วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ศรัทธาที่หายไปในโลกตำรวจ : โลกตำรวจ โดยผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๗)

จริงหรือ? จะทำได้จริงหรือ? คือคำถามที่ประชาชนอยากรู้มากกว่าที่จะต่อต้านปฏิบัติการ ๕ จริง ๕ จอม และ ๑ แชท ที่กำลังกลายเป็นที่สนใจในสังคมไทยจนอาจกล่าวได้ว่ากลยุทธ์การทำงานด้านการจราจรของตำรวจไทยในยุคนี้สามารถแย่งชิงพื้นที่สื่อและพื้นที่การสื่อสารทางสังคมได้ไม่น้อยกว่าคดีอาชญากรรมหรือยาเสพติดที่มักครอบครองพื้นที่ข่าวอย่างต่อเนื่องตลอดมา

การพลิกโฉมของงานจราจรในโลกของตำรวจ จากเดิมที่อาจเรียกได้ว่าเป็นงานที่เข้าข่ายบริบทของความเป็นชายขอบของสังคมตำรวจ (Marginal Man) ให้กลับกลายเป็นงานที่มีความสำคัญในระดับที่ปรึกษา (สบ ๑๐) (เทียบเท่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) มาทำหน้าที่ร่วมคิด วิเคราะห์ วางแผน และกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด และส่งผลกระทบที่เป็นไปตามวิถีวัฒนธรรมตำรวจนั่นคือ เคลื่อนทั้งระบบ

ความกระตือรือร้นส่งต่อถึงกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่รับผิดชอบงานจราจร (พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก) ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการภาคต่างๆ ผู้กำกับการสถานีตำรวจ และน้องเล็กที่สุดที่ทำหน้าที่หนักที่สุดคือ เหล่าบรรดาไพร่พลมดงานตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนท้องถนน รวมถึงตำรวจชั้นผู้น้อยที่ทำหน้าที่ปิดทองหลังพระอยู่เบื้องหลัง โดยทำหน้าที่รวบรวมรายงานข้อมูลต่างๆ จำนวนมากภายในระยะเวลาที่จำกัด ที่เรียกว่าธุรการจราจรที่ประจำอยู่ตามสถานีตำรวจต่างๆ เหนื่อย หนัก แต่เป็นหน้าที่ครับ เราต้องสนองนโยบายนายวาทกรรมซ้ำๆ เดิมๆ มักเป็นคำตอบยอดฮิตของไพร่พลมดงาน

วัฒนธรรมการทำงานในโลกของตำรวจนั้น นอกเหนือจากการเคลื่อนทั้งระบบจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อหัวเคลื่อนเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นเอกภาพของการบังคับบัญชาที่แตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ แล้วนั้น ยังมีประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างเด่นชัดจากองค์กรอื่นๆ อย่างสิ้นเชิงคือ การลงมือปฏิบัติงานตามคำสั่งหรือนโยบายของผู้บังคับบัญชาให้บรรลุตามเป้าหมาย ถึงแม้ว่าจะมีความขาดแคลนงบประมาณและทรัพยากรในการดำเนินงานก็ตาม "จริงหรือที่ตำรวจจราจรไทยขาดแคลนทรัพยากรในการทำงาน?” เป็นเรื่องท้าทายให้ค้นหาความจริง

ความจริงที่จริงแท้ในโลกของตำรวจอีกประการหนึ่งก็คือ ตำรวจไม่กล้าแม้แต่จะถาม "นายเรื่องงบประมาณในการทำงาน "ดีครับนาย ได้ครับผมจึงเป็นคำพูดที่มักถูกนำมาล้อเล่นกันเสมอๆ ถึงแม้ว่าความจริงที่จริงๆ นั้นจะเป็นไปในลักษณะที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงก็ตาม

ทำไงได้ นายเขาถามนำมาว่า ดีใช่มั้ย แล้วจะให้ตอบว่ายังไงนายตำรวจพูดด้วยน้ำเสียงเย้าแหย่

เมื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากคนดีๆ หรือภาคีเครือข่ายจนเขาไม่มีจะให้ หรือจนตำรวจเองก็อายจนไม่กล้าที่จะขอ แต่ด้วยความจำเป็นที่จะต้องมีงบประมาณในการทำงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ตำรวจผู้ปฏิบัติจะต้องหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณ...วิธีการต่างๆ นั้นคืออะไร? ลองคิดต่อ...

