วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตำรวจพึ่ง(ไม่)ได้? : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข (๑๒ มีนาคม ๒๕๕๗)

ลูกฆ่าพ่อเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความสะเทือนขวัญแก่สังคมมากพออยู่แล้ว แต่การที่ลูกซึ่งอายุเพียง ๑๖ ปีใช้ปืนยิงพ่อแม่และตัวเองตายด้วยมีสาเหตุมาจากความน้อยเนื้อต่ำใจที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้น ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้คนในสังคมไทยและผู้มีอำนาจภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวในสังคมไทยก่อนที่จะรอเพียงการหวังพึ่งตำรวจแต่เพียงเท่านั้น

ข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ แสดงผลที่สอดคล้องกันว่าเยาวชนไทยมีความเครียดและมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มากขึ้นด้วย ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราป่วยรวม ๒ เท่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อีกทั้งสถานการณ์ยาเสพติดยังคงทวีความรุนแรงโดยกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นนักค้ารายใหม่และเป็นผู้เสพ สถานการณ์ที่ตอกย้ำถึงการที่เด็กและเยาวชนไทยจำเป็นต้องได้รับการดูแลให้มากยิ่งขึ้นโดยด่วนคือการพบว่านักค้ารายใหม่อายุเพียง ๑๒ ปี อีกทั้งเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาได้เข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้นในปี ๒๕๕๕ จำนวน ๓๐,๕๔๔ ราย เป็นกลุ่มมัธยมศึกษามากที่สุดร้อยละ ๘๑.๗

เมื่อปราการด่านแรกซึ่งหมายถึงสถาบันครอบครัวอ่อนแอล้มเหลวแล้วนั้น สถาบันการศึกษาที่เป็นปราการด่านที่สองจำเป็นต้องเป็นแรงยึดเหนี่ยวที่สำคัญในการหล่อหลอมพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยมิใช่หรือ? สถาบันการศึกษาที่มีบทบาทในการหล่อหลอมวิธีคิดและวิธีการใช้ชีวิตได้แสดงผลสำเร็จของการทำหน้าที่ในส่วนนี้หรือไม่? การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นวิถีการประเมินเพียงมิติเดียวที่มักถูกนำมาใช้ในการเสนอต่อสังคม (ดังที่มักติดรูปของนักเรียนที่สอบเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยได้ไว้ที่รั้วด้านหน้าสถาบันการศึกษาเฉกเช่นเดียวกับสถาบันกวดวิชาต่างๆ) ซึ่งก็ยังถูกตั้งคำถามว่าระบบการศึกษาไทยสอบผ่านหรือไม่? แต่มิติอื่นที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญไม่น้อยเลยคือวิธีคิดในการใช้ชีวิต และการตระหนักถึงการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม สร้างประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัวและสังคมนั้น ระบบการศึกษาไทยได้ทบทวนกลไกการทำงานที่เกี่ยวข้องกับบทบาทและความรับผิดชอบในมิตินี้หรือไม่? ปรากฏการณ์อาชญากรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยน่าจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนของประสิทธิภาพการทำงานของสถาบันทางสังคมทั้งสองส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี !!

แนวโน้มการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางบกของกลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นสูงขึ้น โดยเด็กอายุ ๑-๑๕ ปี เสียชีวิตกว่าปีละ ๖๕๐ ราย (เฉลี่ย ๒ ศพต่อวัน) เยาวชนวัย ๑๕-๒๔ ปี ปีละ ๓,๖๐๐ ราย (เฉลี่ย ๑๐ ศพต่อวัน) เราจะปล่อยให้ลูกหลานของเรามีคุณภาพชีวิตเช่นนี้หรือ?

