วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สวัสดีวันหยุด (๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖)

เวทนาตำรวจไทย! : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข


“รัฐบาลไทยไม่จริงใจต่อตำรวจและประชาชน” คำกล่าวนี้ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง และมิใช่เพียงเรื่องปัญหาการทิ้งงานในการก่อสร้างสถานีตำรวจที่ปรากฏพยานหลักฐานให้เห็นคาตาคาใจว่าตำรวจที่ปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ได้รับการใส่ใจดูแลจากผู้บริหารระดับต่างๆ จนกระทั่งถึงผู้นำรัฐบาลมากน้อยเพียงใด?
ถึงแม้ว่าตำรวจจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของภาพลักษณ์การทำงานต่างๆ มากมายเพียงใด แต่คนไทยทุกคนย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ตำรวจคือกลุ่มบุคคลที่ประชาชนคนไทยคาดหวังให้ดูแล ปกป้องคุ้มครองสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากกว่ากลุ่มบุคคลอื่นๆ
หากจะเปรียบเทียบความสำคัญระหว่างการให้บริการของบุคลากรภาครัฐและท้องถิ่น อาจกล่าวได้ว่า ตำรวจและบุคลากรทางการแพทย์ต่างมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ในขณะที่ทีมสาธารณสุขยังมีการแพทย์ทางเลือกช่วยผ่อนคลายภาระและลดความกดดันของความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการรับบริการลงได้บ้าง ในขณะที่ตำรวจไม่มี
ในขณะที่ระบบการบริหารจัดการในด้านต่างๆ นั้น ทีมงานสาธารณสุขทำงานอยู่ในองค์การที่มีระบบการบริหารจัดที่ดีกว่า เหมาะสมกว่า และได้รับการดูแลที่ดีกว่าทีมงานตำรวจหลายเท่าตัว (ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนหนึ่งออกมาเรียกร้องเรื่องความมั่นคงก้าวหน้าในการทำงานบ้างก็ตาม) ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ก็คือ สถานที่ทำงาน…โรงพักและโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย…อย่างน้อยทีมงานสาธารณสุขก็มีสถานที่ให้บริการประชาชนที่เหมาะสมซึ่งแตกต่างจากโรงพักที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไทยใช้เป็นสถานที่ในการให้บริการประชาชนที่ดูน่าหดหู่สังเวชใจ… “น่าเวทนาจริงๆ” ผู้กำกับกล่าวย้ำ
ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถานที่ทำงานของทีมงานท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด ระดับอำเภอ หรือแม้กระทั่งระดับตำบลยิ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า…มีความอลังการแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง..ตำรวจดูต่ำต้อยไปในพริบตา(โปรดอย่าแก้ตัวว่าค่าของคนอยู่ที่การทำงานมิใช่อาคารสถานที่เพราะทรัพยากรในการทำงานมีผลต่อผลสำเร็จของงานด้วย)
สถานที่ให้บริการบำบัดทุกข์ของประชาชนหรือโรงพักนั้นมีความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องได้รับการออกแบบที่อย่างเหมาะสม มิใช่เพียงเพื่อ…สร้างขวัญและกำลังใจแก่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น แต่เพื่อสร้างบรรยากาศและความรู้สึกดีให้แก่ประชาชนผู้มารับบริการด้วย เพราะในส่วนของตำรวจคงคุ้นชินกับการทำงานท่ามกลางความขาดแคลนของทรัพยากรในการทำงานเนื่องจากบริบทของความขาดแคลนทรัพยากรในการทำงานเช่นนี้สะสมมานับสิบๆ ปี
…มีหน่วยงานไหนบ้างที่ผู้ปฏิบัติงานต้องจัดหา โต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งเครื่องปรับอากาศด้วยตนเอง “พอโยกย้ายทีขนกันยังกับย้ายบ้าน ถ้าไม่ขนก็หมดตัวไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาซื้อใหม่” นายตำรวจกล่าวในขณะควบคุมช่างถอดรื้อเครื่องปรับอากาศออกจากห้องทำงาน?
ความเชื่อของคนทั่วไปที่บอกต่อสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นที่ว่า…สถานที่ที่ไม่น่าไปคือ โรงพยาบาล เรือนจำ และโรงพักนั้น…ถูกท้าทายผ่านการสร้างโรงพยาบาลให้ดูใกล้เคียงกับโรงแรม ในขณะที่โรงพักที่มีผู้กำกับมุ่งหวังเสนอตัวเข้าชิงรางวัล โรงพักเพื่อประชาชน เพื่อหวังผลได้รับความก้าวหน้าในการทำงานก็ถูกออกแบบคล้ายธนาคาร นอกเหนือจากการสร้างอาคารสถานที่ให้ดูดีแล้ว ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการให้บริการที่เต็มไปด้วย รอยยิ้ม การเอาใจใส่ และความกระตือรือร้นในการให้บริการด้วยความเต็มใจ…จนเกิดความสงสัยว่า โรงพักที่มุ่งหวังเป็นโรงพักเพื่อประชาชนเหล่านั้นมีระบบการบริหารจัดการอย่างไร? เสาะแสวงหาทรัพยากรและงบประมาณต่างๆ มาด้วยวิธีทางไหน? แต่อย่างไรก็ตามพบว่าเมื่อผู้กำกับได้รับรางวัลจากการสร้างโรงพักเพื่อประชาชนแล้วมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าสถานีตำรวจใหม่นั้น รูปแบบและบรรยากาศที่ดูดีเหล่านั้นก็หายไปพร้อมๆ กับการจบโครงการประกวดโรงพักไปด้วย…ไม่ยั่งยืน
โจทย์ในการสร้างโรงพักเพื่อประชาชนนี้มิใช่หน้าที่ของผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ตอบแต่เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นโจทย์ที่รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้นำรัฐบาลควรจะเป็นผู้ตอบ…นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องการสั่งงานมากมายแต่ไม่มีงบประมาณสนับสนุนจนทำให้เกิดวัฒนธรรมการหาเงินนอกระบบมาทำงาน ส่งผลต่อการสร้างภาพลักษณ์เชิงลบและเป็นช่องทางผลักให้ตำรวจขาวๆ กลายเป็นตำรวจสีเทา ตำรวจสีดำ
ถึงเวลาที่จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสจากเหตุการณ์โรงพักร้าง…เสนอปรับรื้อระบบการบริหารจัดการทั้งระบบมิใช่เพื่อตำรวจแต่ทำเพื่อประชาชนผู้ต้องการได้รับบริการดีๆ (แบบโรงพักเพื่อประชาชน)อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมทั่วประเทศ !…บทพิสูจน์ว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญต่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนจริงจังหรือไม่!!?
ที่มา : http://goo.gl/9wbKS

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น