“นอกเวลางาน” สิบตำรวจโทหญิงพูดด้วยน้ำเสียงไม่สะทกสะท้านต่อการถูกต่อว่ากรณีไม่รับการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตำรวจผู้ปฏิบัติงานในสถานีตำรวจ
ถึงแม้ว่าจะมีการติดต่อหลายครั้งติดกัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีความหมายว่า “มีเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการการประสานงาน”
การไม่ยี่หระต่อการรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตำรวจในพื้นที่ถูกตอกย้ำด้วยคำพูดที่มีความหมายว่า “การติดต่องานนอกเวลาจะทำเฉพาะกับนายแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น?” แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความไม่ความเข้าใจและไม่ใส่ใจต่อบทบาทของการทำหน้าที่ในการประสานงานระหว่างตำรวจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่หรือเพื่อนร่วมงานอื่นๆ
ที่จำเป็นจะต้องติดต่อผ่านตนเองก่อนส่งต่อข้อมูลรายงานต่อนาย...ฝ่ายอำนวยการที่ดีจะต้องมีความคิดเปรียบเทียบหน้าที่ในการทำงานของตนไม่แตกต่างจากการเป็นสะพานเชื่อมข้อมูลระหว่างคนทำงานกับนาย
(อย่าหลงผิดคิดว่าตนเองคือนาย) ซึ่งหากชำรุดไร้ประสิทธิภาพย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในพื้นที่รวมถึงความพึงพอใจในการทำงานของบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย
โดยที่ความไม่พึงพอใจหรือภาพลักษณ์ของการทำงานแบบขอไปทีนั้นมิได้ยุติเฉพาะ “ตำรวจหน้าห้องนายหรือฝ่ายอำนวยการเท่านั้น” หากแต่ถูกรับรู้เหมารวมไปกับภาพลักษณ์ของนายด้วยในฐานะผู้บังคับบัญชา
“โลกของทหารกับโลกของตำรวจแตกต่างกันตรงที่ฝ่ายอำนวยการของทหารทำหน้าที่สมกับการเป็นเสนาธิการของนาย
แต่โลกของตำรวจนั้นฝ่ายอำนวยการไม่สามารถสร้างศรัทธาและความเชื่อถือในฝีมือจากหน่วยงานหลักเท่าที่ควร?”
นายตำรวจวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบก่อนแสดงเหตุผลว่าหากฝ่ายอำนวยการเข้มแข็งจะทำให้ภารกิจของงานตำรวจมีมากขึ้น
พร้อมให้เหตุผลว่า
"อาจเป็นเพราะคนที่มีความสามารถในโลกของตำรวจไม่มีใครอยากทำงานฝ่ายอำนวยการเพราะให้คุณค่าและความหมายของงานอำนวยการต่ำเกินจริง”
การพัฒนางานในส่วนงานอำนวยการจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(สตช.)
เพราะมิใช่จะมีเพียงหน่วยงานภายใของ สตช.แต่เพียงเท่านั้นที่ต้องติดต่อประสานงานผ่านฝ่ายอำนวยการ
หากแต่ประชาชนและองค์กรต่างหน่วยงานก็ต้องติดต่อผ่านตำรวจกลุ่มนี้ด้วย
ดังนั้นดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานของนายประการหนึ่งย่อมหนีไม่พ้นสมรรถนะในการทำงานของทีมอำนวยการในสำนักงานของนายด้วยเช่นกัน
ทีมสำนักงานของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่ดีที่น่าสนใจและควรค่าแห่งการถอดบทเรียนถึงวิธีคิดและวิธีการในการเลือกทีมอำนวยการที่ดีที่นำมาซึ่งความสำเร็จในการทำงานถึงแม้ว่าจะมีภาระงานจำนวนมากอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว
"นายเป็นคนมีวิสัยทัศน์ นายจะเลือกทีมทำงานที่มีความสามารถ
มีความเสียสละและทุ่มเทในการทำงาน เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร” สารวัตรหญิง (ผู้เคยทำงานร่วมกับ พล.ต.อ.อดุลย์
แสงสิงแก้วในห้วงเวลาที่ทำงานอยู่ศูนย์ปฏิบัติการชายแดนใต้ หรือ ศชต.)
