วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประวัติความเป็นมาของตำรวจไทย (๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๖)


สวัสดีครับ พ.ต.ท.สุพจน์ มัจฉา ครับผม

วันนี้วันอาทิตย์ที่ ๑๓ ตุลาคม "วันตำรวจ" ดังนั้นในวันนี้ผมจึงขอนำความรู้เกี่ยวกับตำรวจเรามาฝากกันหน่อยเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศช่วงนี้นั่นก็คือความเป็นมาของตำรวจไทยเรา เรื่องราวจะเป็นอย่างไรติดตามได้เลยครับพี่น้อง 


ตำรวจไทยในอดีต 


ตำรวจหรือกิจการตำรวจมีมาก่อน พ.ศ.๒๔๐๓ ซึ่งขอเรียกว่า “ตำรวจสมัยโบราณ” ส่วนจะได้จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันที่แน่นอนได้เพียงแต่สันนิษฐานกันว่าคงจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จะมีหลักฐานอยู่บ้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น ๔ เหล่าเรียกว่าจตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา โดยได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราศักดินาของตำรวจไว้เป็นบรรทัดฐานกำหนดไว้ถึงชั้นตำรวจเลว (พลตำรวจ) มีศักดินา ๒๕ ไร่ ตำรวจในระยะแรกหรือตำรวจสมัยโบราณนั้นอยู่ในสังกัด “วัง” คือ ตำรวจหลวง เป็นข้าราชบริพารรับใช้ใกล้ชิด นอกจากสังกัดวังเป็นตำรวจหลวงรักษาพระองค์แล้วยังมีตำรวจที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชนสังกัด “เวียง” หรือ “เมือง” คือ ตำรวจเวียง หรือนคราบาลมีพระยายมราชเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่ในเมืองหลวง ส่วนตามหัวเมืองต่าง ๆ มีหลวงเมืองเป็นหัวหน้า ขึ้นตรงต่อเจ้าเมือง


ตำรวจสมัยปฏิรูป

กิจการตำรวจในสมัยนี้เนื่องจากได้มีการปฏิรูปการปกครองประเทศในทุก ๆ ด้านตามแบบอย่างอารยะประเทศตะวันตก โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคิดปรับปรุงตำรวจเวียงหรือนคราบาล โดยได้จ้างกัปตัน แซมมวล โจเซฟ โรเบิร์ต เอมส์ ชาวอังกฤษซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรัฐยาภิบาลบัญชา จัดตั้งเป็น “กองตำรวจโปลิศ” สังกัด “กรมพลตระเวน” มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตนครบาลตามแบบยุโรปเป็นครั้งแรกการปรับปรุงการตำรวจในสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากได้ขยายงานตำรวจในเขตนครบาลแล้วยังได้จัดตั้ง “กรมกองตระเวนหัวเมือง” ขึ้นทำหน้าที่ลาดตระเวนรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตหัวเมืองต่าง ๆ เช่นเดียวกับการจัดตั้งกรมพลตระเวน สังกัดในกระทรวงนครบาล และต่อมาได้จัดตั้งเป็นกรมตำรวจภูธร สังกัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมตำรวจภูธรกับกรมพลตระเวนเข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน” สังกัดกระทรวงนครบาล ในกิจการตำรวจจึงถือเอาวันที่ ๑๓ ตุลาคมของทุก ๆ ปี เป็น “วันตำรวจ” และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งเป็น “กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล” “กรมตำรวจภูธร” (วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๖๙) และ “กรมตำรวจ” (วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๗๕) ตามลำดับ โดยเป็นกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย

ตำรวจสมัยปัจจุบัน

ตำรวจสมัยปัจจุบันหรือเรียกว่าสมัยประชาธิปไตยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ ถึงปัจจุบัน หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตย ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจเพื่อวางรากฐานตำรวจในระบบประชาธิปไตย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกำหนดหน้าที่การงานอีกไม่น้อยกว่า ๓๐ ครั้งโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย และด้วยกรมตำรวจเป็นกรมใหญ่ มีกำลังพลกว่า ๒๓๐,๐๐๐ คน มีภาระหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและสังคมทั่วประเทศ จึงจำต้องมีระบบการจัดการและการบริหารงานที่คล่องตัว รวดเร็ว เป็นอิสระภายในกรอบของกฎหมาย และในวันที่๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ซึ่งเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม โดยอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

