กรณีศึกษา'น้องยิ้ม'
: ลานจอด-มุมอับ...ภัยเงียบในเงามืด
เส้นทางชีวิตที่กำลังทอแสงเรืองรองรอรับก้าวจังหวะของ น.ส.พรพรรณ
พรหมจารย์ หรือ น้องยิ้ม บัณฑิตป้ายแดงวัย ๒๓ ปี อดีตผู้สมัคร "Oishi
MC Search Gen" ปี ๒๕๕๕ และเป็นเลขานุการกรรมการผู้จัดการบริษัทสหยูเนี่ยน
ดับวูบลงด้วยน้ำมือ "มัจจุราชมืด" ผู้มีกิเลสความโลภบดบังดวงตาแห่งธรรม
อาศัยช่วงเธอพลั้งเผลอเพียงแค่เสี้ยวนาที ย่องเข้าไปในรถยนต์ฮอนด้า ซิตี้ ทะเบียน
ฆอ ๘๔๕๒ ซึ่งน้องยิ้มจอดไว้ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว
ทันทีที่สาวน้อยสตาร์ทเครื่องยนต์เพื่อขับรถกลับบ้านย่านสุขาภิบาล ๓ โดยไม่เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่า "ภัยเงียบ" กำลังคืบคลานเข้าประชิดตัว เมื่อค่ำวันที่ ๓ มิถุนายน ที่ผ่านมา คนร้ายซึ่งแฝงตัวอยู่เบาะหลังคนขับได้ใช้มีดปลายแหลมจ่อคอบังคับเอาทรัพย์สิน เธอพยายามขัดขืนตามสัญชาตญาณ กระทั่งคมมีดในอุ้งมือของ นายทัศไนย แสงศรี หนุ่มปากน้ำโพวัย ๒๖ ปี ฝังลึกลงไปในลำคอจนน้องยิ้มทนพิษบาดแผลไม่ไหวสิ้นใจคาเบาะนั่งคนขับ
แม้ว่าในเวลาต่อมาพลเมืองดีช่วยกันล็อกตัวนายทัศไนยส่งตำรวจได้ ขณะนำศพหญิงสาวไปทิ้งอำพรางคดีที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ทว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นฝันร้ายของคนเมือง โดยเฉพาะ "ผู้หญิง" ใครจะรู้ว่าต้องดำเนินชีวิตบนความเสี่ยง ทั้งๆ ที่สถานการณ์สัญจรไปมาส่วนใหญ่เป็นที่สาธารณะ หรือเป็นแหล่งที่มีผู้คนพลุกพล่าน
ข่าวฆาตกรรม "น้องยิ้ม" กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งแสดงความอาลัยต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้ จำนวนไม่น้อยประณามการกระทำของมือมีด นอกจากนี้ยังมีอีกไม่น้อยตั้งข้อสังเกต และโพสต์ข้อความเตือนภัยให้พ้นเงื้อมมือมิจฉาชีพ
บทเรียนจาก "น้องยิ้ม" กลายเป็นอุทาหรณ์เตือนภัยในสังคมโซเชียลมีเดีย พร้อมใจกันแชร์เทคนิควิธี รู้รักษาตัวรอด หรือ แคล้วคลาด "โจร...ลานจอดรถ" จากทีมงาน "Sanook! Auto" และแฟนเพจ "autospinn.fans" โดยผู้ใช้ชื่อ "ณัฐยศ ชูบรรจง" ระบุว่า ภัยร้ายบนลานจอดรถยังไม่เคยห่างหายไป แค่ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เป็นกระแสข่าวมากนัก แต่เราสามารถป้องกันได้ เพียงแค่รู้รักษาเอาตัวรอดจากภัยร้ายในเชิงป้องกัน!! ดังนี้
- มองทั่วๆ ลานจอดรถ : เมื่อคุณจะมาทำอะไรที่รถ ต้องสังเกต มองหา ระแวดระวังว่ามีใครที่ซุ่มหรือมีพฤติกรรมน่าสงสัยอยู่แถวนั้นหรือไม่ ถ้ามีควรเริ่มต้นด้วยการเลี่ยงไปทำอย่างอื่นก่อน แต่ถ้าคุณไม่แน่ใจให้เริ่มด้วยการบอก รปภ. ถ้ามีอยู่แถวนั้น หรือหาเพื่อนไปด้วยกัน
