วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

'จ.ส.ต.หญิงวันดี' ครู ตชด.กับภารกิจเข้าสู่อาเซียน (๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๖)

แม้จะมีข่าวการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก สะเทือนสังคมชนบทอย่างมาก แต่สำหรับเด็กๆ โรงเรียนตระเวนชายแดน (ตชด.) บ้านเรดาร์ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี แล้ว การไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์และวัฒนธรรม สะท้อนภาพความผูกพันได้ดีเยี่ยม ในวันเปิดภาคเรียน ทั้งๆ ที่อยู่ห่างไกลความเจริญ โรงเรียนแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๖ มีครู ๘ คน สอนอนุบาล ๑ ถึง ป.๖ มีนักเรียนอายุตั้งแต่ ๕-๑๘ ปี กว่า ๓๐๐ คน ทั้งคนไทยยากจน พม่าอพยพ มอญพม่า กะเหรี่ยงไทย-พม่า และมุสลิมชาวพม่า กว่า ๓๐๐ คน เด็กๆ ยังมีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแต่ละชาติพันธุ์อย่างเหมาะสม ไม่มีการเหยียดศาสนา และเชื้อชาติ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปเยือนถึง ๓ ครั้ง พร้อมกับทรงตั้งโครงการพระราชดำริ เช่น การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหารกลางวันให้แก่เด็กๆ

จ.ส.ต.หญิงวันดี วิเชียรบุตร ครูสอนทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ยอมรับว่า การสอนหนังสือในโรงเรียนชายแดนที่ต่างภาษา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ ไม่ใช่เรื่องง่าย ครูในโรงเรียนชายแดนหลายคนต้องศึกษาเด็กทีละรายเพื่อทำความรู้จัก ขณะที่พ่อแม่ ผู้มาขายแรงงาน ซึ่งพูดไทยไม่ได้ ก็ยากจะทำความเข้าใจต่อปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ สิ่งเดียวที่ครูทุกคนต้องทำ คือ สอนให้เด็กยอมรับกันในวัฒนธรรมอันแตกต่างก่อน จากนั้นค่อยต่อยอดภาษาไทย ตามด้วยทักษะวิชาอื่น

"บางคนเพิ่งเข้าเรียนตอน ๑๑ ขวบ เป็นชาวพม่า พูดไทยไม่ได้ ต้องส่งเข้ากลุ่มอนุบาล แม้อายุจะดูเป็นวัยรุ่น และครูทุกคนก็ดูออกว่าเด็กไม่พอใจจะเรียนกับรุ่นน้อง ต้องค่อยๆ ปลอบใจและสื่อสารกับผู้ปกครอง ให้เข้าใจความแตกต่าง เพื่อให้เด็กเปิดใจยอมรับ ซึ่งกรณีอย่างนี้ทำได้ผลกว่า ๘๐% โชคยังดีที่มีกิจกรรมทำหลายด้านทั้งการละเล่นพื้นบ้าน การเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืช ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ขึ้นมาได้อีกระดับ แต่ก็ทำให้การเรียนการสอนทักษะวิชาการ ลดน้อยลง" จ.ส.ต.หญิงวันดี อธิบาย

นโยบายรัฐบาลส่งเสริมเรื่องสังคมอาเซียน (Association of South East Asian Nations : ASEAN) หน่วยงานในสังกัดการศึกษาหลายพื้นที่ พยายามให้โรงเรียนทุกแห่งส่งเสริมความรู้ภาษาอังกฤษ และเน้นให้เด็กได้ใช้เทคโนโลยี อย่างแท็บเล็ต เพื่อให้ทันต่อประชากรประเทศอื่น แต่โรงเรียนชายแดนอย่าง บ้านเรดาร์ อยู่ในถิ่นทุรกันดารแล้ว เด็กๆ ที่นี่ล้วนเป็นลูกหลานเกษตรกรที่หาเช้า กินค่ำ บ้างก็ทำอาชีพรับจ้าง มีความโดดเด่นเรื่องวัฒนธรรมและฝีมือทางการเกษตร

"เราอยู่กับเด็กมานาน เห็นว่าพวกเขาสนใจหนังสือ ห้องสมุด จำนวนมาก ทุกคนมีความสุขกับการเรียนรู้  มีบ้างที่บุคคลภายนอกเดินทางมาเยี่ยมในฐานะโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล แต่ส่วนมากก็บริจาคเป็นอาหารกลางวัน เป็นเงินสนับสนุน แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้รัฐบาลได้รับรู้และเข้าใจ คือ การแจกแท็บเล็ตให้เด็กๆ ชายแดนยังไม่ใช่เรื่องที่จะช่วยให้เด็กๆ มีศักยภาพในการก้าวทันอาเซียน ดังนั้นสิ่งที่โรงเรียนบ้านเรดาร์ต้องการคือ การมีบุคลากรเพิ่มเติม มีหนังสือมากขึ้น และมีเวลาการเรียน การสอนที่เน้นการประสานวัฒนธรรม ภาษา และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชาติพันธุ์ พร้อมๆ กับทักษะวิชาการมากกว่า" ครูวันดี ระบุ

พ.ต.ท.คำรน แร่เพ็ชร ครูใหญ่โรงเรียนบ้านเรดาร์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลสนับสนุนองค์ความรู้แก่บุคลากร และเพิ่มจำนวนบุคลากร เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่เด็กๆ ได้อ่านออก เขียนได้ทั้งไทยทั้งอังกฤษ และภาษาที่สามคือสิ่งจำเป็น เพราะเครื่องมือและความสามารถของเด็กๆ เป็นที่รู้ดีว่า อุดมไปด้วย ด้านการเกษตร จักทอ และประมง ซึ่งสืบทอดมาจากพ่อแม่ เป็นส่วนมาก

วันนี้โรงเรียนบ้านเรดาร์เปิดรับอาสาสมัครครูสอนภาษาอังกฤษ ผู้ใดสนใจเป็นอาสาสมัครเพื่อเด็กๆ ที่นี่ จะเป็นส่วนตัวหรือกิจกรรมกลุ่ม หรืออาจบริจาคหนังสือ ติดต่อได้ที่ จ.ส.ต.หญิงวันดี วิเชียรบุตร ๐๘๖-๑๖๘๗๐๕๖ โรงเรียนบ้านเรดาร์ อ.สังขละบุรี เลขที่ ๓๓๓ หมู่ ๔ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ๗๑๒๔๐ มีบริการที่พักในโรงเรียนฟรี

ที่มา : http://goo.gl/TY68D

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น