“รถติดอย่างนี้เชื่อสิต้องมีตำรวจ” เสียงของผู้ขับขี่ที่กล่าวถึงสาเหตุที่มาของการจราจรที่ติดขัดบ่งบอกทัศนะว่าไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจราจร
ถ้อยคำที่ตามมาเป็นไปในลักษณะที่ว่า “ที่ใดมีตำรวจจราจรที่นั่นรถติด”
ตัวอย่างของทัศนคติที่ประชาชนมีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจราจรนี้เป็นตัวอย่างของอคติที่เกิดขึ้นจากการด่วนสรุปตีความหมายปรากฏการณ์เฉพาะส่วนผิวเบื้องหน้าโดยไม่ได้ทำความเข้าใจเงื่อนไขซึ่งเป็นสาเหตุที่มาเบื้องหลังปรากฏการณ์ปัญหาทางสังคมนั้นๆ
อย่างชัดเจน...นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ตำรวจต้องมีวินัย “อดทนต่อความเจ็บใจ”
ถึงแม้ว่าจะถูกเข้าใจผิดพลาดอย่างไรก็ต้องทนให้ได้
การไร้ความสามารถในการวิเคราะห์เวลาในการบริหารจัดการสัญญาณไฟจราจรหรือการอำนวยการให้รถเคลื่อนผ่านในแต่ละจุดนั้นอาจเป็นปัญหาประการหนึ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องทำการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ความสามารถในด้านนี้แก่กำลังพลให้มีศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น
หากแต่เมื่อทำการวิเคราะห์บริบทเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการแล้วจะเห็นว่ามีความสำคัญและมีอิทธิพลที่ทำให้การจราจรติดขัดมากกว่าพฤติกรรมการไร้ความสามารถของตำรวจจราจรซึ่งเป็นเพียงผู้ปฏิบัติงานปลายทางแต่เพียงเท่านั้น
การมุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะพฤติกรรมการทำงานปลายทางจึงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาของผู้นำที่มีศักยภาพ
การที่รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับและเห็นดีด้วยจนทำให้ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีการขยายตัวและเติบโตในภาคอุตสาหกรรมนั้นทำให้วิถีชีวิตของคนในสังคมไทยต้องออกมาใช้ถนนสาธารณะในการเดินทางและมีแบบแผนการใช้เวลาแบบเดียวกันมากขึ้นนั้นคือเหตุที่มาประการสำคัญของการจราจรที่ติดขัด
แต่กลับถูกมองข้ามหรือมองอย่างให้อภัยมากกว่าที่จะตีตราเพ่งโทษ...เราหลงลืมหลักธรรมอิทัปปัจจยาที่ว่า
เพราะสิ่งนี้มี....สิ่งนี้จึงมี
นโยบายรถคันแรก เป็นนโยบายที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยพึงพอใจและใช้สิทธิ์ ดังนั้นถนนสาธารณะจึงมีจำนวนรถมากขึ้น
รวมถึงมีนักขับมือใหม่ที่ไร้วุฒิภาวะเพิ่มมากขึ้นด้วย...น่าอายเพียงใดที่รัฐบาลจะปล่อยให้คนตายกลางถนนมากจนติดอันดับโลกเช่นนี้โดยไม่หันมาพิจารณาประสิทธิภาพการทำงานในด้านนี้อย่างจริงจังยังไม่นับรวมการเสริมแรงเพื่อให้ประชาชนคนไทยยึดมั่นในค่านิยมการใช้รถส่วนตัว
ด้วยวิธีการเชิญชวนและจูงใจของกลุ่มธุรกิจจำหน่ายรถยนต์และกลุ่มธุรกิจสินเชื่อต่างๆ
ที่มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่กระตุ้นเร่งเร้าให้ประชาชนที่เบื่อหน่ายความไร้ประสิทธิภาพของการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะ
มีพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่เพิ่มมากขึ้นด้วย...เพราะสิ่งนี้มี...สิ่งนี้จึงมีอีกเช่นกัน!
