วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

๗ ราชาศัพท์สำหรับพระเจ้าอยู่หัวที่ยังพบใช้ผิดกันมาก (๓ ธันวาคม ๒๕๕๖)

เนื่องในศุภวาระเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๖ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ ทุกหน่วยงานได้ร่วมแสดงความจงรักภักดีผ่านการขึ้นคัตเอ้าท์หรือเว็บไซต์ แต่พบว่ายังมีการใช้ราชาศัพท์บางคำที่ใช้ผิดกันมาก และจากการสังเกตพบว่ามีอยู่ ๗ คำหลักๆ ซึ่งไม่ควรละเลย ต้องระวังตรวจสอบเสมอเพื่อใช้ให้ถูกต้องและสมพระเกียรติดังนี้...

๑. การเขียนพระราชอิสริยยศ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"ควรทราบว่าการเขียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การเขียน ณ ปัจจุบัน ไม่ต้องมี ฯ (ไปยาลน้อย) ต่อท้าย เพราะหากมีนั่นแสดงว่าเรากำลังจะหมายถึงเจตนาเขียนพระราชนามโดยย่อ เพื่อระบุเจาะจงว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ไหน เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หรือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ทั้งนี้
เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้ชี้แจงว่า คำว่า "พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" คือ พระราชอิสริยยศ พระมหากษัตริย์ ฉะนั้น ในเมื่อทราบกันดีว่าปัจจุบันเรามีพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวและมีพระราชนามใด ตลอดจนหมายถึงพระองค์ใด ฉะนั้นจึงเขียนเพียง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เท่านั้น ไม่ต้องมี ฯ ตามหลัง



๒. "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ"
เป็นคำลงท้ายที่ใช้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เท่านั้น ขอให้พึงสังเกตทุกครั้งที่เขียนคำนี้ หลัง "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม" จะต้องวรรค ทุกครั้ง แล้วจึงตามด้วย "ขอเดชะ" เพราะเป็นคำสองคำมาใช้รวมกัน เห็นมีสื่อและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงหลายท่านเขียนติดกัน ซึ่งผิด กล่าวคือ ต้องพูดหรือเขียนว่า...ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ...
ซึ่งแปลเข้าใจง่ายๆ ว่า "ขอเดชะ" --> แปลว่า ขอบุญญาบารมีจากเจ้านาย 
"ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม" --> แปลว่า คุ้มหัวเรา...รวมความได้ว่า ขอบุญญาบารมีจากเจ้านาย (เจ้านาย-เป็นคำโบราณเมื่ออ้างถึงพระบรมวงศานุวงศ์) คุ้มหัวเราให้มีความสุขความเจริญ

(สำหรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้คำลงท้ายว่า "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม" แต่เพียงนี้ ไม่ต้องมี ขอเดชะ ตามหลัง)

๓. "ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา" เห็นหน่วยงานใหญ่บางแห่งขึ้นคัตเอาท์ขนาดใหญ่เขียน "ฑีฆา" (ใช้ ฑ-นางมณโฑ) เขียนผิด ที่ถูกต้องเป็น ท-ทหาร (ทีฆ ทีฆา = ยาว) และต้องเขียนโดยเคาะเป็น ๓ วรรค แบบนี้..."ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา"...จึงจะถูกตามราชบัณฑิตยสถานกำหนด และหากจะใช้คำว่า "ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา" แล้วก็ไม่ต้องใช้่ "ขอพระองค์ทรงพระเจริญ" เพราะสองคำนี้่ ความหมายเหมืิอนกันแปลว่า ขอให้มีอายุยืนยาวนาน

๔. คำว่า "อายุ" สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องใช้ "พระชนมพรรษา" ไม่ใช่ "พระชนมายุ"
คำว่า พระชนมพรรษา (พฺระ-ชน-มะ- พัน-สา) แปลว่า ขวบปีที่เกิด อายุ. เป็นคำราชาศัพท์ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ใช้ว่า มีพระชนมพรรษา หรือ ทรงเจริญพระชนมพรรษา เช่น ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา
 
รวมไปถึงคำถวายพระพรชัยมงคล สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องใช้คำว่า "ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน" ไม่ใช่ "มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน"
(คำว่า "พระชนมายุ" ณ ปัจจุบัน ใช้แทนคำว่า "อายุ" แก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
 

และควรทราบว่า หลังพรรษา ไม่ต้องมีคำว่า "ครบ" เช่น มีพระขนมพรรษาครบ....พรรษา" เพราะคำว่า "ครบ" จะใช้ต่อเมื่อครบรอบนักษัตรเท่านั้น (หารด้วย ๑๒ ลงตัว) การใช้ที่ถูกเช่น "ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ" หรือ "ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๔ พรรษา"