การเสนอข่าวและข้อมูลการกระทำรุนแรงของเด็กและเยาวชนในสังคมรายวันจนเกือบจะกลายเป็นความคุ้นชินโดยที่ไม่มีการนำเสนอข้อมูลเชิงนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขและป้องกันปัญหาเด็กและเยาวชนที่ผู้ใหญ่ในสังคมนิยมชอบใช้คำว่า "เป็นอนาคตของชาติแต่กลับไร้พื้นที่ในการได้รับการพัฒนาผ่านการวางแผนและใส่ใจอย่างเต็มที่และจริงจังต่อเนื่องจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เด็กแว้นซิ่งรถหนีด่านชนตำรวจไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมไทย แต่เกิดขึ้นมานานแล้วนับครั้งไม่ถ้วน อีกทั้งไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะเมืองใหญ่ๆ แต่เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ในเขตเมืองที่มีความเจริญ เมื่อปรากฏการณ์การกระทำรุนแรงเช่นนี้สังคมก็จะให้ความสนใจ (เพียงชั่วครู่และจางหายไปอย่างรวดเร็ว (เช่นเคย)) เช่นเดียวกับการสร้างกระแสคำขวัญวันเด็กปีล่าสุดที่นายกรัฐมนตรีมอบให้แก่เด็กไทยว่า กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทยให้มั่นคง จะมีใครหรือหน่วยงานใดหรือไม่ที่สานต่อนโยบายเพื่อทำให้คำขวัญวันเด็กเป็นจริง หรือมีการประเมินหรือไม่ว่าคำขวัญวันเด็กที่ผลิตสร้างขึ้นโดยใช้วาทกรรมที่หรูหราของคนโตระดับชาตินั้นเป็นวาทกรรมที่สามารถนำไปสู่ความจริงได้หรือไม่? หรือก็เป็นเพียงแค่ความฝันความหวังลมๆ แล้งๆ ที่นำเสนอไปตามวาระประจำปีแต่เพียงเท่านั้น

การกระตุ้นเร้าให้ผู้มีอำนาจและหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงในการแก้ไขและป้องกันพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชนโดยการตระหนักและปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีการในการดูแลเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปให้มากยิ่งขึ้น

แทนที่จะมองข้ามและให้อภัยต่อหน่วยหลักซึ่งเป็นปราการต้นทางที่สำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีเบื้องต้นของเด็กและเยาวชนไทยเพื่อให้เป็นอนาคตที่ดีของชาติ ลองหันกลับมาสร้างกระแสแห่งการตื่นตัว ตื่นรู้และกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปสถาบันส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว และสถาบันการศึกษาของไทยจะดีกว่าการคิดแค่เพียงตื้นๆ โดยฝากความหวังไว้กับตำรวจไทยให้ปราบปรามเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดแต่เพียงเท่านั้นเพราะผลงานการปราบปรามการกระทำผิดในเด็กและเยาวชนที่ผ่านมานั้นย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าตำรวจไม่สามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กฎหมายด้านการป้องกันปราบปรามเยาวชนมีความยุ่งยาก ยากเสียจนไม่มีใครอยากจะทำตำรวจใหญ่เล่าถึงปัญหาอุปสรรคในการป้องกันและปราบปรามเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด รวมถึงปัญหาด้านการบูรณาการในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย "พ่อแม่ ผู้ปกครองหรือแม้กระทั่งครู นอกจากจะไม่ให้ความร่วมมือแล้ว เขาห่วงแต่หน้าตาชื่อเสียงของเขา ของหน่วยงานของเขาทำให้การให้ความร่วมมือต่ำมากนายตำรวจใหญ่ยืนยันว่าประสิทธิภาพในการระงับยับยั้งการกระทำที่ผิดกฎหมายในเด็กและเยาวชนที่ดำรงอยู่ในบริบททางสังคมวัฒนธรรมไทยนั้นเป็นไปได้ยากมากเนื่องมาจากปัญหาและอุปสรรคมีมากมาย

การเปิดใจและหันกลับมาสร้างความเข้มแข็งในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยในเชิงการป้องกันการใช้ความรุนแรงอย่างจริงจัง แทนที่จะปล่อยให้ลูกหลานของเราต้องกลายเป็นจำเลยของสังคม จำเลยของกฎหมายและติดกับดักการประทับตราบาปในสังคมจะดีหรือไม่?

หรือแท้ที่จริงแล้วการกระทำรุนแรงของเด็กและเยาวชนไทยก็คือภาพสะท้อนการไร้ประสิทธิภาพของผู้มีอำนาจหรือผู้ใหญ่ในสังคมไทยนั่นเอง!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น