วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ยศและตำแหน่งตำรวจที่มักอ่านผิด (๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕)

สวัสดีวันหยุดมายังทุกท่านครับ

วันนี้วันอาทิตย์ขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๘ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๓๗๔ ตรงกับวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๕๕ ปี วันหยุดของพี่ๆ น้องๆ หลายๆ ท่านอีกวันหนึ่ง ขอให้มีความสุขและเจริญในธรรมโดยทั่วกัน

ท่านผู้เจริญในธรรมทั้งหลาย อีกไม่กี่เพลาจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาซึ่งเป็นประเพณีสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของพุทธศาสนิกชนเราแล้ว ผมใคร่ขอเชิญชวนล่วงหน้ามายังพี่น้องชาวพุทธทุกคนให้ใช้โอกาสนี้เข้าวัดเข้่าวาฟังธรรมและน้อมนำคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติในชีวิตประจำวันรวมถึงงดเหล้าเข้าพรรษาโดยพร้อมเิพรียงกัน

เมื่อวานนี้ผมนำเรื่อง "ตำแหน่งของตำรวจ" มาบอกเล่าเก้าสิบแก่พี่น้องโดยผมเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
คำว่า สบ นี้ให้อ่านว่า สอ-บอ ไม่ใช่สัญญาบัตรซึ่งหลายๆ ท่านอ่านผิืดเพราะคิดว่าคำว่า สบ เป็นคำย่อหากอ่านแล้วจะต้องอ่านเต็มเป็นสัญญาบัตรซึ่งไม่ถูกครับ ดังนั้นวันนี้จึงใคร่ขออนุญาตนำเรื่องนี้มาอธิบายให้ทราบ

สามสี่วันที่ผ่านมาผมเปิดโทรทัศน์ช่องหนึ่งดูรายการข่าว ผู้ประกาศเป็นผู้หญิง ลีลาการอ่านของเธอต้องบอกว่าประทับใจมากเลยทีเดียว อ่านได้คล่องแคล่ว ฉะฉาน น่าฟัง แต่ืมีอยู่ช่วงหนึ่งสถานีนำเรื่องราวที่พลตำรวจเอกวรพงษ์ ซิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ ๑๐) แถลงข่าวเรื่องหนึ่งมาออก ผู้ประกาศคนนั้นเธออ่านตำแหน่งของท่านวรพงษ์ว่า "ที่ปรึกษา
สัญญาบัตรสิบ" และอ่านแบบนี้ไป ๓ หรือ ๔ ครั้งไม่แน่ใจจนจบข่าว ที่เป็นเช่นนี้ผมคิดว่าเธอคงไม่รู้ว่า สบ ตามด้วยเลขนั้น อ่านอย่างไร หรือไม่ก็เธออาจจะคิดว่าในเมื่ออ่านยศเต็มๆ ของท่านวรพงษ์เป็น "พลตำรวจเอก" แล้วดังนั้นคำในวงเล็บคือ (สบ ๑๐) ก็ต้องอ่านเต็มว่า "สัญญาบัตร-สิบ" ไปด้วย ไม่ใช่ครับ คำคำนี้ต้องอ่านว่า "ที่ปรึกษา สอ-บอ-สิบ" ถึงจะถูกเพราะเป็นคำเฉพาะไม่ใช่คำหรืออักษรย่อซึ่งจะเห็นว่าไม่มีเครื่องหมาย . ระหว่างคำว่า สบ กับตัวเลข

เรื่องต่อไปที่ผมเคยได้ยินแต่เดี๋ยวนี้ค่อยๆ หายไปบ้างแล้วแต่ก็ยังพอมีอยู่เป็นเรื่องการอ่านยศของตำรวจครับ ที่ผิดบ่อยๆ คือจ่าสิบตำรวจซึ่งใช้คำย่อว่า "จ.ส.ต." และดาบตำรวจซึ่งใช้คำย่อ "ด.ต." ผู้ประกาศบางคนอ่าน จ.ส.ต.ว่า "จ่าสิบตรี" บ้าง "จ่าสิบตำรวจตรี" บ้าง ในส่วนของ ด.ต. อ่าน "ดาบตรี" บ้าง "ดาบตำรวจตรี" บ้างหรือไม่ก็ "นายดาบตำรวจ" บ้างซึ่งก็ไมุ่ใช่อีกนั่นแหละ