“ผมก็เครียดนะ
มันก็ติดหมดทุกทาง ตำรวจก็ทำเต็มที่ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในตู้และกดไฟตามเวลา
คุณเห็นป่าวว่าเราต้องขึ้นไปยืนดูจากมุมสูง ใช้เครื่องมือสื่อสาร ทำทุกวิถีทาง
มันเต็มที่จริงๆ” คำอธิบายของตำรวจจราจรที่ยืนยันความเต็มที่ในภารกิจการอำนวยความสะดวกในการจราจรให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนกลายเป็นสิ่งที่
ฟังไม่ขึ้นและไม่มีคนฟัง? ตำรวจจราจรอาจจะมีภาพลักษณ์เป็นผู้ร้ายในสายตาของใครหลายคน
แต่ในสังคมไทยเราก็ยังเห็นภาพที่เด็กนักเรียนรักลุงตำรวจที่คอยโบกรถให้ข้ามถนนที่หน้าโรงเรียน
และหากให้ความเป็นธรรมกับตำรวจจราจรจะเห็นว่าตำรวจจราจรเป็นกลุ่มตำรวจที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
ดังนั้นตำรวจกลุ่มนี้จึงถูกตรวจสอบมากที่สุด
และหากผู้บริหารงานจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสโดยนำปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ
ที่ตำรวจจราจรมีจนทำให้การปฏิบัติงานในหน้าที่ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือมีพฤติกรรมบิดเบี้ยวจนไม่สามารถสร้างความเชื่อถือศรัทธาให้กับประชาชนได้นั้นมาปรับรื้อกระบวนทัศน์
วิธีคิด และวิธีการในการบริหารจัดการงานจราจรอย่างเป็นระบบ
ให้สมกับการเป็นนักบริหารงานตำรวจมืออาชีพ
อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจจราจรในสายตาของประชาชนดีขึ้น...อย่าปล่อยให้ตำรวจจราจรชั้นผู้น้อยซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาตกเป็นเหยื่อของระบบที่ล้มเหลวต่อไปอีกเลย!!
เปิดใจยอมรับความจริงว่างานนี้ตำรวจทำเพียงลำพังไม่ได้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล
ต้องได้รับการสนับสนุนและเสริมพลังอำนาจจากกระทรวงมหาดไทย
และกระทรวงคมนาคมด้วยจึงจะสามารถทำให้ตำรวจทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนได้...หากปล่อยให้ตำรวจทำงานอย่างโดดเดี่ยวผลงานก็จะปรากฏอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้การหันกลับมาทบทวนประสิทธิภาพการบริหารงานของผู้บริหารเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจผู้ปฏิบัติงานและความพึงพอใจของประชาชนในที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่ผู้บริหารตำรวจและรัฐบาลพึงกระทำ...นี่เพียงแค่ตัวอย่างงานจราจรเท่านั้น
อย่าลืมว่าตำรวจยังมีภารกิจอื่นอีกมากมายที่หนักหนาสาหัสไม่น้อยกว่างานจราจรเลย
ตำรวจเป็นฐานเสียงที่เข้มแข็งของรัฐบาล ดังนั้น
รัฐบาลต้องคิดให้หนักว่ารัฐบาลต้องการมีกำลังพลตำรวจอันเป็นที่รักของประชาชนเพื่อเสริมอำนาจและผลงานให้รัฐบาลหรือต้องการเพียงจำนวนกำลังพลตำรวจที่มีแต่อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายแต่ไม่ได้รับการเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน...
การตอบคำถามนี้จะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ารัฐบาลควรมีบทบาทอย่างไรในการร่วมสร้างตำรวจที่ประชาชนต้องการ
อย่าปล่อยให้ตำรวจซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นกลุ่มบุคคลที่มี
สุขภาพจิตที่ไม่ดี มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ
จนเผยแพร่ส่งต่อข้อความในลักษณะนี้ปลอบใจกันไปวันๆ
“ชีวิตตำรวจใครว่าดี?
ชีวิตวันต่อวันขึ้นอยู่กับดวง
ผิดพลาดกับประชาชนก็ถูกด่า
ผิดพลาดทางกฎหมายก็คุก
ผิดพลาดทางยุทธวิธีก็ตาย
ผิดพลาดกับนายก็ “ย้าย”!!!”
ชีวิตวันต่อวันขึ้นอยู่กับดวง
ผิดพลาดกับประชาชนก็ถูกด่า
ผิดพลาดทางกฎหมายก็คุก
ผิดพลาดทางยุทธวิธีก็ตาย
ผิดพลาดกับนายก็ “ย้าย”!!!”
การที่ประเทศไทยมีผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่สุขภาพจิตเสื่อมโทรมมันน่าหดหู่มากกว่าการมีตำรวจอ้วนวิ่งไล่จับโจร...รู้ไปถึงไหนอายไปถึงนั้น...หากรักประชาชนจริงรัฐบาลโปรดหันกลับมาช่วยเหลือตำรวจเพื่อทำให้ตำรวจทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยด่วน!!
(ขอความกรุณา...อย่าสั่งแห้ง)
ที่มา : http://goo.gl/UA3yj
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น