วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

ดาบ-จ่าตำรวจกับนายและชาวบ้าน (๙ มีนาคม ๒๕๕๙)

ดาบ-จ่าตำรวจกับนายและชาวบ้าน : โลกตำรวจ ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


 “บ้านนี้อยู่ได้เพราะดาบ-จ่า” หัวหน้าสถานีพูดถึงกลุ่มคนที่เป็นผู้ปฏิบัติงานหลักที่สำคัญที่ส่งผลให้ภารกิจจำนวนมากของสำนักงานตำรวจแห่งชาติบรรลุเป้าหมายตามที่ผู้นำองค์การได้บัญชาสั่งการลงมายังหน่วยต่างๆ
ถึงแม้ว่าคำบอกเล่าของหัวหน้าสถานีตำรวจจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการแสดงให้เห็นว่า ผู้นำหน่วยในระดับที่ใกล้ชิดผู้ปฏิบัติงานให้ความสำคัญ หรือเห็นคุณค่าของลูกน้องมดงานที่เป็นผู้ปฏิบัติงานที่แท้จริงก็ตาม
แต่จะดียิ่งขึ้นกว่านี้ หากผู้นำในทุกระดับชั้น นับตั้งแต่ระดับรองสารวัตร สารวัตร รองผู้กำกับการ และหัวหน้าสถานีตำรวจ จะให้ความสำคัญกับลูกน้องนายตำรวจชั้นประทวนด้วยการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา และร่วมทบทวนการดำเนินงานต่างๆ ทั้งที่เป็นนโยบายที่สั่งการลงมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือรัฐบาล
การปล่อยให้ลูกน้องไพร่พลตำรวจทำงานต่างๆ ในรูปแบบที่ นายทำหน้าที่เพียงกดไลค์ (like) ผ่านการอ่านไลน์จากโทรศัพท์มือถือตามยุคตามสมัยแต่เพียงเท่านั้น นอกเหนือจากไม่ทำให้เกิดการพัฒนางานของหน่วยงานอย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นการสร้างการรับรู้ของนายตำรวจชั้นประทวนผู้เป็นลูกน้องด้วยว่า
การทำงานแค่พอผ่าน แค่พอมีรายงานไปวันๆ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว และหากสามารถหลีกเลี่ยงโดยการแต่งเติมรายงานขึ้นอย่างแนบเนียนโดยมิได้มีการลงมือปฏิบัติแต่อย่างใดก็ยิ่งจะส่งผลกระทบเสียหายให้เกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
“สั่งลงมากันเยอะมาก บางคำสั่งพวกผมก็งงกันว่า สั่งกันมาทำไมหนักหนา แต่ก็รายงานไป มโนไปให้ดูแนบเนียนหน่อย” ดาบตำรวจเล่าที่มาที่ไปของการจัดฉากรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการต่างๆ ที่สั่งมาจากหน่วยเหนือ แต่ไร้การสนใจติดตามและให้คำแนะนำอย่างจริงจังจากผู้นำหน่วยในระดับต่างๆ
“โครงการเยอะมาก บางโครงการไม่น่าใช่บทบาท หน้าที่ของตำรวจ แต่ก็สั่งลงมาให้พวกผมทำ” เสียงของลูกน้องที่จำต้องทำตามคำสั่ง ทำตามโครงการที่นายคิดขึ้นมา ทำโดยที่ไม่มีส่วนร่วมในการคิด วิเคราะห์ ไม่รู้เป้าหมายของการทำว่า ทำแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรต่อประชาชนและสังคม ?
โครงการตำรวจร่วมมวลชนลดอาชญากรรม (ตมอ.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว.) ที่สนับสนุนการวิจัยให้แก่กลุ่มตำรวจในระดับต่างๆ 8 สถานีตำรวจทดลองลงมือปฏิบัติในลักษณะของการติดอาวุธทางปัญญาในการสร้างความเข้าใจแก่นายตำรวจระดับต่างๆ ว่าภารกิจในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพโดยสามารถลดอาชญากรรมเป้าหมายได้และสามารถทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทและมีความเกี่ยวข้องในระดับ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินผลด้วยความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือประชาชนต้องตระหนักอย่างชัดเจนว่า การป้องกันและลดอาชญากรรมในชุมชนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นหน้าที่สำคัญของประชาชนในชุมชน พวกเขาจำเป็นต้องใช้พลังอำนาจที่ตนเองมีอยู่ผนวกกับการเสริมแรงและการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากตำรวจเพื่อลดอาชญากรรมและทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนในชุมชนนั้นเป็นไปอย่างผาสุก มั่นคงปลอดภัยจากภัยอาชญากรรมที่คุกคามความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ผลจากการดำเนินโครงการในระยะแรกพบว่า ถึงแม้ว่าอาชญากรรมในชุมชนจะยังคงมีอยู่บ้าง แต่ชาวบ้านได้ผ่อนคลายความกังวลต่อภัยอาชญากรรมและมีความรู้สึกที่ดี มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อปัญหา อุปสรรค และวิธีการดำเนินงานของตำรวจร่วมมวลชนในพื้นที่ในการลดอาชญากรรมนั้น
มิใช่เพียงแค่ประชาชนรักตำรวจเพียงเท่านั้น แต่ประชาชนยังสามารถแสดงพฤติกรรมต่างๆ ให้ตนเองหลุดพ้นจากการเป็นเหยื่ออาชญากรรมด้วย รวมถึงความพยามยามที่จะลดพื้นที่เสี่ยง สถานการณ์เสี่ยงต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดภัยอาชญากรรมที่คุกคามต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนด้วย
การดำเนินงานเช่นนี้ไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ หากปล่อยให้นายตำรวจระดับดาบ-จ่าทำงานอย่างว้าเหว่แต่เพียงลำพังเท่านั้น หากแต่จะบรรลุเป้าหมายอย่างเกินคาดถ้าหัวหน้าสถานีและบรรดานายๆ ทุกระดับลงเดินร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมคิด ร่วมวิเคราะห์ ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติการกับดาบ-จ่าและประชาชนด้วยทุกคนด้วยความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว
มิใช่ว่าดาบ-จ่าจะไม่สามารถสร้างความรู้สึกดีๆ กับชาวบ้านได้ แต่บทเรียนจากงานวิจัยพบว่า ขวัญของดาบ-จ่าและชาวบ้านจะดีขึ้นอย่างมากเมื่อนายลงมาเดินด้วยกัน!!!!
ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20160309/223813.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น