วิถีวัฒนธรรมการทำงานที่บิดเบี้ยวและซับซ้อนย้อนแย้งเช่นนี้ทำให้ไพร่พลตำรวจมดงานทั้งหลายหมดขวัญและกำลังใจในการทำงาน สะสมความเครียดในการทำงานอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางจิตใจระหว่างสิ่งที่ควรทำกับสิ่งที่ต้องทำ กอปรกับความอึดอัดและกดดันในจิตใจอันเนื่องมาจากไม่สามารถระบายประสบการณ์การทำงานที่เกิดขึ้นให้ผู้อื่นได้รับรู้ อีกทั้งยังต้องเผชิญเรื่องราวอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า...นายคนเก่าไปคนใหม่มา แต่ทุกอย่างก็ยังไม่เหมือนเดิม ไม่มีอะไรแตกต่างไม่ว่าใครจะมาเป็นนาย หรือนายจะมาจากฝ่ายไหนก็ตาม

วัฒนธรรมการสั่งแห้งก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ตำรวจไพร่พลมดงานยังคงต้องหางบประมาณทำงานสนองนโยบายนายอยู่ร่ำไป

เธอคิดว่า โครงการ ๕ จอมนี้ มาถูกทางแล้วจริงหรือนายตำรวจใหญ่ย้อนถาม พร้อมแสดงความตั้งใจที่จะฟังคำตอบ

ยืนยันความคิดเห็นว่า มาตรการจาก ๕ จริง สู่ ๕ จอม และ ๑ แชทนั้น มาถูกทางในประเด็นที่ว่า พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษา (สบ๑๐) มีความเข้มแข็งอย่างมากในการทำงานนี้ มีวิธีคิดเบื้องหลังในการกำหนดมาตรการแต่ละขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง ตรงตามหลักวิชาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอกเหนือจากนั้นยังทำการกำกับติดตาม ประเมินผลและนำมาปรับปรุงพัฒนาเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง หากแต่มิใช่จะเห็นว่านโยบายนี้สามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน เพราะจุดอ่อนที่สำคัญของโครงการนี้คือ ตำรวจรับบทหนัก โดยขาดการเชื่อมประสานการขับเคลื่อนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตำรวจต้องไม่ลืมว่า พฤติกรรมการละเมิดกฎหมายจราจรของคนไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพถนนและวิศวกรรมจราจรที่ไม่เอื้อต่อการใช้รถใช้ถนนที่มีวินัยด้วย มีความเกี่ยวข้องกับระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้อด้วย มีความเกี่ยวข้องกับความด้อยประสิทธิภาพในการจัดการรับส่งนักเรียนด้วย และอื่นๆ อีกมากมาย ที่มิใช่เป็นภาระหน้าที่ของตำรวจแต่เพียงหน่วยเดียว ดังนั้นหากสภาพวิศวกรรมจราจรไทยยังไม่ได้รับการแก้ไขต่อให้จับจนตำรวจถูกด่าตายก็ไม่สามารถทำให้วินัยจราจรเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน...จริงหรือไม่?

ข้อสงสัยท้ายสุดที่ชวนหาคำตอบคือ ทำไมต้องใช้จ่าเฉยยืนเฝ้าถนนหลอกล่อให้คนตกใจนึกว่าตำรวจ ตำรวจจราจรมีมากพอที่จะไปยืนถ่ายภาพการทำผิดตามมาตรการดังกล่าวได้จริงหรือ? ตำรวจมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอต่อการป้องปรามการกระทำผิดจริงหรือ?

เมื่อตอบคำถามดังกล่าวแล้วก็จะพบว่า กฎแห่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สำคัญคือ กฎข้อบังคับที่ดีต้องสามารถนำมาใช้ได้จริงด้วยจึงจะบังเกิดผลดี!!

ยอมรับความจริงกันดีกว่าว่า...ตำรวจไม่ใช่เทวดา ถ้าอยากให้ประเทศไทยดีขึ้นทุกฝ่ายต้องช่วยกัน!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น