วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน : ทฤษฎีสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ (๒๙ มกราคม ๒๕๕๗)

วันนี้ใช้เวลาว่างๆ อ่านตำรับตำราซึ่งมีค่ายิ่งสำหรับการทำงานผมเรื่องหนึ่งนั่นก็คือ "ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน : ทฤษฎีสำหรับศตวรรษที่ ๒๑" ซึ่งเขียนโดย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ซึ่งท่านได้กรุณานำออกเผยแพร่ทางโลกไซเบอร์ให้ผู้ใคร่รู้ได้รู้ได้ศึกษากัน โดยหนังสือเล่มนี้ผมอ่านมาแล้วหลายรอบแต่ก็ยังอ่านซ้ำอีกหลายรอบเช่นกันเพราะมีประโยชน์ มีคุณค่าและสามารถนำมาใช้งานได้เป็นอย่างดียิ่ง หลายๆ อย่างในการทำงานของผมผมก็อาศัยหนังสือเล่มนี้นี่แหละเป็นคู่มือหรือแนวทางตลอดเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ข้อความส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่น่าประทับใจยิ่งอาทิ "ประชาชน คือหัวใจสำคัญในความสำเร็จของงานตำรวจ หากตำรวจห่างจากประชาชน การทำงานของตำรวจจะประสบปัญหามากมาย เทคโนโลยีและวิธีทำงานรูปแบบเดิมๆ กำลังทำให้ตำรวจออกห่างจากประชาชนมากขึ้นทุกที หากต้องการความสำเร็จแล้ว ตำรวจต้องกลับหลังหันมาหาประชาชน" นี่แหละผมเห็นด้วย ๑๐๐% เพราะหากตำรวจเราขาดไร้ซึ่งความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนอันถือว่าเป็นหัวใจสำคัญแล้วงานที่ทำไม่อาจประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน




ประวัติความเป็นมา

แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในวงการตำรวจนั้นมีหลากหลาย ซึ่งแต่ละทฤษฎีก็มีเทคนิคและวิธีการทำงานแตกต่างกันไป มีทั้งจุดแข็งและข้อจำกัด ตำรวจไทยได้พยายามพัฒนาเทคนิควิธีการดำเนินการเพื่อให้การปฏิบัติงานของตำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ตลอดมา เช่น โครงการชุมชนสัมพันธ์ ซึ่งประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากวงการตำรวจในต่างประเทศได้คิดค้นหลักการใหม่ คือ ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing) โดยมีการทดลองใช้แล้วประสบความสำเร็จมากกว่าหลักการทำงานแบบเดิม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งนักบริหารและผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถนำไปใช้และก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในงาน


ตำรวจไทยเริ่มรู้จักและนำทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์มาใช้เป็นหนึ่งในแผนหลักของการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมมากว่ายี่สิบปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๑) แต่ปัจจุบันยังมีผู้ปฏิบัติงานตำรวจบางส่วนเข้าใจคลาดเคลื่อน สับสนกับทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนที่เผยแพร่ในวงการตำรวจไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็เคยประสบปัญหาเช่นเดียวกันเมื่อครั้งเริ่มต้นใช้ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน หน่วยงาน FBI จึงจัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับงานตำรวจผู้รับใช้ตำรวจชุมชนซึ่งอาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับตำรวจไทย คู่มือเล่มนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ตำรวจไทยเกี่ยวกับทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ทั้งในทางทฤษฎี ในเรื่องที่มา ความหมาย และหลักการที่สำคัญ และให้ความเข้าใจในทางปฏิบัติสำหรับการนำไปประยุกต์ใช้จริง นอกจากนี้ช่วงท้ายของคู่มือยังได้กล่าวถึงทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนในประเทศไทยที่ผ่านมา รวมทั้งกรณีศึกษาที่สำคัญ อันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้บริหารตำรวจตัวผู้ปฏิบัติและต่อชุมชน

รายละเอียดทั้งหมดของหนังสือหรือคู่มือที่สำคัญเล่มนี้กรุณาคลิกที่นี่นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น