- อย่าทำกิจกรรมอื่น : คนเรามักมีกิจกรรมหลายอย่างที่ต้องทำไปพร้อมกัน บ้างคุยโทรศัพท์ บ้างเล่นเกม ต้องเลิกทำกิจกรรมต่างๆ ก่อนเดินไปยังรถ และต้องทำร่วมกับ ข้อ ๑. ซึ่งต่างประเทศมีสถิติรายงานว่า มีผู้ถูกจี้ปล้นทรัพย์ในลานจอดรถขณะใช้โทรศัพท์มือถือสูงมาก ดังนั้นระวังมือถือจะเป็นภัย จะทำให้โจรมีโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่จอดรถที่มืด เปลี่ยว หรือไร้คนและรถผ่านไปมา จงรีบไปยังรถของคุณ
- เตรียมตัวให้พร้อม : การขึ้นรถนั้น ประการที่สำคัญที่สุด คือ การปลดระบบล็อกที่ติดตั้งไว้เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ รถใหม่ๆ อาจจะมีรีโมท หรือระบบ Keyless entry ที่ทำให้ง่ายต่อการใช้งาน แต่สำหรับหลายคนที่ต้องใช้กุญแจ คุณควรรู้จักที่จะเตรียมพร้อมและเตรียมตัวในการเปิดรถทันที โดยมากแล้ว สาวๆ มักจะชอบไปควานหากุญแจในกระเป๋าถือใบโตๆ ที่ข้างรถ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณตกเป็นเป้าของโจรได้อย่างไม่รู้ตัว
- ขึ้นแล้วล็อก : การขึ้นรถแล้วควรจะล็อกประตูทันที โดยเฉพาะคนไทยชอบใช้รถยนต์ ๔ ประตู ซึ่งหลายคนมักจะคิดเหมาเอาว่า รถเหมือนบ้านขึ้นมาได้ก็น่าจะปลอดภัย แต่ที่จริงรถก็ยังเป็นจุดเสี่ยงได้ โดยเฉพาะรถที่ประตูเปิดล็อกพร้อมกันทั้ง ๔ บาน ทำให้จังหวะที่คุณขึ้นรถหรือเผลอ มารู้อีกทีโจรอาจจะมาอยู่หลังคุณแล้วก็เป็นไปได้ สมัยนี้รถบางรุ่นมีปุ่มปลดล็อกเฉพาะคนขับฝั่งเดียว และกดครั้งที่สองปลดล็อกทั้ง ๔ บาน ซึ่งคุณสามารถศึกษาได้ แล้วใช้มันให้เป็นประโยชน์
- ถอยท้ายเข้าซอง : ท่าจอดก็สำคัญ ถ้าคุณมีโอกาสเข้าซองจอดรถ ควรหันหน้าออกมาทางด้านนอก แทนที่จะหันหัวเข้าข้างใน เพราะถ้ามีอะไรคุณยังมีโอกาสที่จะมีคนพบเห็นเหตุการณ์มากกว่า และช่วยไล่โจรได้
- จอดรถในที่ปลอดภัย : ควรจะจอดในที่ที่ไม่ใช่มุมอับ ไม่มีแสงที่มืดหรือสลัว หรือมีเสาบดบัง ควรจอดรถในที่คนพลุกพล่าน หรือมีทางหนีทีไล่ที่ดี แม้การจอดรถจะเป็นเรื่องพื้นฐาน โดยเฉพาะการจอดรถตามลานจอดรถ หรือในห้างสรรพสินค้า อาจจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่การจอดรถยิ่งในพื้นที่เสี่ยง ทำให้ภัยร้ายอาจมาถึงตัวได้ จึงต้องสร้างความระแวดระวังให้แก่ตัวเองมากที่สุด
ส่วนความเคลื่อนไหวของแฟนเพจ "คม ชัด ลึก" ชาวเน็ตร่วมแชร์ประสบการณ์และแนะนำจุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
อย่างเช่น "จาตุรงค์ คารวพงศ์" เตือนให้ระวังที่ "เสือใหญ่ ทางเข้า-ออกหลายทาง"
พร้อมกันนี้มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางข้อการแก้ไข โดยมุ่งเป้าไปที่ห้างสรรพสินค้า ควรจะมีการเพิ่ม รปภ.ในจุดเสี่ยง ประเด็นนี้ "Maischen Donet" แนะว่า "แก้ปัญหาที่ตนเองดีที่สุด", "Pairote Muenlooktao" มองว่า "ตอนนี้ทุกห้างลดค่าใช้จ่ายด้วยการเลิกจ้าง รปภ. มีแต่กล้องวงจรปิดตรวจสอบรถเข้าออกเท่านั้น", "กฤติกา อนุแสน" โพสต์ว่า "อยากให้แต่ละห้างเพิ่ม รปภ. เพิ่มจุดรับแจ้ง เพิ่มไฟส่องสว่างค่ะ และผู้หญิงต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้นด้วยค่ะ"