๕. ต้องใช้ "เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา..." ไม่ใช่ "เนื่องในวโรกาส..." มีคนจำนวนมากกล่าวถึงการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาว่า "เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา" ซึ่งใช้ผิด
เพราะคำว่า "วโรกาส" มีธรรมเนียมการใช้เฉพาะเมื่อ "ขอโอกาส" จากพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ กล่าวคือ หากจะขอโอกาสพระมหากษัตริย์ ใช้ราชาศัพท์ว่า ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส
 
เมื่อขอโอกาสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้ราชาศัพท์ว่า ขอพระราชทานพระราชวโรกาส
 
และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้โอกาส ใช้ราชาศัพท์ว่า พระราชทานพระบรมราชวโรกาส
เมื่อ สมเด็จพระนางเจ้าฯ บรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้โอกาส ใช้ราชาศัพท์ว่า พระราชทานพระราชวโรกาส
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ให้โอกาส ใช้คำว่า ประทานพระวโรกาส
 
ดังนั้น ในกรณีอื่นๆ นอกจากการ "ขอโอกาส" และการ "ให้โอกาส" แล้ว จะไม่ใช้คำว่า "วโรกาส" แต่ให้ใช้ว่า "โอกาส"

๖. ควรใช้ "ถวายพระพร" หรือ "ถวายชัยมงคล" หรือ "ถวายพระพรชัยมงคล"
มี ผู้รู้บอกว่า "ถวายพระพร" เป็นคำที่พระสงฆ์ใช้กับพระบรมวงศานุวงศ์ ฉะนั้น สำหรับเราทั้งหลายซึ่งเป็นสามัญชนโดยทั่วไป ท่านจึงแนะนำให้ใช้ว่า "ถวายชัยมงคล" แต่คนทั่วไปก็ชอบที่จะพูดและเขียนว่า "ถวายพระพร" ซึ่งผิด ปัจจุบัน อนุโลมให้ใช้เพื่อกล่าวโดยรวม หากว่าการนั้น มีผู้แสดงความจงรักภักดีและร่วมลงนาม มีทั้งพระและสามัญชน จึงให้ใช้คำว่า
 "ถวายพระพรชัยมงคล"

7.ระหว่าง "ราชัน" กับ "ราชันย์" ต้องใช้คำไหน
สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องเขียนว่า "ราชัน" "องค์ราชัน" "เทิดไท้องค์ราชัน" ทั้ง นี้ ควรทราบว่า "ราชัน" แปลว่า พระราชา หรือ พระมหากษัตริย์ ส่วน ราชันย์ หากเติม ย์ จะแปลว่า เชื้อสายพระมหากษัตริย์ จึงควรระวังในการเขียน เพราะหากเราใช้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ราชันย์ นอกจากจะใช้ผิดแล้ว ก็เท่ากับว่า เราไปลด พระราชอิสริยยศของพระองค์ท่าน ซึ่งปัจจุบันเห็นมีใช้ผิดกันมากเช่นกัน

ราชาศัพท์สำคัญอย่างไร
ขอส่งท้ายด้วยการเตือนย้ำว่า ในฐานะคนไทยที่อยู่ภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การใช้ราชาศัพท์มีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยเอกเสนีย์ วิลาวรรณ บุคคลสำคัญที่กระทรวงวัฒนธรรมประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ ได้ให้หลักคิดไว้ ๔ ประการดังนี้

๑.เพื่อให้เราใช้ถ้อยคำในการพูดจาได้ไพเราะ  และถูกต้องตามกาลเทศะและตามฐานะแห่งบุคคล เพราะราชาศัพท์มิได้หมายถึงคำพูดที่เกี่ยวกับพระราชาเท่านั้น  ยังรวมถึงคำสุภาพทั่วไป
๒.ราชาศัพท์เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชาติ การใช้ราชาศัพท์ที่ถูกต้องเป็นการแสดงความประณีต  นุ่มนวล  น่าฟังของภาษาอย่างหนึ่ง  ทั้งเป็นการช่วยส่งเสริมให้ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ดีงามของเรา
๓.การรู้ราชาศัพท์ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพให้กับตนเอง ทำให้เข้าวงสมาคมได้โดยไม่เคอะเขิน ไม่เป็นที่เย้ยหยันของผู้ที่พบเห็น การติดต่อกับบุคคลทั่วไป หากไม่รู้จักคำสุภาพตามฐานะแล้วก็อาจได้รับคำดูหมิ่นว่าไร้การศึกษา และในที่สุดก็ละทิ้งการสมาคมเสียสิ้น
๔.ราชาศัพท์ไม่เพียงใช้เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ หรือสุภาพชนเท่านั้น ยังใช้กับพระบรมศาสดาต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจึงจำเป็ นต้องเรียนรู้ราชาศัพท์

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้อย่างถูกต้อง และสมพระเกียรตินะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น