วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ตำรวจอุ้มรัฐยุติปัญหาชาวนา? : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗)

รถติดอย่างสาหัสในกรุงเทพมหานครและจำนวนการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่สูงจนติดอันดับโลกนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ "นโยบายรถคันแรก" ของรัฐบาลโดยที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ถึงแม้ว่าจะกล่าวอ้างว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีนโยบายรถคันแรก หากแต่รัฐบาลย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ารู้ทั้งรู้ว่าประเทศมีปัญหานี้แต่ก็ยังกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมให้ปัญหาที่มีอยู่นี้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในขณะที่ให้การสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้น้อยมาก รัฐบาลละเลยที่จะประเมินผลงานเพื่อทำการปรับเปลี่ยน พัฒนา สนับสนุนส่งเสริมการแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา เป็นต้น ทำให้การจราจรที่ติดขัดและการตายกลางถนนกลายเป็นอัตลักษณ์เมืองไทยในสายตาชาวโลก

สิ่งที่น่าเศร้าใจมากไปกว่าเรื่องการจราจรที่ติดขัดคือ การที่รัฐบาลละเลยไม่เอาใจใส่ดูแลแก้ไขปัญหาการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจังและจริงใจ ปล่อยให้ความไม่ปลอดภัยทางถนนและความเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนนเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่ต้องระแวดระวังตนเอง หากประมาทก็สมควรแล้วที่จะต้องตายกลางถนน ซึ่งนับได้ว่าเป็นวิธีคิดที่ล้าหลังเป็นอย่างมาก

เมื่อเรื่องสำคัญตกอยู่ในอำนาจของคนตัวเล็กๆ ในสังคม การแก้ปัญหาก็ใช้เพียงการรณรงค์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนแต่ละคนพึงสำนึกอยู่เสมอว่าอย่าประมาท จงมีวินัย จงมีสติมิเช่นนั้นแล้วท่านอาจจะเป็นคนที่ทำให้คนอื่นตายกลางถนน หรือท่านอาจกลายเป็นศพที่นอนอยู่บนถนนเองอย่างน่าอเนจอนาถ...ทั้งๆ ที่วงการวิชาการทั่วโลกต่างแสดงข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าการรณรงค์มีผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมน้อยมาก !!

รัฐซึ่งมีอำนาจและพึงรับผิดชอบในการพัฒนาระบบและโครงสร้างต่างๆ ที่จะทำให้วิถีการใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยกลับลอยตัว ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่พึงกระทำ อย่าลืมว่าถนนที่ดีไม่ใช่ประเมินเพียงรถวิ่งได้ไม่เป็นหลุมบ่อเพียงเท่านั้น หากแต่ต้องปลอดภัย! รถยนต์ที่วิ่งสัญจรอยู่ไม่ใช่แค่เพียงให้วิ่งได้แต่ต้องปลอดภัย!

เมื่อปัญหาเริ่มชัดแจ้งส่อให้เห็นความไร้ประสิทธิภาพของนโยบายรัฐ ตำรวจกลับกลายเป็นองค์กรที่ยื่นมือเข้ามาช่วยโอบอุ้มรัฐ ดังเช่นนโยบายยกรถคืนพื้นที่ให้คนกรุงเทพฯ ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลพร้อมกับประกาศกร้าวจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและเข้มแข็งต่อผู้ใช้รถใช้ถนนที่ไร้วินัยฝ่าฝืนกฎหมายจราจร...เป็นการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมพฤติกรรมของบุคคล แต่รัฐก็ยังคงปล่อยให้ปัญหาเชิงระบบและโครงสร้างยังคงดำรงอยู่

อาจเป็นโชคดีของเหล่าบรรดาตำรวจนครบาลที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครจนทำให้มาตรการดังกล่าวไม่ถูกจับจ้องจากสังคมว่าสามารถปฏิบัติได้จริงหรือ? และจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนจริงหรือ? สมมุติว่ามาตรการดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลก็จะทำให้ตำรวจกลายเป็นแพะไปในทันที สังคมจะพากันสรุปว่า "เพราะตำรวจไม่บังคับใช้กฎหมายจราจรที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องและไม่มีประสิทธิภาพ" โดยไม่มีใครตั้งคำถามกับระบบต่างๆ ที่กระตุ้นเร้าส่งเสริมให้เกิดปัญหารถติดและอุบัติเหตุทางถนน ไม่มีใครตั้งคำถามกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเช่นนี้ก็อาจเป็นเพราะตำรวจเองส่วนหนึ่งที่แอ่นอกรับเป็นพระเอกในการช่วยแก้ปัญหาเชิงนโยบายและโครงสร้างของรัฐบาลที่เกินอำนาจที่แท้จริงของตำรวจใช่หรือไม่? ตำรวจลืมไปใช่หรือไม่ว่าองค์กรของตนมีข้อจำกัดในทรัพยากรที่จะใช้ในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ อันเนื่องมาจากความคุ้นชินกับวัฒนธรรมสั่งแห้ง คุ้นชินกับการต้องทำตามนโยบายให้สำเร็จแม้มีอุปสรรค !! ที่ฝืนกฎธรรมชาติ