พูดถึงความพิถีพิถันในการคัดเลือกตำรวจมาร่วมทีมงานต่างๆ ของนายเก่า
“คนที่สมัครมาเป็นหน้าห้องนายมีเหตุผลหลายอย่าง
แต่ทุกคนในโลกตำรวจรู้ดีว่าคนใกล้ชิดนายย่อมมีสิทธิพิเศษเสมอในทุกเรื่อง” ผู้กำกับแสดงเหตุผลสนับสนุนข้อสรุปที่ทุกคนเห็นตรงกันว่า “เป็นหน้าที่ของนายที่จะต้องคัดเลือกคนที่เหมาะสมมาทำงานเพราะนายทุกคนล้วนเคยเผชิญกับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการประสานงานกับคนในสำนักงานของนายที่ทำตัวเสมือนว่าตนเองเป็นนายเสียเองแต่มิได้มีความสามารถเท่านายมาแล้วทั้งนั้น”
“อึดอัดใจ แต่ทำไงได้
นายเขาต้องฟังคนใกล้ชิด” คำพูดที่แสดงให้เห็นถึงภาวะการแก้ปัญหาในรูปแบบหลีกเลี่ยงและยิ่งทำให้ภาวะไร้ประสิทธิภาพในสำนักงานดำรงอยู่
จนกว่าปัญหาจะสุกงอมและส่งผลกระทบจนเข้าถึงหูในเวลาที่อาจสายเกินไป “บ่อยครั้งที่หน้าห้องนายไม่รับเรื่อง ซุกเรื่อง
นอกจากต้องเอาใจนายแล้วต้องเอาใจฝ่ายอำนวยการของนายด้วยงานถึงจะราบรื่น” รองผู้บังคับการเล่าถึงประสบการณ์เชิงลบพร้อมทั้งแสดงความเห็นว่า “สังเกตดูได้นายที่มีฝีมือจะมีทีมอำนวยการที่เข้มแข็งและมีจิตบริการด้วย”
การไว้วางใจและเชื่อมั่นในทีมงานเป็นสิ่งที่สำคัญ
แต่ก่อนที่จะไว้วางใจนั้นนายควรที่จะคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมพร้อมทั้งกำกับติดตาม
ประเมินผลการทำงานคนของนายด้วยว่าสามารถสอบผ่านบทบาทของการทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการที่ดีเพื่อทำให้นโยบายและข้อสั่งการของนายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ที่ประสานงานติดต่อกับนายหรือไม่...อย่าประเมินเฉพาะตำรวจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เพราะบ่อยครั้งพบว่าคนที่ทำให้เกิดปัญหาข้อผิดพลาดในงานนั้นโดยแท้จริงแล้วเกิดขึ้นจาก “คนของนาย”!!
“พฤติกรรมลูกน้องมันสะท้อนความเป็นนาย” ผู้กำกับสรุปสั้นๆ หากแต่มีความหมายที่ลึกซึ้งและน่าคิด !!?!
ถึงเวลาหรือยังที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและบรรดานายๆ ทุกระดับจะเริ่มปฏิรูปการทำงานของฝ่ายอำนวยการและทีมสำนักงานของนายเพื่อเป็นฝ่ายสนับสนุนที่ดีแก่ทีมตำรวจแนวหน้า โดยต้องไม่ลืมว่าตนเองไม่ใช่นาย !?!
“พฤติกรรมลูกน้องมันสะท้อนความเป็นนาย” ผู้กำกับสรุปสั้นๆ หากแต่มีความหมายที่ลึกซึ้งและน่าคิด !!?!
ถึงเวลาหรือยังที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและบรรดานายๆ ทุกระดับจะเริ่มปฏิรูปการทำงานของฝ่ายอำนวยการและทีมสำนักงานของนายเพื่อเป็นฝ่ายสนับสนุนที่ดีแก่ทีมตำรวจแนวหน้า โดยต้องไม่ลืมว่าตนเองไม่ใช่นาย !?!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น