คนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตำรวจ เมื่อไม่รู้ก็ตีความเป็นตามความคาดหวังและประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งหากเปิดใจให้กว้างและกลับมาคิดทบทวน เปรียบเทียบอาชีพตำรวจกับอาชีพอื่นๆ อาจจะทำให้เราเกิดความสงสัยว่า “ตำรวจเขามีความสามารถในการกระทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างที่เราคาดหวังไว้ทั้งหมดจริงหรือ?” เราคาดหวังให้ตำรวจทำสิ่งต่างๆ มากเกินไปหรือไม่? หรือเป็นเพราะมายาคติของวลีที่ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เลยทำให้หลายๆ คนเมื่อมีความทุกข์ เดือดร้อน ก็มักจะนึกถึงตำรวจก่อนกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ
ถึงแม้ว่าจะรู้อยู่เต็มอกว่า “ความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไทยสูงเกินจริง” แต่ตำรวจไทยก็ไม่เคยประชาสัมพันธ์ สื่อสารให้ประชาชนรับรู้เพื่อลดความคาดหวังต่อบทบาทของตำรวจให้ตรงตามหน้าที่ที่แท้จริงของตำรวจเลยสักครั้ง หากแต่พยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวัง ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ไม่สามารถทำให้สมหวังได้ (เพราะถูกหวังเยอะเหลือเกิน) หากเป็นความทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับการบริการทั่วไปที่สุภาพบุรุษทุกอาชีพทำได้แล้วนั้นก็ไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่นัก เช่น จับงู ไกล่เกลี่ยผัวเมียทะเลาะกัน แต่ในบางเรื่องนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจของตำรวจ เช่น “อุตส่าห์บอกเบาะแสให้มันจับ เสี่ยงก็เสี่ยงนะ มันก็แกล้งไปจับ เสร็จแล้วมันก็ปล่อยออกมา ยาบ้าถึงระบาดเต็มเมือง ถ้ามันไม่รู้ไม่เห็นใครจะกล้าทำ” ชาวบ้านเล่าความรู้สึกผิดหวังต่อการทำงานของ “มัน” ซึ่งหมายถึง “ตำรวจ”
ตัวอย่างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้ถูกเผยแผ่ส่งต่ออย่างรวดเร็ว ทั่วถึง กว้างขวาง และถูกตอกย้ำความน่าเชื่อถือครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยการที่บุคคลที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนรู้เป็นอย่างดีว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้รับการประกันตัวออกมาภายหลังจากถูกตำรวจจับตัวไปไม่นาน รวมถึงในบางสถานการณ์ที่พี่ตำรวจใจดีจับผู้เสพยาซึ่งเป็นเยาวชนได้และเรียกผู้ปกครองมารับทราบ “พูดคุยกัน พ่อแม่เขาก็ตกใจนึกไม่ถึง รับปากรับคำอย่างดีจะดูแลลูก ทั้งเด็กและผู้ปกครองเข้าใจกันพูดคุยตกลงกันต่อหน้าเราจะกลับไปทำตัวใหม่ ไม่เสพกัญชา ไม่เสพยาบ้าอีกแล้ว ทำได้แน่นอนเพราะเพิ่งจะหลงผิดไปทดลองเสพได้ไม่นานก็เลยปล่อยไปถือว่าให้โอกาสเด็กและให้โอกาสผู้ปกครองด้วย หากแต่คนอื่นๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนมิได้เข้าใจเหตุผลเบื้องหลังการให้โอกาสคืนคนดีสู่สังคมของตำรวจ ดั่งคำพูดที่ว่า “เห็นมั้ย ถ้าเป็นพวกมัน มันก็ปล่อย มันเลือกจับแต่คนที่ไม่ใช่พวกมัน”...ไม่มีคำชี้แจงจากตำรวจ...เพราะหากชี้แจงก็หมดเวลาพอดี ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ...ทนได้ก็ทนไปใช้คติ “อดทนต่อความเจ็บใจ!” (อีกแล้ว)
มายาคติที่ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจตำรวจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจึงสะสม
เพิ่มพูน เกาะกินความรู้สึกจนหลายๆ
คนแม้ไม่เคยได้สัมผัสเกี่ยวข้องกับตำรวจก็ยังเกิดความรู้สึกเกลียดตำรวจไปด้วยอย่างไม่มีเหตุผล
อย่างไรก็ตาม ด้วยธรรมชาติงานของตำรวจนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ตำรวจที่ดีไม่สามารถชี้แจงแสดงเหตุผลของการปฏิบัติงานบางอย่างแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนได้
เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ
ทำให้ภาวะการเข้าใจผิดไม่ได้รับการแก้ไขและสื่อสารบอกต่อๆ กันไปจนกลายเป็นกระแสความรู้สึกเชิงลบ
ด้วยเหตุนี้หากภารกิจใดที่มิใช่บทบาทและหน้าที่หลักของตำรวจจึงเป็นสิ่งสมควรแล้วที่ผู้นำตำรวจจะปฏิเสธภาระหน้าที่นั้น
นอกจากนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงและเข้าใจนโยบายที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มอบนโยบายไว้ด้วย
พร้อมทั้งสื่อสารให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องถึงกิจกรรมและภารกิจที่ตำรวจได้เดินตามทางนโยบายนั้น
ซึ่งเป็นการทำงานอย่างมืออาชีพ
มีทิศทางในการทำงานเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนอย่างชัดเจนและเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของสังคมไทย
การปล่อยให้ประชาชน องค์กรต่างๆ
รวมถึงหน่วยงานภาครัฐคาดหวังตำรวจเกินจริง จนตำรวจต้องเบียดขับตนเอง
กดดันผู้ใต้บังคับบัญชาจนทำให้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของงานหลักนั้นไม่ได้ถือว่าเป็นความชอบ
เพราะไม่เข้าข่ายว่าจะต้อง “ทน”
และอย่าลืมว่าองค์กรตำรวจมีทรัพยากรที่จำกัดอย่างมากในทุกด้าน
ดังนั้น ยุทธการสั่งแห้ง (สั่งงานโดยไม่มีงบประมาณ)
จึงไม่ได้ก่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
อย่าลืมว่าตำรวจไม่ใช่เทวดาที่จะทำทุกอย่างได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภารกิจนั้นเป็นของหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบตรงอยู่แล้ว
ก็ควรส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานนั้นแสดงบทบาทหน้าที่ให้เต็มที่
และรับผิดชอบผลงานของตนเอง...มิใช่ อะไรอะไรก็ตำรวจ!
ที่มา : http://goo.gl/IWNzn