแวดล้อมที่อยู่บริเวณถนนนั้น การเปลี่ยนเลนโดยไม่ให้สัญญาณก่อนเปลี่ยนเลน อันเนื่องมาจากการตัดสินใจอย่างกะทันหันเพื่อให้ตนเองได้จังหวะในการเคลื่อนที่ไปได้อย่างรวดเร็วกว่า การขับรถจี้รถคันหน้าอย่างกระชั้นชิด และที่พบบ่อยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรถขนส่งสาธารณะคือ การใช้ความเร็วที่ไม่เหมาะสมในเลนอย่างที่ควรจะเป็น เช่น วิ่งเลนขวาแต่ขับช้าเกินกว่าที่ควรจะเป็น
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความก้าวร้าว ความขัดแย้ง และความเครียดที่เกิดขึ้นบนถนนในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ส่งผลให้เกิดการยอมรับนวัตกรรมจากต่างประเทศมาปรับใช้เพื่อตอบโต้สถานการณ์กดดันที่เผชิญอยู่ เช่น การลงทุนใช้กล้องวิดีโอจับภาพติดหน้ารถ
แต่มิได้เป็นไปเพียงเพราะ
กล้องวิดีโอนั้นทำให้รู้สึกอบอุ่นใจจากการจับกุมด้วยข้อหาที่รู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่เพียงเท่านั้น
หากแต่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าได้ตอบโต้พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่คำนึงถึงผู้อื่น เห็นแก่ตัว หรือแม้กระทั่งการไม่ใส่ใจว่าการขับขี่นั้นก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นหรือไม่? อย่างไร?
ดังจะเห็นได้ว่า มีการนำภาพถ่ายเหล่านั้นขึ้นเผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างมิได้กลัวเกรงว่าจะถูกฟ้องร้องสวนกลับมาหรือไม่?
การกระทำเช่นนี้ควรได้รับการชื่นชม เพราะถือได้ว่าเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พฤติกรรมการขับขี่ที่ดี มิใช่แค่การพยายามที่จะลดพฤติกรรมการทำงานที่มิชอบของตำรวจจราจรแต่เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นการตรวจสอบผู้ใช้รถใช้ถนนบนทางสาธารณะทุกคน
ให้เกิดสำนึกที่เข้มแข็งว่า “ทางสาธารณะเป็นของคนทุกคน”
ไม่ว่าคนรวยหรือคนจนมีสิทธิเท่ากัน
ไม่ว่าจะเป็นคนเล็กหรือคนใหญ่มีสิทธิเท่ากัน
แต่จริงหรือ? ที่ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนมีสิทธิที่เท่ากันอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น