ทั้งสองคำนี้เป็นยศของตำรวจเราที่มีทั้่งหมด ๑๔ ชั้นยศตั้งแต่พลตำรวจเอกลงมาจนถึงสิบตำรวจตรีตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ที่เป็นเช่นนี้ผมคิดว่าผู้อ่านคงจะสับสนหรือไม่ก็คุ้นเคยกับยศทหารบกที่เหมือนๆ กับยศตำรวจซึ่งมี ส.ต.,ส.ท.,ส.อ. ไปจนถึง พล.ต.,พล.ท.,พล.อ.และคิดว่าน่าจะอ่านคล้ายๆ กันนั่นเอง

เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นผมขอแจ้งให้ทราบเพิ่มเติมหน่อยครับว่ายศตำรวจกับทหารบกนั้นคล้ายกันจริงๆ หรือจะเรียกว่าเหมือนกันเป๊ะเลยก็ยังได้ต่างกันเฉพาะมีคำว่า "ตำรวจ" ในยศของเราเท่านั้น เช่น ทหารมียศ ส.ต.(สิบตรี) ตำรวจก็เป็น ส.ต.ต.(สิบตำรวจตรี) ไปเรื่อยๆ จนถึงพลเอกซึ่งตำรวจเป็นพลตำรวจเอก แต่ตำรวจเราในส่วนของชั้นประทวน (ผู้มียศตั้งแต่ ส.ต.ต.ถึง ด.ต.) นั้นเมื่อเลื่อนยศจาก ส.ต.อ.(สิบตำรวจเอก) สูงขึ้้่นอีกชั้นยศหนึ่งจะเป็น จ.ส.ต. (จ่าสิบตำรวจ) ไปเลยไม่เหมือนทหารบกเขาที่ต้องเป็น จ.ส.ต.(จ่าสิบตรี),จ.ส.ท.(จ่าสิบโท) และ จ.ส.อ.(จ่าสิบเอก) ทีละชั้นยศ ก็เลยเข้าใจว่ายศ จ.ส.ต.ของตำรวจนั้นอ่านว่า "จ่าสิบตรี" เหมือนทหารบก ส่วนบางคนที่อ่านยศ จ.ส.ต.ของเราเป็น "จ่าสิบตำรวจตรี" ผมคิดว่าผู้อ่านคงเข้าใจผิดว่าตำรวจเรามียศ "จ่าสิบตำรวจตรี จ่าสิืบตำรวจโท จ่าสิืบตำรวจเอก" คล้ายกับทหารบกด้วย

สำหรับยศ ด.ต.นั้นช่วงก่อนที่ พ.ร.บ.ตำรวจ ๒๕๔๗ มีผลบังคับใช้เราเรียกว่า "นายดาบตำรวจ" แต่หลังจากที่ พ.ร.บ.นี้ประกาศใช้แล้วได้ตัดคำว่า "นาย" ออกเหลือเิพียง "ดาบตำรวจ" และยศนี้มีแค่นี้เท่านั้นไม่มีตรี โท เอกอีก

เพราะฉะนั้นจึงขอสรุปและให้พี่น้องเข้าใจโดยทั่วกันดังต่อไปนี้ว่า
๑.
สบ... อ่านว่า สอ-บอ ตามด้วยตัวเลขต่อท้าย
๒.
จ.ส.ต. อ่านว่า จ่าสิบตำรวจ
๓.
ด.ต. อ่านว่า ดาบตำรวจ

หวังเป็นอย่างยิ่งข้อเขียนของผมวันนี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องอยู่บ้างตามสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น