วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

การให้ความรู้ความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชน (๑๓ มกราคม ๒๕๕๔)

งานในหน้าที่ของผมซึ่งเป็น สวป.หรือคำเต็มว่า "สารวัตรป้องกันปราบปราม" นั้นมีหลายอย่างเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากจะปกครองบังคับบัญชาดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาตามระเบียบที่กำหนดแล้วที่ขาดเสียมิได้และถือว่าสำคัญมากๆ ก็คือการให้ความรู้ความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชน เท่าที่ผมทำมาก็มีหลายอย่างไม่ว่าเป็นการจัดรายการวิทยุชุมชน



การให้ความรู้แก่นักเรียนในโรงเรียนหรือพี่น้องประชาชนตามสถานที่ต่างๆ



รวมถึงการพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนโดยขณะเดียวกันก็ให้คำแนะนำเรื่องที่สำคัญๆ และจำเป็นแก่พี่น้องไปในตัวด้วย เช่น การป้องกันอาชญากรรมเบื้องต้น,การป้องกันอัคคีภัย,การระวังเล่เหลี่ยมหรือการ หลอกลวงของคนร้าย เป็นต้นแล้ว



อีกอย่างหนึ่งที่ได้ดำเนินการอยู่เป็นประจำก็คือการนำเอกสารที่เกี่ยวกับความรู้ต่างๆ ทั้งในส่วนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานอื่นๆ จัดทำไว้ให้รวมถึงการจัดทำกันเองของพวกเราออกเผยแพร่แจกจ่ายให้แก่พี่น้อง โดยผมมีความคิดอยู่ว่าการพบปะพูดคุยและแนะนำด้วยวาจานั้นอาจจะได้ผลในเพียงช่วงแรกๆ นานวันเข้าพี่น้องอาจจะหลงลืมก็ได้จึงได้เสริมในส่วนนี้ขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง อย่างเช่นการออกแจกจ่ายเอกสารแผ่นพับความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแก่พี่ น้องประชาชนตามที่ต่างๆ เพื่อให้พี่น้องมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษ พิษภัย และวิธีการป้องกันมิให้ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดตามนโยบายการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งผมเคยนำภาพและเรื่องราวในส่วนนี้เสนอในบล็อกนี้มาบ้างแล้ว



สำหรับเอกสารแผ่นพับที่แจกจ่ายแก่พี่น้องในด้านที่เกี่ยวกับยาเสพติดตั้นเป็นของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเรื่อง "๑๐ ข้อความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด" ที่จัดทำและส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเผยแพร่แก่พี่น้องประชาชน ซึ่งมีหัวข้อดังนี้
๑. ยาเสพติดคืออะไร
๒. การใช้ยาเสพติดมีอันตรายอย่างไร
๓. จะสังเกตอาการผู้ติดยาเสพติดได้อย่างไร
๔. จะสังเกตอาการคนเมายาบ้าได้อย่างไร
๕. ถ้าบุตรหลานหรือบุคคลในครอบครัวของท่านติดยาเสพติดควรทำอย่างไร
๖. หากผู้ปกครองปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานเสพยาเสพติดให้โทษ ผู้ปกครองมีความผิดหรือไม่
๗. ท่านหรือบุตรหลานของท่านไม่ยินยอมให้ตรวจปัสสาวะได้หรือไม่ และมีโทษหรือไม่ อย่างไร
๘. สถานประกอบการประเภทใดที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดและต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร
๙. หากพบการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ เจ้าของสถานประกอบการมีความรับผิดตามกฎหมายยาเสพติดหรือไม่ อย่างไร
๑๐. ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างไร



การแจกจ่ายเอกสารแผ่นพับครั้งนี้นอกจากจะพูดคุยกับพี่น้องถึงเรื่องราวต่างๆ ในเอกสารแล้วยังได้แนะนำและนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาเสพติดที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.พาน เช่น ประเภทของยาเสพติดที่มีการระบาดมาก,สาเหตุถึงการติดยาเสพติด,วิธีการป้องกัน,การดำเนินการของตำรวจ สภ.พานของเราเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้นให้พี่น้องรับทราบอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งก็ต้องขอขอบพระคุณกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดที่อนุเคราะห์เอกสารแผ่นพับอันมีค่ายิ่งนี้แก่เรามา ณ โอกาสนี้เป็นอย่างสูงด้วยครับ นอกจากนี้ผมยังได้เคยนำเอกสารความรู้ความเข้าใจด้านอื่นๆ แจกจ่ายให้กับพี่น้องด้วยซึ่งผมจะบอกจะเล่าให้ทราบในภายหลังนะครับว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง

ผมฝากพี่น้องว่าหากมีเวลาก็ช่วยอ่านๆ กันด้วยแม้วันละนิดก็ยังดี จะอ่านเองหรือให้ลูกหลานรวมถึงคนอื่นอ่านด้วยก็ได้เพราะอย่างน้อยก็น่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจและเกิดประโยชน์อยู่บ้างตามสมควร ยิ่งหากพี่น้องมีความรู้ความเข้าใจและรู้เท่าทันคนร้ายมากเพียงใดพี่น้องก็จะมีความปลอดภัย สังคมจะมีความสุขมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

การให้ความรู้ความเข้าใจแก่พี่น้องนี้ผมจะทำตลอดไปและทำอย่างเต็มความสามารถเท่าที่คนคนหนึ่งจะพึงทำได้

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

สวัสดีครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น