วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ : โลกตำรวจ โดยผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (๗ สิงหาคม ๒๕๕๗)

สายตาของสังคมที่จับจ้องมองพฤติกรรมตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมในแง่ลบต่างๆ นั้น ทำให้ตำรวจเกิดความรู้สึกที่หลากหลาย

เริ่มต้นจากการที่ตำรวจตั้งแต่ระดับชั้นผู้น้อยจนถึงชั้นผู้ใหญ่หันกลับมาระมัดระวังปรับปรุงพฤติกรรมการทำงานของตนเองมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมตลอดเวลาในการรับการตรวจสอบในรูปแบบต่างๆ

การบ่นระบายความท้อแท้ น้อยเนื้อต่ำใจผ่านการพูดคุยระหว่างกัน การส่งบทกลอน บทกวี รูปภาพในโลกออนไลน์ที่มีลักษณะโต้แย้งความเห็นที่แตกต่าง การรับรู้ที่ผิดพลาดจากความเป็นจริงเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่หรือความไม่เข้าใจธรรมชาติของงานตำรวจของคนในสังคม (แต่ตำรวจก็ไม่สามารถหาวิธีการที่สามารถสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้มากขึ้น)

ในความเป็นจริงแล้วนั้น พฤติกรรมการทำงานที่นอกรีตทั้งหลายในโลกของตำรวจจะสามารถแก้ไขได้ดีหรือไม่นั้น ส่วนสำคัญจะมาจากการที่พวกเขาเหล่านั้นมี "นายที่ดี"

ไม่มีไพร่พลที่เลว มีแต่แม่ทัพนายกองเลววาทกรรมที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ใช้ในการสร้างสำนึกของผู้นำในแต่ละระดับขององค์กรตำรวจ ตั้งแต่ระดับ ตร. ระดับกองบัญชาการ (บช.) ระดับกองบังคับการ (บก.) หรือระดับสถานีตำรวจ (สน./สภ.)

และไม่ควรเว้นแม้แต่ระดับ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

การเลื่อนการพิจารณาแต่งตั้งผู้นำตำรวจออกไปในยุคการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในครั้งนี้ หากมองแง่ดีที่เต็มไปด้วยความหวังที่อยากจะเห็นตำรวจไทยเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง และด้วยความเชื่อมั่นว่า คสช.มีความมุ่งหวังที่จะคืนความสุขให้ประชาชนอย่างแท้จริง และมุ่งหวังที่จะปฏิรูปประเทศให้ขับเคลื่อนไปด้วยดีท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกเช่นในปัจจุบัน ที่มีอาชญากรรมที่รุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อันส่งผลให้ความมั่นคงของประเทศ ทั้งความมั่นคงภายใน (ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจ) และความมั่นคงภายนอก (ซึ่งเป็นหน้าที่ของทหาร) มีความเกี่ยวข้องกันมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมานั้น

ตำรวจที่ดีจึงมิใช่เพียงแค่การมีตำรวจจราจรที่ไม่รีดไถ ไม่รับส่วยสินบนจากผู้กระทำกฎหมายจราจร

การสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชน จึงมิใช่เพียงแค่การทำให้ตำรวจสามารถจับคนร้ายได้โดยเร็วเมื่อเกิดอาชญากรรม

แต่การที่ตำรวจสามารถทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่หวั่นกลัวภัยอาชญากรรมต่างหาก ที่ควรจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญ และท้าทายสำหรับผู้ที่จะมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในห้วงเวลาคืนความสุขให้แก่คนไทยเช่นในปัจจุบันนี้

หากการเลื่อนการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกไปจากวาระปกติเป็นผลด้วยเจตนาที่จะคัดเลือกและกลั่นกรองบุคคลที่คุณสมบัติที่เหมาะสมอย่างที่สุด มีภาวะผู้นำที่สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจทั้งองคาพยพได้อย่างแท้จริง สามารถสร้างศรัทธา สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ไพร่พลตำรวจกว่าสองแสนชีวิต โดยสำนึกในอุดมคติตำรวจ และพยายามปฏิบัติตามอุดมคตินั้น เพื่อก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ที่เป็นภาพสะท้อนความเป็นตำรวจมืออาชีพให้ได้อย่างแท้จริงนั้น

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติควรจะมีคุณลักษณะเช่นนี้หรือไม่?

อันดับแรก ควรให้ความสำคัญกับการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชนเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรก ซึ่งสำคัญมากเสียยิ่งกว่าการให้ความสำคัญกว่าองค์กรตำรวจเสียอีก (ตำรวจจะเหนื่อยจะลำบากอย่างไรประชาชนต้องปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน)  หมายความว่า ทุกเป้าหมายของนโยบาย ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีต้องพุ่งเป้าที่การปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้จงได้ ดังนั้น เมื่อพบว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแล้วนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะให้ความสำคัญในการดำเนินการป้องกัน แก้ไข ปรับปรุงโดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพและบรรลุประสิทธิผลเป็นอย่างดี

การที่จะกระทำเช่นนั้นได้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่นี้จึงจำเป็นต้องมีประวัติที่สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ฝีมือ และอุดมการณ์ในการทำงานที่ต่อเนื่อง ดังคำกล่าวที่คุ้นเคยกันว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวฉันใด ฝีมือและผลงานของผู้ที่จะมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็มิอาจเกิดขึ้นได้เพียงชั่วระยะเวลานับแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศที่ผ่านมาเพียง ๒ เดือนแต่เพียงเท่านั้น

ลำดับต่อมาคือ การมีศักยภาพสูงในการบริหารงานภายในองค์กรตำรวจ โดยสามารถสร้างขวัญและกำลังใจแก่ไพร่พลตำรวจกว่าสองแสนชีวิตให้มีความภาคภูมิใจในเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของความเป็นตำรวจที่พร้อมจะทำงานเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยสามารถทำให้กลไกการทำงานภายในหน่วยงานต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถขับเคลื่อนสอดประสานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ เป็นทีมทำงานที่สนับสนุนส่งเสริมเป้าหมายการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมพลังอำนาจการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพแก่สถานีตำรวจ ซึ่งถือเป็นด่านหน้า เป็นหน่วยงานสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สุดท้ายคือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเป็นต้องมีคุณลักษณะของผู้ที่สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำรวจได้อย่างสมาร์ทสมภาคภูมิ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในส่วนของกระบวนการยุติธรรม หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่จะสามารถทำให้ภารกิจในการรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนบรรลุเป้าหมายโดยสัมฤทธิผล

การเลื่อนเวลาออกไปเพียงแค่เดือนหรือสองเดือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่และอาจเป็นเรื่องที่สร้างความหนักใจแก่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ(ตัวจริง)นั้น น่าจะเป็นเรื่องการที่มีตัวเลือกน้อยเกินไป...ใช่หรือไม่?

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไปคือบทพิสูจน์ผลงานสำคัญของ คสช.ด้วยเช่นกัน  ดังนั้นโปรดเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง!!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น