วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559

เพียงแค่ความฝันลวงๆ ในโลกตำรวจ (๒๑ เมษายน ๒๕๕๙)

เพียงแค่ความฝันลวงๆในโลกตำรวจ : โลกตำรวจ ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ความผาสุกของประชาชนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการบริหารจัดการของหัวหน้าสถานีตำรวจ หรือที่เรียกกันว่า “ผู้กำกับ”
พื้นที่ที่เหล่าบรรดาผู้กำกับการสถานีตำรวจอยากอยู่มักเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าพื้นที่ทำเลทองเหล่านั้นจะมีสถิติคดีอาชญากรรมที่สูงจนน่าหวาดกลัวว่า “จะรับมือไหวหรือไม่”? แต่ก็ไม่เคยเลยสักครั้งที่โรงพักเกรดเอในพื้นที่ทำเลทองจะปราศจาก การแข่งขันแย่งชิงที่ดุเดือด
ทั้งวิ่งทั้งเต้นจนลนลาน เสาะแสวงหาผู้มีอำนาจทุกรูปแบบ ทุกสายสัมพันธ์เพื่อเชื่อมต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจสุดท้ายให้ได้ อาการประหนึ่งผู้ป่วยโรคประสาทที่หวาดวิตกว่าจะมีใครมาเตะออกจากเก้าอี้ที่จับจอง ลุ้นจนทุกการหายใจเข้าและหายใจออกล้วนเป็นการพูดจาสอบถามเพื่อสืบความจากทุกแหล่งคล้ายอาการย้ำคิดย้ำทำ
“ต้องเช็กข่าวทุกระยะ ไม่งั้นโอกาสโดนเสียบสูง” ผู้กำกับยืนยันว่าการสืบเสาะหาข่าวตลอดเวลาในทุกช่องทางเป็นสิ่งจำเป็นจนกว่าคำสั่งที่เป็นทางการจะประกาศออกมา ตัวอย่างเพียงบางส่วนของอาการในลักษณะดังกล่าวของเหล่าบรรดาหัวหน้าสถานีตำรวจที่อยู่ในห้วงเวลาของการ “รอคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย” นั้น คงพอจะแสดงให้เห็นว่าภารกิจในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยการบังคับใช้กฎหมายตามบทบาทของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ดีนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในบรรยากาศของการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่มีความชัดเจน คลุมเครือ และชวนให้เกิดการตั้งข้อสงสัยมากมายว่า ทำไมไม่เป็นที่สิ้นสุดเสียที ? ทำไมบริบทการแต่งตั้งโยกย้ายในยุคนี้จึงไม่ได้ดีไปกว่ายุคการเมืองน้ำเน่าที่ผ่านมาหรือว่า มีบางสิ่งบางอย่างไม่ลงตัว ?
สถานการณ์ของการไม่สามารถสร้างระบบการบริหารงานบุคคลในเรื่องความก้าวหน้าและความมั่นคงในการทำงานในโลกของตำรวจเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำและเป็นสิ่งที่ยืนยันมาอย่างยาวนานว่า สถานการณ์เช่นนี้คือรูปธรรมของการทำลายระบบคุณธรรมในการบริหารงานตำรวจ (ระบบคุณธรรมในการทำงาน หมายถึง ผลงานและความก้าวหน้ามั่นคงในการทำงานเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน)
ระบบการบริหารงานเช่นนี้มิใช่หรือที่ทำให้ตำรวจขาดความเป็นเอกภาพของการเป็นพวกเดียวกัน หากแต่เอาตัวเองไปสังกัดอยู่ภายใต้การดูแลของพรรคการเมืองต่างๆ แบ่งพวกเลือกข้าง จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายบิดเบือนเอื้อผลประโยชน์ให้แก่พรรคพวกของตน ละเลยการเป็นต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรมที่ดี
การแบ่งพวกเลือกข้างยังส่งผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติผลิตสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งผลเสียต่อสมรรถนะองค์การ กล่าวคือ
เมื่อพวกหนึ่งเรื่องอำนาจจะดึงพวกของตนขึ้นดำรงตำแหน่งที่สำคัญโดยมิได้คำนึงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมเป็นประการสำคัญ และถึงแม้ว่าจะรู้อยู่เต็มอกว่ามีผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกว่า (แต่ไม่ใช่พวกตน รวมถึงเป็นพวกของคู่ตรงข้าม) ก็จะไม่มอบหมาย อำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบให้ (ไม่ใช่เพียงแค่ไม่ให้ตำแหน่งเท่านั้น แต่งานก็ไม่มอบหมายให้ เพราะไม่ไว้วางใจ เพราะหวาดระแวงว่าจะดีเด่นเกินหน้าเกินตา)
ผลสุดท้ายผู้ที่รับผลกระทบแห่งความเลวร้ายของการบริหารงานนี้ คือ ประชาชน
ยุคที่ประเทศไทยปกครองด้วยพรรคการเมืองที่ผ่านมานั้น บริบทการบริหารงานในโลกตำรวจเป็นเช่นนั้น แตกต่างจากยุคนี้หรือไม่ ?
มิใช่จะมีเพียงแต่พื้นที่ทำเลทองที่เหล่าบรรดานายตำรวจไม่ทำงานเพราะหมกหมุ่นอยู่กับคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีกเท่านั้น หากแต่สถานีตำรวจที่ไร้ซึ่งผลประโยชน์? นั้นก็ไม่ได้รับความเหลียวแลด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าเดิมก็ไม่ได้สนใจไยดีอยู่แล้วเพราะเสียขวัญและกำลังใจที่ถูกเตะมา แต่ในยามนี้อาจมีลุ้นที่จะได้หลุดออกไปอยู่ในพื้นที่ที่ชอบ ที่ชอบบ้าง ?
ภายใต้บริบทบริหารงานเช่นนี้ แม่ทัพนายกองและไพร่พลในโลกตำรวจจะสามารถทำให้ ฝันของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ว่า “เป็นหลักประกันความยุติธรรม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มีมาตรฐานสากล” เป็นจริงได้หรือ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น