เช่นเดียวกับ "Anutara Tantraporn" เสนอว่า "แสงสว่างครับ มีพอหรือไม่ มุมอับมีกล้องวงจรปิดหรือไม่ มีกล้องแล้วมีคนดูหรือไม่? สรุปคือมาตรการรักษาความปลอดภัยในที่สาธารณะ" ส่วน "NuNew Choocham" ยืนยันว่า "รปภ.บางห้างก็เยอะ แต่หายาก แทบจะไม่เจอเลยค่ะ ไม่รู้ไปไหน ชั้นเลดี้บางห้างก็น้อย บางมุมก็เปลี่ยว ต้องระวังตัวเองกันมากขึ้นอีกทางค่ะ ถ้าคิดว่ากลับดึกพยายามอย่าจอดเปลี่ยว อย่ามาคนเดียวถ้าไม่จำเป็น"
ในแง่ของข้อกฎหมาย "ชัช บางมด" เห็นว่า "อยากให้แก้กฎหมายเพื่อเอาผิดผู้กระทำผิดให้รุนแรงกว่าปัจจุบัน เช่น จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต แล้วมีการประชาสัมพันธ์ออกสื่อ เพื่อให้ผู้ที่จะก่อเหตุเกรงกลัว ไม่ใช่มัวแต่เอะอะก็สิทธิมนุษยชน ด้าน "Uma Zmos" บอกว่า "แก้ที่ตำรวจก่อนเลยเป็นอันดับแรก รักษากฎหมายเคร่งครัดมันก็ช่วยลดเหตุไปได้เยอะแล้ว"
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะป้องกันตัวได้ดีที่สุดคือตัวเราเอง นี่คือ ตรรกะของ "Praew Zero-Two" แนะว่า "อย่ามัวแต่ก้มเล่นโทรศัพท์มากนัก ต้องพยายามสังเกตรอบๆ ตัวบ้างว่ามีใครอยู่ใกล้หรือเดินตาม จะเปิดรถก็หันดูข้างหลังก่อนรีบขึ้นรีบล็อกรถอย่าประมาท ถ้าจอดรถในที่เปลี่ยวควรหาจังหวะเดินไปพร้อมคนอื่นเกาะกลุ่มเค้าไว้เป็นดีที่สุด ไม่อยากวิจารณ์เกี่ยวกับสถานที่อะไรมากนัก ทุกวันนี้เราต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุด แม้แต่ รปภ.บางคนก็ไว้ใจไม่ได้"
"กรณีของน้องยิ้มอ่านข่าวแล้วก็สลด ดวงน้องถึงคราวเคราะห์จริงๆ เพราะจังหวะและโอกาสเอื้ออำนวยหรือไม่ คนร้ายต้องมีอะไรมากกว่าที่จะจี้เพียงอย่างเดียว เสื้อผ้าก็สำคัญ หลายครั้งที่เดินห้างขนาดเราเป็นผู้หญิงยังอื้อหือกับขาสั้นรัดเป้าในบางคนที่เยอะๆ ไม่ควรใส่ขาสั้นสายเดี่ยวมันอันตรายกับตัวเอง (ในกรณีนี้ไม่ได้หมายถึงน้องยิ้ม แต่หมายถึงโดยทั่วไป) แค่ความสวยเตะตาอยู่แล้ว บางครั้งแค่อารมณ์ชั่ววูบ ทำให้คนเปลี่ยนได้เหมือนคำที่เค้าบอก รู้หน้าไม่รู้ใจ อย่าไว้ใจทางอย่าวางใจคน จะจนใจเอง ฝากไว้แค่นี้นะคะ ขอให้สาวๆ สวยๆ ทุกคนรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัยในสังคมปัจจุบันค่ะ"
นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนบางส่วน เพื่อเป็นกระจกส่องไปถึงผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการป้องกันภัย และเป็นเครื่องเตือนสติแก่ทุกคนประคองตัวให้รอดพ้น...จากภัยเงียบที่แฝงในคราบคนเมือง
ที่มา : http://goo.gl/vPtsB
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น