วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บทเรียนไฟดับ ตร.สั่งการผ่าน"ไลน์" อีกหนึ่งช่องทางสื่อสารยามวิกฤติ (๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖)

บทเรียนไฟดับ-ตร.สั่งการผ่าน"ไลน์" อีกหนึ่งช่องทางสื่อสารยามวิกฤติ
โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร, วิศิษฎ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์

"ที่ผ่านมาเมื่อเกิดไฟฟ้าดับจะมีปัญหาด้านการสื่อสาร แต่เมื่อวันที่เกิดเหตุเราสั่งการผ่านระบบไลน์ ซึ่งทำได้ดี ครอบคลุมทุกพื้นที่" เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่กล่าวถึงการทำงานของตำรวจในห้วงที่เกิดสถานการณ์วิกฤติ ไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้เมื่อค่ำวันอังคารที่ ๒๑ พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ได้รู้ว่าตำรวจยุคนี้ใช้แอพพลิเคชั่น "LINE" หรือแอพฯแชทยอดนิยมบนสมาร์ทโฟนให้เป็นประโยชน์ในการทำงานอย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้แต่ภารกิจรักษาความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กันเลยทีเดียว

ตำรวจยุคใหม่ใช้ "ไลน์" สั่งงาน
ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ ซึ่งเป็นอดีตตำรวจ ปัจจุบันเป็นนักวิชาการด้านอาชญวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และได้เกาะติดความเคลื่อนไหวการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อช่วยในการบริหารงานตำรวจมาตลอด กล่าวว่า ช่วงที่แอพพลิเคชั่นไลน์เริ่มได้รับความนิยมเมื่อราวๆ ๑-๒ ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ราคาสมาร์ทโฟนเริ่มต่ำลงพอดี ทำให้ตำรวจทั่วไปโดยเฉพาะระดับสัญญาบัตรหันมาใช้สมาร์ทโฟนกันเป็นส่วนใหญ่ 
       
"แอพฯไลน์นอกจากพูดคุยได้ ยังถ่ายรูปได้ ส่งรูปและวีดีโอก็ได้ แถมยังให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตำรวจก็เลยนิยมใช้กัน เริ่มมีการจัดกรุ๊ป จัดกลุ่มของโรงพักนี้ หน่วยงานนั้น แล้วผู้บังคับบัญชาก็เริ่มสั่งงานผ่านไลน์ เปลี่ยนรูปแบบจากการตรวจพื้นที่แบบโบราณ ใช้วิทยุแจ้ง ว. เช่น ว.๑๐ ตรงจุดเกิดเหตุแล้ว แต่นายไม่อาจรู้ได้ว่าเราอยู่จริงหรือเปล่า พอมีระบบไลน์ นายก็ให้ถ่ายรูป หรือแชร์โลเคชั่นว่าเราอยู่จุดนั้นจริงๆ ทำให้สะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน"

"ไลน์ของนาย"ดังทั้งวันทั้งคืน
ร.ต.อ.จอมเดช กล่าวต่อว่า จุดเด่นอีกประการหนึ่งของไลน์ คือเมื่อส่งข้อมูลเข้ากลุ่ม จะมีระบบลิสต์แสดงเลยว่ามีใครบ้างที่อ่านแล้ว สมมติในโรงพักมี ๑๐ คน เมื่อลิสต์จากไลน์ขึ้นครบทุกคนว่าอ่านแล้ว ก็แสดงว่ารับทราบหมด จะมาแก้ตัวทีหลังว่าไม่ทราบเรื่องไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นระบบเดียวกับการสั่งงานทางวิทยุสื่อสาร เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนต้องเฝ้าฟัง เมื่อนายพูดออกวิทยุเครือข่ายกลางจะถือว่ารับทราบ ไม่ทราบไม่ได้ ทุกวันนี้ตำรวจจึงเปลี่ยนมาเฝ้าดูไลน์แทน 

นอกจากนั้น ระบบไลน์ยังเป็นการสื่อสาร ๒ ทาง ผู้ใต้บังคับบัญชายังสามารถรายงานผลงานกลับไปยังผู้บังคับบัญชาได้ด้วย จนกลายเป็นช่องทางการนำเสนอผลงานถึงผู้บังคับบัญชาได้เหมือนกัน 