อำนาจและหน้าที่ของตำรวจ

อำนาจและหน้าที่ของตำรวจนั้นมีบัญญัติไว้ตามยุคสมัยกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ เป็นตัวบทกฎหมายบ้าง เป็นประกาศพระบรมราชโองการบ้าง เป็นกฎเสนาบดีบ้าง และเป็นระเบียบข้อบังคับต่างๆ บ้าง ควรที่จะหยิบยกมาพอเป็นสังเขป เช่น
(๑) กฎหมายโปลิศ ๕๓ ข้อ ซึ่งจะรักษาหน้าที่ในพระนครและนอกพระนครจุลศักราช ๑๒๓๗ กล่าวโดยสังเขปได้บัญญัติไว้ว่า ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและความสะอาดตามถนนในท้องที่ เช่น ระวังรักษาป้องกันมิให้ผู้ใดกระทำการล่วงละเมิดกฎหมาย มีการทะเลาะวิวาทฉกชิงวิ่งราวเกิดขึ้น หรือมีผู้กระทำการกีดขวางทางเดินอย่างหนึ่งอย่างใด โดยปลูกโรงร้านพะเพิงล่วงล้ำลงไปในถนนหรือปล่อยสัตว์ดุร้าย สัตว์พาหนะท่องเที่ยวตามถนนทำการเปรอะเปื้อน และขับรถ ล้อเลื่อนเดินผิดทาง เป็นต้น กับมีหน้าที่จับผู้กระทำผิดที่เกิดขึ้นซึ่งหน้า หรือโดยมีเหตุสงสัย หรือมีผู้ขอร้องให้จับ หรือนำไปจับ กับมีหน้าที่ในการดับเพลิงและคอยระวังป้องกันรักษาทรัพย์สมบัติของราษฎรที่ถูกเพลิงไหม้ ซึ่งอยู่ในท้องที่หรือใกล้เคียงกับท้องที่นั้นอีกด้วย
(๒) กฎหมายโปลิศรักษาหัวเมืองฝ่ายเหนือ จุลศักราช ๑๒๓๗ กล่าวโดยสังเขปบัญญัติไว้ว่าตำรวจมีหน้าที่ป้องกันลูกค้าต่างๆ ลักลอบขนฝิ่นและสิ่งของต้องห้ามเข้ามาลักลอบซื้อขายกันในบ้านเมืองทำให้ภาษีผลประโยชน์ของรัฐบาลเสียไป และมีหน้าที่แจ้งเหตุการณ์เป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดิน
(๓) พระราชบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ราชการซึ่งเกี่ยวข้องกันอยู่ในระหว่างกระทรวงนครบาลและกระทรวงยุติธรรม ร.ศ.๑๑๖ กำหนดอำนาจและหน้าที่ของกรมกองตระเวนไว้ให้มีหน้าที่สืบสวนพยานและสรรพสิ่งอื่น ๆ ประกอบเหตุการณ์ที่กล่าวหาว่ามีผู้กระทำร้ายต่อความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎรทั้งปวงเพื่อระงับเหตุการณ์เหล่านั้น และให้คอยห้ามปรามอย่างให้ผู้ใดกระทำการล่วงพระราชบัญญัติอันมีโทษตามพระราชกำหนดกฎหมายและอย่าให้ผู้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจให้เกิดผลร้าย หรือเป็นอันตรายแก่ชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สมบัติของคนใดคนหนึ่งหรือคนทั้งหลายทั่วไป กับให้ทำการสืบสวนจับกุมผู้ที่กระทำการล่วงละเมิดพระราชอาญาและจับกุมบุคคลตามหมายจับ
(๔) แจ้งความกระทรวงมหาดไทย ร.ศ.๑๑๖ กล่าวโดยสังเขปชี้แจงว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกรมตำรวจภูธรมีหน้าที่ป้องกันพระราชอาณาจักร เพื่อปราบปรามจลาจลหรือศัตรูภายนอกที่เกิดขึ้นโดยกองทหารขึ้นไปไม่ทันเพื่อเป็นกำลังรักษาหัวเมืองแต่ให้มีหน้าที่ทำการอย่างพลตระเวนหัวเมืองด้วย
(๕) กฎเสนาบดีที่ ๕ แผนกปกครองท้องตราพระราชสีห์ใหญ่ ลง ๗ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๙ ความว่า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพลตำรวจภูธรหรือพลตระเวนสำหรับป้องกันจับกุมเหตุการณ์โจรผู้ร้ายและรักษาความสุขสำราญของราษฎรทั่วไปทั่วราชอาณาจักร
(๖) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้อธิบายคำว่า “ตำรวจ” ไว้ในคำรวมของ คำว่า “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ” ว่าหมายความถึงเจ้าพนักงาน ซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และระบุอำนาจไว้ว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ ฯลฯ
(๗) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดหน่วยงาน เขตอำนาจการรับผิดชอบและเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการในกรมตำรวจ ซึ่งออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดหน่วยงาน เขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยราชการในกรมตำรวจไว้เป็นการเฉพาะหน่วยงานแต่ละหน่วย และได้บัญญัติไว้ด้วยว่าหน่วยงานในกรมตำรวจหน่วยใดมีเขตอำนาจการรับผิดชอบ และเขตพื้นที่การปกครองในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามบทกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดในกรณีคดีอาญาในเขตพื้นที่เพียงไรด้วย
(๘) พระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๑ กำหนดอำนาจหน้าที่ตำรวจไว้ให้มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงภายในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การตระเวนชายแดน การรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชน และอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กล่าวโดยสรุปแล้วตำรวจจึงมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

