วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

คืนนี้ที่ สภ.แม่จริม (๓๑ มกราคม ๒๕๕๗)

วันนี้วันศุกร์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗ วันสุดท้ายของเดือนแรกในปีศักราชนี้ซึ่งตามปกติหากไม่มีอะไรเป็นพิเศษช่วงนี้เวลานี้ผมก็จะอยู่ที่บ้านอำเภอเมืองพะเยาแล้ว แต่บังเอิญว่าช่วงนี้มีอะไรเป็นพิเศษจึงกลับบ้านไม่ได้ต้องอยู่เหย้าเฝ้าแม่(จริม) เพราะวันอาทิตย์ที่ ๒ กุมภาพันธ์นี้เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งตำรวจเราทุกคนมีหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายรวมถึงผมด้วยโดยพวกเราทุกคนมีหน้าที่นี้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เวลา ๐๙.๐๐ น.เป็นต้นไปจนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้น แต่จะได้กลับหรือไม่ได้กลับบ้านถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาและความเคยชินของพวกเราไปแล้วครับ แบบว่างานในหน้าที่ต้องมาก่อนหลังจากเสร็จงานในหน้าที่แล้วก็ว่ากันอีกทีเลยไม่มีปัญหาอะไร สบายๆ


ช่วงเย็นหลังจากเสร็จธุระส่วนตัว อาบน้ำอาบท่า ทานข้าวทานปลาเรียบร้อยแล้วผมเดินทางมาประจำที่โรงพักแม่จริมตามปกติ ดูนั่นดูนี่ ทำนั่นทำนี่ทั้้งๆ ที่ก็ไม่มีอะไรต้องทำมากมายนักหรือจะเรียกว่าไม่มีเลยก็ว่าได้ แต่อยู่เฉยๆ ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปแบบนั้นมันเปล่าประโยชน์ เหมือนเวลาไม่มีค่าเลยต้องทำเวลาให้มีค่าให้ได้ ที่ทำก็ง่ายๆ คือศึกษาหาความรู้ตามแหล่งต่างๆ ที่ส่วนใหญ่จะมาจากโลกไซเบอร์นี่แหละว่ามีข่าวคราวความเคลื่อนไหวอะไรบ้างที่อาจจะเกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ มีความรู้ใหม่ๆ ที่ไหนบ้างที่น่าสนใจอะไรทำนองนี้นี่แหละครับ ทำให้เวลาผ่านไปค่อนข้างรวดเร็วมากกว่าไม่ได้ทำอะไร รวมถึงได้ประโยชน์อะไรอีกเยอะเลยทีเดียวด้วย

ผมมาอยู่แม่จริมได้ปีเศษๆ แล้ว ดีใจครับที่พี่น้องที่นี่ไม่มีใครเกลียดหรือไม่ชอบตำรวจเลย อ้ะ รู้ได้ไง แหม รู้ซิ่ สุพจน์มัจฉาคนน่ารักซะอย่างทำไมจะไม่รู้ คืองี้ครับ...ที่โรงพักของเราน่ะมีตู้เอทีเอ็มตั้งอยู่ เวลาที่พี่น้องมากดตังค์ผมก็จะลองใจว่าเกลียดหรือไม่ชอบเราหรือเปล่าโดยบอกว่าถ้าไม่ชอบหรือเกลียดพวกเราก็ให้กดเงินในตู้ออกไปให้หมดเลยไม่ต้องเหลือไว้ให้ตำรวจกดซักบาทนะ ผล...ไม่มีใครทำตามที่ผมบอกซักคน นั่นแสดงว่าไม่มีใครเกลียดหรือไม่ชอบพวกเราเลยนั่นเอง เย้......

รักตำรวจ เกลียดตำรวจ มีปัญหาอย่าลืมเรียกใช้ตำรวจนะครับ

อาหารกลางวันตามสไตล์ตำรวจแม่จริม (๓๑ มกราคม ๒๕๕๗)

วันนี้ช่วงเที่ยงวันพวกเราตำรวจแม่จริมยุคประหยัด(ได้ประหยัดดี) ได้ประหยัดค่าอาหารกลางวันกันอีกแล้วครับท่านเพราะพวกเราช่วยกันฮอม (Share) เบี้ยเลี้ยงที่ได้รับคนละมากมายตั้ง ๔๖,๘๐๐ สตางค์จ่ายเป็นค่าอาหารกลางวันมื้อนี้โดยไปหาซื้อวัตถุดิบจากตลาดแม่จริมแล้วพวกที่(พอจะ)มีฝีมือในการทำอาหารช่วยกันทำ ช่วยกันปรุงเสร็จแล้วก็ช่วยกันกินอย่างเอร็ดอร่อย อาหารที่ว่านี้พวกเราเรียกกันว่า "อาหารกรุงเทพ" เพราะเป็นอาหารพื้นเมืองของหมู่เฮาซึ่งเป็นคนกรุงเทพ (ณ เมืองเหนือ) ทั้งนั้น อร้อยอร่อย พี่น้องอยากทานกับพวกเราไหมล่ะ
<< ภาพทั้งหมด >>

