“ผมเคารพนับถือท่านมาก ท่านเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นสุภาพบุรุษเดินดิน” พล.ต.ต.นพดล เผือกโสมณ กล่าวถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)และย้ำว่า “ผมยึดหลักนี้และเราต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เหมือนกับพี่โก๋ (พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์) ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ตำรวจภาค ๙ มาแล้ว นายที่ขยัน ตั้งใจทำงาน ทุ่มเท เสียสละเพื่อประชาชน พัฒนาและใกล้ชิดลูกน้อง ถึงแม้ว่าลูกน้องจะต้องทำงานหนักมากขึ้น เขาก็ยินดีทำให้นายแบบนี้ ยิ่งเขารู้ว่า นายหวังดี นายไม่เอาเปรียบ นายชวนทำงานช่วยชีวิตคน ผมเชื่อว่าตำรวจทุกคนพร้อมทำเต็มที่” รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๙ พูดเสียงดัง เข้มแข็งสมฉายาวีรบุรุษที่เหล่าบรรดาตำรวจยกย่องสรรเสริญ
ถึงแม้ว่างานจราจรจะสร้างภาพลักษณ์เชิงลบให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมากกว่างานหน่วยอื่น แต่ยังมีตำรวจจราจรกลุ่มหนึ่งที่ใช้ความพยายามอย่างสูงมากในการฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาต่างๆ มากว่า ๒ ปี เพื่อให้ตำรวจที่ปฏิบัติงานจราจรได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนบนถนนอย่างสมศักดิ์ศรี พร้อมพัฒนาศักยภาพให้มากขึ้น โดยจัดทำโครงการนำร่องในชื่อว่า “โครงการบังคับใช้กฎหมายตามข้อมูลระบบสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนเพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่างบูรณาการระยะที่ ๓” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
มิใช่ปรับเปลี่ยนเพียงแค่วิธีการทำงาน แต่เรียกได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิด
มิใช่เป็นการปรับเปลี่ยนที่พฤติกรรมระดับปัจเจกบุคคล (ตำรวจจราจรแต่ละคน) แต่ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและโครงสร้างการทำงานจราจรเลยทีเดียว กองบัญชาการตำรวจนครบาล, ภูธร ๑-๙ และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางจับมือกันสร้างมิติใหม่ของตำรวจจราจรให้ทำงานอย่างสง่างาม หากสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจได้เข้ามาศึกษาโครงการนี้อย่างเข้าใจถึงปรัชญาการทำงานอย่างจริงจัง พร้อมทั้งร่วมมือกันกับกองบัญชาการต่างๆ อย่างเข้มแข็งเพื่อเสริมจุดแข็ง ร่วมแรงร่วมใจแก้ไขและพัฒนาจุดอ่อนรวมถึงบูรณาการร่วมกับยุทธศาสตร์งานจราจรที่มีอยู่เดิม เชื่อได้ว่าผลประโยชน์จะตกอยู่กับตำรวจจราจรผู้ปฏิบัติงานรวมถึงประชาชน...อย่าลืมว่ากองหน้าจะทำงานได้ดี หากกองหลังทำหน้าที่สนับสนุนอย่างเข้มแข็งด้วย
การสนับสนุนงบประมาณกว่า ๑๐๐ ล้านบาทของ สสส. และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และความพยายามในการทำงานให้สำเร็จ ถึงแม้ว่างานจะมากขึ้น ต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี อีกทั้งยังมีการกำกับ ควบคุม มีกฎเกณฑ์ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถที่มากขึ้นของตำรวจจราจรตั้งแต่ระดับจ่าตำรวจจนกระทั่งถึงระดับกองบัญชาการนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าโครงการนี้ไม่ธรรมดา? และควรค่าแก่การถอดบทเรียนเพื่อพัฒนา
บางทีโครงการนี้อาจทำให้รัฐบาลพบทางออกว่า การทำให้ประชาชนและนานาชาติพึงพอใจการทำงานของรัฐบาลด้านอุบัติเหตุทางถนนที่มิควรมีแต่เฉพาะช่วงเทศกาลต้องทำอย่างไร ?
รัฐบาลควรจะสนับสนุนสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างไร ? เพื่อให้ตำรวจเป็นกลไกที่ทรงอานุภาพเชิงสร้างสรรค์ในการทำงานด้านจราจรให้แก่รัฐบาล บทเรียนจากโครงการนี้จะทำให้รู้ว่าตำรวจจราจรมีปัญหาอุปสรรคในการทำงานอย่างไร ? วัฒนธรรมที่บิดเบี้ยวในงานจราจรเกิดขึ้นมาจากบริบทเช่นใด? และหากต้องการให้พวกเขาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณธรรม รัฐบาลและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนอย่างไรบ้าง ?
เราจะปล่อยให้วัฒนธรรมการทำงานของตำรวจจราจรเป็นไปตามครรลองแบบเดิมๆ โดยแก้ปัญหาฉาบฉวย เช่น การทำโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงเฉพาะตัวบุคคลที่จับผิดได้คาหนังคาเขาเท่านั้นหรือ? ถึงเวลาที่จะต้องตั้งคำถามต่อยุทธศาสตร์การบริหารงานจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติด้านความปลอดภัยทางถนนว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนหรือยัง? ยุทธศาสตร์ที่ดีย่อมไม่สร้างวัฒนธรรมที่บิดเบี้ยวดังเช่นคำพูดที่ว่า
“ลูกน้องหยิบสิบ เจ้านายหยิบใหญ่ เหมือนเก็บเงินแม่ค้าในตลาด โอ๊ยกว่าจะได้ บ่นแล้วบ่นอีก แต่พอสร้างถนนที่ไม่ปลอดภัยไม่ได้มาตรฐานบอกเป็นคอมมิชชั่น ถูกต้อง ที่ไหนๆ เขาก็รับกันเป็นธรรมเนียม ผิดเหมือนกัน แต่ไม่มองกัน ความเสียหายต่างกันใหญ่โต” สิ่งสำคัญอย่าลืมว่า วัฒนธรรมเช่นนี้มิใช่มีแต่เฉพาะแต่ในโลกของตำรวจ!!!
อย่าปล่อยให้ความเลวตกอยู่แค่ระดับไพร่พลเท่านั้น จนกระทั่งไพร่พลพากันรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจดังถ้อยคำประชดประชันเสียดสีว่าไพร่พลเลว แม่ทัพนายกองรวย...แล้วใครเอาข้าวเอาก๋วยเตี๋ยวส่งนายทุกวัน ?!?
ที่มา : http://goo.gl/XluZY
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น