วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559

วันสตรีสากล (๘ มีนาคม ๒๕๕๙)

งานมากมาย หลายอย่าง ต่างสำเร็จ,ด้วยวิถี สตรีเพศ วิเศษยิ่ง
ก้าวเดินหน้า ด้วยใจ ไม่ประวิง,หรือเกรงกริ่ง ครั่นคร้าม แม้ยามใด
เดินคู่ชาย ที่เปรียบไว้ อกสามศอก,ทั้งในนอก สืบสาน งานยิ่งใหญ่
ความสามารถ นั้นแท้ ไม่แพ้ชาย,สุขสดใส น้องพี่ วันสตรีสากล

ประวัติความเป็นมาของ "วันสตรีสากล" เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง ๑๑๙ คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ (พ.ศ. ๒๔๐๐)
จากนั้นในปี ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ ๑๖-๑๗ ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก
ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้ "คลาร่า เซทคิน" นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ.๑๙๐๗ พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น
ต่อมาในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๘ (พ.ศ. ๒๔๕๑) มีแรงงานหญิงกว่า ๑๕,๐๐๐ คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง
จนกระทั่งในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๐ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก ๑๗ ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ ๒ ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม ๘ คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก ๘ ชั่วโมง และอีก ๘ ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย
ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ "คลารา เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ ๘ มีนาคม ของทุกปีเป็น วันสตรีสากล (ที่มา : https://goo.gl/0bFcAU)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น