ร่วมประชุม Video conference (๓๑ มกราคม ๒๕๕๗)

วันนี้ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น.เป็นต้นไปผมพร้อมกับ ร.ต.ต.พิชัย นวลอนงค์ รอง สว.(ป.)ฯ และ ด.ต.สมศักดิ์ สมทรง จนท.เวร ศปก.เข้าร่วมประชุมด้วยระบบทางไกลผ่านจอภาพหรือ Video conference กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานตำรวจทุกแห่งที่ห้อง ศปก.สภ.แม่จริม

การประชุมวันนี้นอกจากจะเป็นการประชุมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานตำรวจอื่นตามปกติเฉกเช่นทุกวันที่ผ่านมาแล้วยังเป็นการประชุมประจำเดือนของ ภ.จว.น่านอีกด้วยโดยหัวหน้าสถานีตำรวจทุกแห่งเข้าร่วมประชุมที่ห้องประชุม ภ.จว.น่านส่วนผู้เข้าร่วมประชุมของแต่ละสถานีประชุมที่สถานีตำรวจของตนเองผ่านระบบ Video conference โดยการประชุมวันนี้เสร็จสิ้นเมื่อเวลา ๑๒.๐๓ น.


สวัสดีวันสุข(ศุกร์) (๓๑ มกราคม ๒๕๕๗)


วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

อาหารเย็นเย็นนี้ที่แม่จริม (๓๐ มกราคม ๒๕๕๗)

เย็นนี้ทานอาหาร(กรุงเทพ) กับน้องๆ ตำรวจแม่จริมเขาที่โรงพักครับ ล้ำลำ ส่วนจะเป็นอะไรพี่น้องลองทายกันดู

ก่อนหน้านี้รู้สึกหิวขึ้นมายังไงไม่รู้ (ก็หิวนั่นแหละจะยังไงอีก ๕๕๕) ก็เลยไปนั่งทานก๋วยเตี๋ยวตามแบบฉบับหรือสไตล์แม่จริมเสียหน่อยค่อยยังชั่วทำให้มีแรงทานอาหารกรุงเทพได้อีกตั้งเลยทีเดียวนะ ขอบอก

ตู้แดง (๓๐ มกราคม ๒๕๕๗)

เชื่อว่าพี่น้องหลายๆ ท่านคงจะเคยเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจของพักต่างๆ ที่เวลาออกตรวจแล้วจะไปเซ็นชื่อและเวลาที่จุดตรวจซึ่งโรงพักกำหนดไว้โดยจุดตรวจนั้นๆ จะมีกล่องเล็กๆ กล่องหนึ่งสีแดงๆ และหยุดประจำจุดนั้นสักพักก่อนจะออกตรวจต่อไป คิดว่าหลายท่านอาจจะสงสัยว่ากล่องแดงๆ อย่างที่ว่านี้มันคืออะไร วันนี้ผมมีคำตอบมาเฉลยให้ฟังครับ โดยเรื่องราวนี้ผมเคยบันทึกไว้ในบล็อกของผมนี้นี่แหละและคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องที่ต้องการทราบอยู่บ้างจึงขอนำมาบันทึกไว้อีกครั้งหนึ่งดังรายละเอียดต่อไปนี้ (เรื่องราวที่จะนำมาเล่าให้ฟังนี้ผมเขียนไว้เมื่อครั้งสมัยดำรงตำแหน่ง สวป.สภ.พาน จ.เชียงราย)



พี่น้องอันเป็นที่รักทุกท่านครับ กรมตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกยุคทุกสมัยมีนโยบายที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งก็คือเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานสายตรวจทุกคนทุกผลัดจะต้องเข้มงวดกวดขันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อความอุ่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดหรือสถานที่มีผู้คนพลุกพล่านหรือเสี่ยงต่อการกระทำผิดของคนร้าย โดยหลักปฏิบัตินั้นสถานที่สำคัญๆ หรือมีคนพลุกพล่านสถานีตำรวจทุกแห่งจะกำหนดจุดสำคัญๆ ไว้ให้เจ้าหน้าที่สายตรวจตระเวนออกตรวจและลงชื่อพร้อมวันเวลาที่ตรวจในสมุดที่มีอยู่ ณ จุดนั้นๆ โดยติดตั้งกล่องสี่เหลี่ยมที่ภายในบรรจุสมุดตรวจไว้ซึ่งเราเรียกกันติดปากว่าตู้แดง



