บิ๊กตำรวจต้านปฏิรูปตำรวจมักเป็นประเด็นที่ถูกนำมาใช้ เมื่อข้อเสนอของคนนอกวงการตำรวจถูกปฏิเสธไม่ผ่านการยอมรับจากคณะผู้บริหารตำรวจ ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกปฏิเสธทั้งหมด แต่ถ้ามองในภาพรวมแล้วสามารถสรุปได้ว่า "ใช้ไม่ได้"
"คนที่อยู่สูงบนยอดพีระมิดขององค์กรตำรวจไม่เห็นด้วยกับร่างข้อเสนอ เพราะหวงอำนาจ ห่วงแต่ตำแหน่งและการเติบโตเฉพาะลูกน้องในสายตัวเองเท่านั้น" นี่คือการตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของการต่อต้านไม่ยอมรับข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจจากคนนอกที่อาจมีการแต่งตั้งตำรวจไปร่วมบ้าง(แต่เป็นคนส่วนน้อย)
ไม่ว่าข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจจะถูกนำเสนอขึ้นในยุคใดสมัยใดก็ตาม
ข้อหาที่แรงที่สุดน่าจะเป็นข้อหาที่ว่า "รักแต่ตัวเอง ห่วงแต่เก้าอี้ของตัวเอง จนไม่คิดที่จะพัฒนาองค์กร" ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนนอกเท่านั้นที่หยิบยื่นข้อกล่าวหาเหล่านี้ แม้แต่คนในวงการตำรวจเองก็คิดเช่นนั้นไม่น้อย
ในขณะที่คณะผู้บริหารตำรวจกลับเชื่อมั่นว่า
"ความรู้ในธรรมชาติงานตำรวจและการบริหารงานตำรวจเป็นเรื่องที่น้อยคนนักจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเมื่อไม่เข้าใจจึงทำให้ข้อเสนอการปฏิรูปส่งผลเสียมากกว่าผลดี"
การทำโพลล์หรือแบบสำรวจความรู้ ความคิดเห็นของตำรวจทั่วประเทศก็ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในการกำหนดระบบงานตำรวจ เพราะตำรวจในแต่ละระดับ แต่ละบุคคล ต่างมีประสบการณ์ในการทำงานและความรอบรู้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลายแตกต่างกัน
"ไม่เชื่อลองประเมินดูว่า หัวหน้าสถานีตำรวจแต่ละแห่งมีความรอบรู้ในงานแตกต่างกันหรือไม่ งานตำรวจไม่ใช่แค่อ่านหนังสือแล้วจะมีความรู้ มันเป็นเรื่องของประสบการณ์และการเข้าใจอย่างแจ่มชัดถึงประวัติศาสตร์ที่มาที่ไป จึงจะสามารถประมวลวิเคราะห์ได้ว่า ในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยปัจจุบันและอนาคตนั้น องค์กรตำรวจจำเป็นต้องปฏิรูปไปในทิศทางไหน" นายตำรวจใหญ่พูดท้าทาย
ขนาดตำรวจด้วยกันยังมีความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ตำรวจในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยน้อยมาก ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงคนในวงการอื่น รวมถึงวงการยุติธรรมด้วย
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น ตำรวจและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงฝ่ายปกครอง จำเป็นต้องมีความรู้ในงานร่วมกัน เพราะหน่วยงานเหล่านี้ล้วนมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข นี่คือความล้มเหลวของการสร้างความรู้ในสาขาวิชานี้ใช่หรือไม่ ?
"ผมว่าสังคมเราตอนนี้แปลกมาก วิกฤติเช่นนี้ แต่ละคนควรหันกลับมาประเมินตัวเอง ประเมินองค์กรตัวเอง แต่นี่ไม่ประเมินองค์กรตัวเอง แต่กลับจับจ้องคิดแต่จะประเมินและชี้นำวิพากษ์วิจารณ์องค์กรอื่น ทั้งๆ ที่มีความรู้เกี่ยวกับองค์กรนั้นๆ น้อยนิด" ร้อยตำรวจตรีเพิ่งสำเร็จการศึกษามาไม่นานตั้งข้อสังเกต
ก็แค่ต่างคนต่างฝ่ายหันกลับมาดูตัวเอง ทบทวนตัวเอง และพัฒนาตัวเองให้ถูกทิศถูกทาง
ยิ่งไปยุ่งวุ่นวายกับหน่วยงานอื่น องค์กรอื่น ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ อีกทั้งพกพาอคติไปด้วยอย่างเต็มเปี่ยมแล้วนั้น ผลสุดท้ายคนที่จำต้องรับผลจากการกระทำที่วุ่นวายนี้คงไม่พ้นประชาชนเช่นเดิม
ลองจินตนาการดูว่า เมื่อตำรวจมีความคิดว่า ทำไปก็เท่านั้น หรือ ห้ามทำ ประโยคที่ตามมาคือ ก็ทำเท่าที่ทำได้ เขาไว้ใจแค่ไหนก็ทำแค่นั้น เขาอยากให้ทำแค่ไหนก็ทำแค่นั้น หรือ ทำไปก็เท่านั้น
พฤติการณ์เช่นนี้สอดคล้องกับคำเรียกที่สังคมไทยอาจจะพอคุ้นเคย
"เกียร์ว่าง"
หากเป็นเช่นนี้ ขอชวนคิดต่อว่า ใครจะได้รับผลกระทบจากการกระทำเช่นนี้ มากที่สุด?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น