"ทราบว่าไลน์ของผู้ใหญ่บางท่านดังเตือนทั้งวันทั้งคืน เพราะลูกน้องรายงานผลงานให้ทราบ กลายเป็นการช่วงชิงผลงานกันไปก็มี แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะยังไม่ได้ปรับตัวชี้วัดให้การรายงานผลการปฏิบัติทางไลน์มีผลต่อการพิจารณาความดีความชอบด้วยก็ตาม แต่ก็ทำให้นายได้รู้ว่าลูกน้องคนไหนทำงานมากหรือน้อย"

เสี่ยงถูกแฮค-ไม่กรองชั้นความลับ
สำหรับจุดอ่อนของการใช้ไลน์ ร.ต.อ.จอมเดช กล่าวว่า ในเชิงปฏิบัติการไลน์ยังไม่มีการสร้างระบบป้องกันที่ดีพอ เพราะฉะนั้นอาจเป็นไปได้ที่กลุ่มมิจฉาชีพจะแฮคเข้าไปดูว่าตำรวจสั่งการอะไรกัน หรืออย่างบางกรุ๊ปไลน์ที่มีสมาชิกเยอะมากๆ อาจไม่ได้ตรวจสอบว่ามีคนนอกเข้าไปปะปนอยู่ในกรุ๊ปบ้างหรือเปล่า ก็อาจทำให้ความลับรั่วไหลได้เหมือนกัน บางครั้งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่ทราบว่าบางเรื่องเป็นชั้นความลับ ก็โยนข้อมูลเข้าระบบไลน์ ทำให้ระดับชั้นความลับไม่ได้ถูกกรอง 

"ผมว่าเทคนิคของไลน์ไม่ได้เชื่อมโยงกับสื่อสังคมออนไลน์เสียทีเดียว เพราะไม่ได้เป็นสื่อที่คนทั่วไปมองเห็นหรือมีส่วนร่วม แต่มันไปเอื้อหรือให้ความสะดวกในการปฏิบัติงานมากกว่า เป็นเรื่องของการบริหารงานยุติธรรม และตำรวจก็ตรวจสอบกันเองได้ง่ายขึ้นว่าคุณทำงานหรือเปล่า ถึงที่สุดแล้วก็ส่งผลลดอาชญากรรมได้เหมือนกัน" ร.ต.อ.จอมเดช สรุป

ครบวงจร "รับคำสั่ง-รายงานนาย"
พ.ต.อ.วัชรพล ทองล้วน ผู้กำกับการ ๕ กองบังคับการปราบปราม (ผกก.๕ ป.) กล่าวว่าปัจจุบันกองปราบใช้ระบบไลน์เข้ามาช่วยในการทำงาน ทั้งงานที่รับผิดชอบ งานที่ได้รับมอบหมาย และรายงานผลการปฏิบัติ เรียกว่าทั้งสั่งและรับคำสั่ง ตลอดจนรายงานผลแบบครบวงจร 

"สาเหตุที่เลือกใช้ก็เพราะความสะดวกในการสั่งงานและการรายงานผล ทั้งยังมีหลักฐานยืนยัน อย่างเช่นผู้การ (พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผู้บังคับการปราบปราม) เคยไปประชุมที่ประเทศจีน เมื่อมีข้อหารือมาก็สั่งผ่านไลน์มาเลย การใช้ไลนท์ทำให้มีหลักฐานว่ามีการสั่งการมอบหมายมาแล้ว ลูกน้องที่อยู่ในประเทศไทยก็ไปหาข้อมูลและตอบกลับได้ทันที ถ่ายรูปก็ได้ ส่งคลิปก็ได้ รายงานเหตุการณ์สดจากพื้นที่จริงได้ทันที แม้แต่เอกสารหนังสือราชการก็ส่งทางไลน์ นอกจากนี้ระบบไลน์ยังมีลูกเล่น ช่วยสร้างสีสันและคลายเครียดได้เหมือนกัน" 