จับโจรให้ได้ตามหมายจับค้างเก่า และป้องกันเหตุไม่เกินเป้าก็จะแย่อยู่แล้ว นี่ต้องไปนับข้าวสารนายตำรวจบ่นพึมพำในขณะที่ทำหน้าที่นับข้าวสารอย่างแข็งขันอยู่ในโรงสี !! เป็นอีกผลงานหนึ่งของตำรวจในการช่วยแก้ปัญหาให้รัฐ หากจำได้ ตำรวจมิใช่หรือที่แอ่นอกเข้าไปเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบเพื่อยืนยันความซื่อสัตย์ สุจริตของโครงการรับจำนำข้าวที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้...ภารกิจในครั้งนั้นผ่านมาได้ถึงแม้จะกระท่อนกระแท่นทุลักทุเลเนื่องจากตำรวจยังอ่อนประสบการณ์ในการนับข้าวอยู่ก็ตาม

ผ่านมาได้ไม่นานภารกิจของตำรวจที่แอ่นอกแก้ปัญหาให้แก่รัฐบาลชนิดที่หลังตำรวจแทบหักคือการควบคุมฝูงชนที่ต่อต้านรัฐบาลด้วยความเข้มแข็ง อดทน และอดกลั้น ถึงแม้ว่าจะถูกตั้งข้อสงสัยถึงเป้าหมายในการทำหน้าที่ว่าเป็นไปเพื่อประชาชนหรือเพื่อรับใช้รัฐบาล แต่ทุกคนทุกฝ่ายย่อมเห็นว่าตำรวจทำหน้าที่ในการรักษาความสงบและป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในสังคมได้ดีกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ในยามนี้ศึกใหญ่กำลังประดังถาโถมเข้ามาอีกระลอกเมื่อชาวนาจนๆ กำลังทวงเงินของตนเอง เงินที่ควรจะได้อันเกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานและหนี้จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวันตามเวลาที่ผ่านไปเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลจำเป็นต้องหาทางออก งานนี้ยังนึกไม่ออกว่าตำรวจจะแอ่นอกช่วยรัฐบาลได้ในมุมไหน หากชาวนาเกิดยกระดับการประท้วงจนรุนแรงขึ้น...ตำรวจจะกล้ายิงแก๊สน้ำตาใส่ชาวนาหรือไม่ ?

อย่าลืมว่าคำว่า "บำบัดทุกข์ บำรุงสุขเป็นคำที่ฝังอยู่ในมโนสำนึก ในตัวในตนของตำรวจไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะตำรวจระดับไพร่พล อย่าลืมว่าตำรวจรู้และสำนึกอยู่แก่ใจว่าชาวนาทุกข์ยากขนาดไหน การรอรับเงินคืนที่ล่าช้าอย่างมากและยอมที่จะแบกภาระดอกเบี้ยไว้นานจนทนไม่ได้ขนาดนี้คือทุกข์ใหญ่หลวงของคนจนที่มีอาชีพปลูกข้าวเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนไทย และไม่แตกต่างจากทุกข์ของตำรวจชั้นผู้น้อยที่ล้วนมีหนี้สินจำนวนมากเช่นกัน ด้วยความรู้และความเข้าใจเช่นนี้ ย่อมเป็นความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่จะกระทำการใดๆ ต่อฝูงชนชาวนา ดังนั้นหากรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจกลุ่มใดในสังคมตระหนักในความผาสุกที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยนี้จงเร่งดำเนินการแก้ไขทุกข์ให้แก่ชาวนาด้วยเถิด อย่าโยนปัญหานี้มาให้ตำรวจอีกเลย

ตำรวจไทยไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาให้ชาวนาหรอก...เชื่อเถอะ !!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น