ก. ตำรวจในฐานะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนภายในราชอาณาจักร
ข. ตำรวจในฐานะเป็นผู้รักษากฎหมาย มีหน้าที่ป้องกันมิให้มีผู้ละเมิดกฎหมายมหาชน และถ้ามีผู้ใดละเมิดก็มีอำนาจและหน้าที่สืบสวนจับกุมตรวจค้นและปราบปรามนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามสมควรแก่ความผิด
ค. ตำรวจในฐานะข้าราชการพลเรือน นอกจากจะต้องปฏิบัติราชการตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดและมอบหมายไว้แล้วยังจะต้องปฏิบัติหน้าที่ทั่วๆไปดุจเดียวกับข้าราชการ พลเรือนทุกประการ และต้องรักษาความสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกันในระหว่างข้าราชการทหารและ พลเรือน
ง. ตำรวจในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน
จ. ตำรวจเมื่ออยู่ในฐานะตำรวจสนามมีหน้าที่ป้องกันและต่อสู้กับข้าศึกทั้งในเขตที่ทำการยุทธ และมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามระเบียบที่ทางราชการมอบหมายและกำหนดเป็นครั้งคราวภารกิจหน้าที่ของตำรวจ แม้มีความสำคัญแต่หากไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

ภารกิจหน้าที่ย่อมดำเนินการไปให้บรรลุเป้าหมายคือความสงบสุขของสังคมและบ้านเมืองได้โดยยาก จึงจำเป็นต้องลบภาพเดิมของการปฏิบัติงานตำรวจเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ฝ่ายเดียว และเปิดโอกาสให้ชุมชน ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะในการกำหนดนโยบาย การติดตามการปฏิบัติงาน และตรวจสอบการปฏิบัติงานให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พยายามดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภารกิจหน้าที่ของตำรวจคือความสงบสุขของสังคมและบ้านเมืองอย่างแท้จริง และในสุดท้ายนี้จะขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีสวนสนามในโอกาสที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสถาปนามาครบ ๑๐๐ ปี ณ ลานฝึกศรียานนท์เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๕ ความตอนหนึ่งว่า
“ ตำรวจทำหน้าที่ที่สำคัญและกว้างขวางมาก คือต้องทำหน้าที่ทั้งด้านการปกครอง คอยสอดส่องดูแลทุกข์สุข ตลอดจนสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและผู้กระทำผิด รวมทั้งการปกป้องแผ่นดินไทยเมื่อมีภัยคุกคามอีกด้วย นับว่ามีภาระหนัก มีความรับผิดชอบสูง เพราะต้องเผชิญกับปัญหานานาและต้องเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจให้สำเร็จได้ครบถ้วน จะต้องเป็นบุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถมีความเข้มแข็งอดทน และมีความเสียสละอย่างแท้จริง จึงขอให้ตำรวจทุกคนได้ภูมิใจ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญและมีเกียรติยิ่งนี้ และตั้งปณิธานให้แน่วแน่ ที่จะพากเพียรปฏิบัติตัวปฏิบัติงานทุกด้าน ทุกระดับ ให้บรรลุผลอันเลิศ เพื่อความผาสุกร่มเย็นของประชาชนและความเจริญมั่นคงของชาติไทยเรา.”

ครับ นั่นก็คือประวัติและความเป็นมาของตำรวจไทยซึ่งคิดว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องอยู่บ้างตามสมควร

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น