พ.ต.อ.วัชรพล กล่าวต่อว่า กรุ๊ปไลน์ของกองปราบมีห้องรวมเรียกว่า "ศูนย์ปฏิบัติการ" โดยผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะอยู่ห้องนี้ และจะมีแยกย่อยไปตามกองกำกับต่างๆ อย่างเช่นกอง ๕ ก็จะมีห้องของตัวเอง ผู้ที่เข้าไปเล่นต้องแสดงตัวตนชัดเจน มีรูปภาพ ชื่อ-สกุล หรือนามเรียกขนานที่รู้กัน คนอื่นที่ไม่ได้อยู่กอง ๕ จะเข้ามาไม่ได้เด็ดขาด

แชร์ประสบการณ์-สื่อสารภาวะวิกฤติ
"ประโยชน์มันเยอะ ถ้าในทางคดี การส่งภาพผู้ต้องสงสัย ส่งทางไลน์เร็วกว่าอีเมล์ ตำรวจที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว (อยู่นอกสำนักงาน) สามารถเปิดดูและนำไปทำงานต่อได้ทันที หรืออย่างบางคดีที่มีปัญหา อยากให้ผู้เชี่ยวชาญดูภาพศพเบื้องต้น ก็สามารถสั่งทางไลน์ไปให้ดูก่อนได้ นอกจากนั้นยังสามารถแชร์ประสบการณ์การทำงานได้ด้วย ตำรวจบางคนไม่มีประสบการณ์ทำคดีลักษณะนี้มาก่อน ผู้ที่มีประสบการณ์ก็สามารถให้คำแนะนำ แบ่งปันประสบการณ์ได้ทันที" 

ส่วนปัญหาเรื่องชั้นความลับนั้น พ.ต.อ.วัชรพล ไม่กังวลนัก โดยบอกว่าปกติในกรุ๊ปของไลน์ก็กรองชั้นความลับได้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว และในการประชุมทุกครั้งก็จะเน้นย้ำให้ระมัดระวังการใช้ เรื่องที่เป็นชั้นความลับมากๆ ก็ไม่ได้ใช้ไลน์ ส่วนเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเมื่อวันที่ ๒๒ พ.ค. กอง ๕ ก็ดูแลพื้นที่ภาคใต้อยู่เช่นกัน เมื่อไฟฟ้าดับลูกน้องก็รายงานทันทีว่าเป็นเรื่องทางเทคนิค ทำให้เบาใจไปได้ระดับหนึ่งว่าไม่ใช่การก่อการร้าย นี่คือประโยชน์ของการสื่อสารในภาวะวิกฤติ

เตือนอย่าลืม "แบ็คทูเบสิค"
ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง พ.ต.อ.โพท สวยสุวรรณ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (รอง ผบก.ภ.จว.ปัตตานี) กล่าวว่า ตำรวจในสามจังหวัดนิยมใช้ไลน์ เพราะรวดเร็ว ชัดเจน เก็บความลับได้ ส่งรูปได้ รับข้อมูลแบบเรียลไทม์ และตรวจสอบได้ว่ารับคำสั่งเรียบร้อยแล้ว 

"อย่างเมื่อวันที่ไฟฟ้าดับทั้งเมือง ผู้การสั่งการทีเดียวทางไลน์ ทุกคนก็ได้รับหมด และปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุทุกขั้นตอน" พ.ต.อ.โพท ระบุ


อย่างไรก็ดี พ.ต.อ.โพท บอกว่า การสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟนเป็นช่องทางสื่อสารอีกช่องทางหนึ่ง แต่เป็นช่องทางสำรองเท่านั้น ไม่ใช่ช่องหลัก เพราะช่องทางหลักจริงๆ ยังคงเป็นโทรศัพท์กับวิทยุสื่อสาร เนื่องจากในภาวะวิกฤติจริงๆ ถ้าสัญญาณมือถือล่มก็จบ สุดท้ายก็ต้องแบ็คทูเบสิค ใช้วิทยุคลื่นสั้นในการสื่อสารอยู่ดี 


แต่ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารแบบไหน ทันสมัยหรือโบราณ ปัจจัยสู่ความสำเร็จของงานย่อมหนีไม่พ้นความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติ...และนั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น