วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เรื่องหลอกลวงในโลกของตำรวจ : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๖)

เรื่องหลอกลวงในโลกของตำรวจ

“สถิติอาชญากรรมมันลดลงตลอดแบบนี้ คุณจะของบประมาณ ขออัตรากำลังคนเพิ่มได้ยังไง และในความเป็นจริงมันก็ไม่ใช่ด้วย” นายตำรวจใหญ่แสดงความเห็นต่อเพื่อนๆ น้องๆ ที่นั่งอยู่ในที่นั้น


“พวกเราทุกคนก็รู้กันอยู่เต็มอกว่ามันไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง สถิติไม่ได้ลดลง แต่ในเมื่อฝ่ายบริหารไม่พร้อมที่จะให้ผู้ปฏิบัติรายงานตัวเลขตามสภาพความเป็นจริง...ฝ่ายบริหารรับความจริงไม่ได้ ทุกอย่างมันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้...ไม่มีอะไรดีขึ้น” ความคิดเห็นต่างๆ พรั่งพรูด้วยความรู้สึกอัดอั้นตันใจที่ไม่แตกต่างกันมากนักกับบทบาทของการ “จัดทำรายงานสถิติให้ดูสวยงาม”

อีกทั้งตัวเลขที่สวยงามเหล่านี้เป็นกลไกในการชี้เป็นชี้ตายตำรวจผู้ปฏิบัติงาน ถึงแม้ว่านายจะรู้อยู่เต็มอกว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องหลอกลวง “ก็แต่งแต้มให้มันสมเหตุสมผลหน่อยรักษาหน้านายด้วย” นายตำรวจพูดด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงความจำเป็นต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ใครๆ ก็ปฏิบัติกันมา ถึงแม้ทุกคนรู้อยู่เต็มอกว่าไม่ควรทำและไม่อยากทำแต่ก็มีความจำเป็นต้องทำ พร้อมทั้งโยนลูกให้นายเป็นผู้แก้ปัญหา “ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายว่าต้องการยังไง สั่งมาเถอะผู้ปฏิบัติทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว” คำพูดประชดประชันของตำรวจผู้ปฏิบัติ

วัฒนธรรมการทำบัญชีแยกเล่ม ถึงแม้ว่าจะดีกว่าการไม่รับคดีก็ตาม แต่ก็ทำให้ระบบการบริหารจัดการและการเข้าใจถึงสภาพความรุนแรงของปัญหาของผู้บริหารระดับสูงขาดประสิทธิภาพและนำมาซึ่งความล้มเหลวในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ เช่น การบริหารจัดการทรัพยากร งบประมาณและกำลังคนที่เหมาะสมกับสภาพความรุนแรงของปัญหาถูกมองข้ามไป

อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็ยังคงเป็น "ตำีรวจผู้ปฏิบัติงาน” ที่ต้องทำงานตามสภาพปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ท่ามกลางความขาดแคลนและข้อจำกัดต่างๆ มากมายและนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดข้ออ้างถึงความจำเป็นต้องหาเงินนอกระบบมาทำงานเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ? “หัวหน้าสถานีคนไหนมีคุณธรรมมีจริยธรรมก็ดีไป ถ้าไปเจอประเภทนักวิ่งนักธุรกิจ ทีนี้แหละไปดูได้ ตำรวจในโรงพักมันมึนกันหมดแหละ สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบก็ประชาชน”

อีกไม่นานภาวะไร้พรมแดนจะเกิดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน สิ่งที่ตามมาคือปัจจัยเอื้อต่อการเกิดอาชญากรรมย่อมมากขึ้นด้วย ไม่เพียงเฉพาะจำนวนครั้งของการเกิดอาชญากรรมที่มากขึ้นเท่านั้น หากแต่ความซับซ้อนของการก่ออาชญากรรมย่อมมากขึ้นด้วย นั่นหมายถึงความจำเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องทำให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อให้ประสิทธิภาพในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน (ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจไทย) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หรือว่ารัฐบาลไทยก็มีวัฒนธรรมไม่แตกต่างจากองค์กรตำรวจคือนิยมสั่งแห้งเช่นเดียวกัน!

ครึ่งทศวรรษที่ผ่านมานี้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่รับรู้ว่า...

หากขโมยขึ้นบ้านหรือรถจักรยานยนต์หายอย่าหวังว่าจะได้ตัวคนร้ายหรือได้ของคืน “แค่ขอให้พนักงานสอบสวนมาดูที่เกิดเหตุยังอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนอีก” มิใช่ว่าจะตำหนิเพ่งโทษพนักงานสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนเองก็หมุนรอบทิศทางจนไม่รู้ว่าจะเริ่มไปตรงไหนก่อนดี “ขนาดได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนยังไม่อยากจะอยู่กันเลย พนักงานสอบสวนที่มีโอกาสขอย้ายออกหมดแหละ” พนักงานสอบสวนระดับ สบ ๓ พูดถึงสถานการณ์ที่สะท้อนถึงความกดดันของภาระงานในกลุ่มพนักงานสอบสวน

การไปแจ้งความที่สถานีตำรวจของประชาชนก็มิได้ไปด้วยความหวังที่จะได้ตัวคนร้ายหรือได้ทรัพย์สินคืน หากแต่เป็นการแจ้งความไว้เพื่อมิให้คนร้ายนำทรัพย์สินเช่นรถจักรยานยนต์ไปกระทำผิดแล้วส่งผลกระทบต่อตนเองในอนาคตเพียงเท่านั้น ก็แสดงให้เห็นว่าความรู้สึกเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อการทำงานของตำรวจลดน้อยลงเรื่อยๆ “เดี๋ยวนี้แค่หวังว่าขโมยมันไม่กลับมาขโมยซ้ำอีกยังหวังไม่ได้เลย”

ผู้นำตำรวจจะยังปล่อยให้ศรัทธาของประชาชนเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ โดยไม่พัฒนาหรือแก้ไขระบบการบริหารจัดการบ้างเลยหรือ? หากไม่ทำเพื่อลูกน้องผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก็โปรดทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนด้วยเถิด!

ที่มา : http://goo.gl/NIvUU

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น