ตู้แดงนี้มีลักษณะคล้ายกับตู้จดหมายทั่วๆ ไปมักจะทาหรือพ่นด้วยสีแดงและติดตั้งไว้ตามสถานที่สำคัญๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สายตรวจออกตรวจและลงลายชื่อการตรวจตามห้วงระยะเวลาที่กำหนดซึ่งระเบียบตำรวจเรากำหนดไว้ว่าในแต่ละเขตตรวจจะต้องติดตั้งตู้แดงไว้ไม่น้อยกว่า ๑๒ จุด การตรวจของเจ้าหน้าที่แต่ละผลัดซึ่งมีเวลาปฏิบัติหน้าที่ ๘ ชั่วโมงจะต้องเซ็นหรือลงชื่อพร้อมเวลาในสมุดประจำตู้แดงทุกแห่งในเขตรับผิดชอบ ๔ ครั้้งทำให้ในแต่ละผลัดเจ้าหน้าที่จะต้องตระเวนหมุนเวียนตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ เรียกว่าเป็นการบังคับการตรวจไปในตัวทำให้พี่น้องประชาชนสามารถเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตลอดเวลาอันเป็นการป้องกันหรือตัดโอกาสของคนร้ายในการกระทำผิดไปได้มากเลยทีเดียว



ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจต่างๆ ได้ดำเนินการตามระเบียบนี้โดยจะติดตั้งตู้แดงไว้ในจุดหรือสถานที่ที่กำหนดไว้และจัดเจ้าหน้าที่สายตรวจเป็นผู้รับผิดชอบ โดยในแต่ละผลัดเจ้าหน้าที่จะต้องออกตรวจตราดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชนรวมถึงเซ็นชื่อและเวลาที่ตรวจตู้แดงในเขตรับผิดชอบของตนเองผลัดละ ๔ ครั้งหมุึนเวียนกันไปจนครบทุกจุดเช่นนี้ตลอดเรื่อยมา



แต่ละเขตตรวจจะติดตั้งตู้แดงไว้หลายๆ จุดตามสภาพของพื้นที่นั้นโดยจัดทำแผนผังและจุดที่ตั้งไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติการสายตรวจ และทุกๆ ๓ เดือนจะพิจารณาสับเปลี่ยนจุดติดตั้งตู้แดงใหม่อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเหมาะสมและดูแลพี่น้องประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของผู้บังคับบัญชาตั้งแต่รองสารวัตรขึ้นไปถึงผู้กำกับการก็จะต้องตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่สายตรวจของเราปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในระเบียบอย่างเคร่งครัดหรือถูกต้องหรือไม่อีกด้วย



หลักการพิจารณาติดตั้งตู้แดงนั้นตามคู่มือการปฏิบัติในการจัดและควบคุมสายตรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ.๒๕๔๓) กำหนดไว้ดังนี้
๑. สถานที่ติดตั้งตู้แดง ให้พิจารณาจากองค์ประกอบดังนี้
๑) ที่ที่มีคดีเกิดขึ้นสูง
๒) บ้านบุคคลสำคัญ
๓) ที่ชุมชน
๔) เส้นทางโจร
๕) ที่เปลี่ยว
๖) ย่านที่พักอาศัยที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น
๗) สถานที่ที่ล่อแหลม่อการเกิดเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น สถานีรถไฟ โรงไฟฟ้า สถาบันการเงิน,ธนาคาร,ร้านค้าทอง เป็นต้น



๒. การติดตั้งตู้แดง
๑) แต่ละเขตตรวจให้ติดตั้งตู้แดงตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่และความเหมาะสมของสถานที่ที่จำเป็นในการควบคุมอาชญากรรม ทั้งนี้ให้คำนึงถึงขีดความสามารถในการปฏิบัติและกำลังเจ้าหน้าที่ แต่อย่างน้อยต้องติดตั้ง ๑๒ ตู้ต่อหนึ่งเขตตรวจ
๒) การติดตั้งตู้แดงควรติดตั้งให้เรียบร้อยดูสวยงามและสะดวกในการตรวจ
๓) ตู้แดงต้องเขียนว่า "จุดตรวจที่…..เขตตรวจที่……..สน./สภ……หมายเลขโทรศัพท์………."
๔) ในรอบ ๓ เดือนควรพิจารณาเปลี่ยนจุดติดตั้งตู้แดงตามสถานภาพอาชญากรรมหรือตามความเหมาะสม



ครับ นี่ก็คือเรื่องราวของตู้แดงที่ผมนำมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้

ภารกิจวันนี้ / ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการประชาชนนาบัว (๓๐ มกราคม ๒๕๕๗)

วันนี้วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๗ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ.แม่จริมเรากลับมาปฏิบัติหน้าที่กันพร้อมหน้าพร้อมตาหลังจากไปร่วมปฏิบัติภารกิจที่กรุงเทพประมาณ ๑๐ กว่าวันทำให้รู้สึกคึกคักขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว จากที่เคยเหลือทำงานที่โรงพักอยู่แค่ ๑๐ กว่ามาเป็นเต็มอัตราศึก บางคนไม่ได้เจอหน้ากันนานพอเจอกันปั๊บ แหม โม้ใหญ่เลยโดยเฉพาะเรื่องราวที่ไปกรุงเทพมา เห็นแล้วได้เห็นแล้วก็อดชื่นใจไม่ได้ นี่แหละครับความผูกพันระหว่างพวกเราที่ทำงานร่วมกันมาตลอด เวลาเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เหลือไม่กี่คนคนที่เหลือก็ช่วยกันแบ่งเบาหรือช่วยงานในความรับผิดชอบอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทีนี่เมื่อเจ้าของงานกลับมาแล้วก็มารับช่วงต่อไปพร้อมเรื่องเล่า(เช้านี้) ให้คนที่ไม่ได้ไปได้สนุกสนานหรืออิจฉากันเล่นๆ

ภารกิจปกติของพวกเราวันนี้เริ่มเมื่อเวลา ๐๘.๐๐ น. ร.ต.ต.โกศล ปวงจันต๊ะ รอง สวป.ซึ่งปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจเวรหัวหน้าสายตรวจวันนี้นำเจ้าหน้าที่เคารพธงชาติ กล่าวคำปฏิญาณตน อุดมคติตำรวจและชี้แจงภารกิจให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนออกปฏิบัติหน้าที่หน้าที่ทำการสถานีซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นระเบียบปฏิบัติประจำของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกโรงพักครับ

เรื่องต่อไปก็คือในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้เป็นวันเลือกตั้้ง ส.ส.ทั่วราชอาณาจักรซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่จริมทุกคนต่างมีภารกิจปฏิบัติกันทั้งหมดตั้งแต่ ผกก.ลงมาไม่มีใครว่าง โดยส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้งในเขตพื่้นที่อำเภอแม่จริมที่มีทั้งสิ้น ๓๘ หน่วยซึ่งวันนี้อำเภอแม่จริมได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจของเราที่มีหน้าที่ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์นี้ทุกคนเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ด้วย
เวลา ๑๕.๐๐ น. พ.ต.ท.อรุณสวัสดิ์ ยอดกระโทก รอง ผกก.ป.สภ.แม่จริม , พ.ต.ท.นิติกร นันตา สวป.ฯ และ พ.ต.ท.ไพโรจน์ สิริปิยานนท์ สว.อก.ฯ ประชุมชี้แจ้งข้าราชการตำรวจในสังกัดที่ปฏิบัติหน้าที่ รปภ.ประจำหน่วยเลือกตั้งเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การวางตัวเป็นกลางทางการเมืองและแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ณ ห้องประชุม สภ.แม่จริม
สำหรับภารกิจอื่นๆ ของผมในวันนี้นั้นเวลาประมาณ ๑๔.๓๐ น.ผมเดินทางไปตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยบริการประชาชนหรือตู้ยามนาบัว ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านนาบัว หมูที่ ๖ ตำบลหนองแดงพบ ร.ต.ต.กฤษณัฏฐ์ คำแปงตัน อยู่ปฏิบัติหน้าที่รายงานไม่มีเหตุ

จากการตรวจพบว่าสภาพทั่วไปทั้งภายในและโดยรอบหน่วยบริการฯ เจ้าหน้าที่ได้ปรับปรุงทำความสะอาดและปรับปรุงภูมิทัศน์ไว้เป็นอย่างดี ในส่วนของเอกสารที่เกี่ยวข้องประจำหน่วยเช่นสมุดตรวจเยี่ยมของผู้บังคับบัญชา สมุดรายงานประจำวัน ข้อมูลท้องถิ่ืนฯ อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเป็นปัจจุบันแต่ก็ขอได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่หมั่นตรวจสอบและติดตามข้อมูลต่างๆ ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอซึ่งก็คือข้อมูลท้องถิ่นหากมีการเปลี่ยนแปลงก็ให้นำมาปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันต่อไป

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน : ทฤษฎีสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ (๒๙ มกราคม ๒๕๕๗)

วันนี้ใช้เวลาว่างๆ อ่านตำรับตำราซึ่งมีค่ายิ่งสำหรับการทำงานผมเรื่องหนึ่งนั่นก็คือ "ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน : ทฤษฎีสำหรับศตวรรษที่ ๒๑" ซึ่งเขียนโดย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ซึ่งท่านได้กรุณานำออกเผยแพร่ทางโลกไซเบอร์ให้ผู้ใคร่รู้ได้รู้ได้ศึกษากัน โดยหนังสือเล่มนี้ผมอ่านมาแล้วหลายรอบแต่ก็ยังอ่านซ้ำอีกหลายรอบเช่นกันเพราะมีประโยชน์ มีคุณค่าและสามารถนำมาใช้งานได้เป็นอย่างดียิ่ง หลายๆ อย่างในการทำงานของผมผมก็อาศัยหนังสือเล่มนี้นี่แหละเป็นคู่มือหรือแนวทางตลอดเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ข้อความส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่น่าประทับใจยิ่งอาทิ "ประชาชน คือหัวใจสำคัญในความสำเร็จของงานตำรวจ หากตำรวจห่างจากประชาชน การทำงานของตำรวจจะประสบปัญหามากมาย เทคโนโลยีและวิธีทำงานรูปแบบเดิมๆ กำลังทำให้ตำรวจออกห่างจากประชาชนมากขึ้นทุกที หากต้องการความสำเร็จแล้ว ตำรวจต้องกลับหลังหันมาหาประชาชน" นี่แหละผมเห็นด้วย ๑๐๐% เพราะหากตำรวจเราขาดไร้ซึ่งความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนอันถือว่าเป็นหัวใจสำคัญแล้วงานที่ทำไม่อาจประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน




ประวัติความเป็นมา

แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในวงการตำรวจนั้นมีหลากหลาย ซึ่งแต่ละทฤษฎีก็มีเทคนิคและวิธีการทำงานแตกต่างกันไป มีทั้งจุดแข็งและข้อจำกัด ตำรวจไทยได้พยายามพัฒนาเทคนิควิธีการดำเนินการเพื่อให้การปฏิบัติงานของตำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ตลอดมา เช่น โครงการชุมชนสัมพันธ์ ซึ่งประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากวงการตำรวจในต่างประเทศได้คิดค้นหลักการใหม่ คือ ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing) โดยมีการทดลองใช้แล้วประสบความสำเร็จมากกว่าหลักการทำงานแบบเดิม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งนักบริหารและผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถนำไปใช้และก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในงาน


ตำรวจไทยเริ่มรู้จักและนำทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์มาใช้เป็นหนึ่งในแผนหลักของการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมมากว่ายี่สิบปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๑) แต่ปัจจุบันยังมีผู้ปฏิบัติงานตำรวจบางส่วนเข้าใจคลาดเคลื่อน สับสนกับทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนที่เผยแพร่ในวงการตำรวจไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็เคยประสบปัญหาเช่นเดียวกันเมื่อครั้งเริ่มต้นใช้ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน หน่วยงาน FBI จึงจัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับงานตำรวจผู้รับใช้ตำรวจชุมชนซึ่งอาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับตำรวจไทย คู่มือเล่มนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ตำรวจไทยเกี่ยวกับทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ทั้งในทางทฤษฎี ในเรื่องที่มา ความหมาย และหลักการที่สำคัญ และให้ความเข้าใจในทางปฏิบัติสำหรับการนำไปประยุกต์ใช้จริง นอกจากนี้ช่วงท้ายของคู่มือยังได้กล่าวถึงทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนในประเทศไทยที่ผ่านมา รวมทั้งกรณีศึกษาที่สำคัญ อันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้บริหารตำรวจตัวผู้ปฏิบัติและต่อชุมชน

รายละเอียดทั้งหมดของหนังสือหรือคู่มือที่สำคัญเล่มนี้กรุณาคลิกที่นี่นะครับ